เมื่อได้มา ปักกิ่ง หากถามหาความยิ่งใหญ่ คุณอาจไม่ควรพลาดจัตุรัสเทียนอันเหมิน, พระราชวังต้องห้าม หรือกำแพงเมืองจีน แต่ถ้าถามหางานศิลปะ คุณก็ไม่ควรพลาด 798 Art Zone แห่งนี้เช่นกัน
798 Art Zone เป็นย่านศิลปะที่ถูกดัดแปลงจากย่านอุตสาหกรรมของจีนร่วมกับสหภาพโซเวียต เมื่อประมาณปี 1951 พื้นที่ทั้งหมดนี้เคยเป็นโรงงานผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีห้องหับมากมายหลายฝ่ายและพื้นที่อยู่อาศัยของผู้คนในโรงงาน โดยมีสถาปัตยกรรมที่ยึดแบบอย่างวิธีคิดการออกแบบอย่าง ‘Bauhaus’ ของเยอรมนี ที่เน้นความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา เผยให้เห็นวัสดุที่แท้จริง อิฐเป็นอิฐ เหล็กเป็นเหล็ก ปูนเป็นปูน และพื้นที่ที่เชื่อมโยงทะลุถึงกันอย่างเรียบง่ายด้วยเพดานแบนราบ กระจกบานใหญ่ และทางเดินที่กว้างขวาง
‘798’ มาจากชื่อที่ทหารจีนจะเรียกโค้ดของโรงงานทางการทหารให้ขึ้นต้นด้วย 7 และเริ่มเรียกพื้นที่นี้ว่า ‘Joint Factory 718’ โดย 798 เป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุด และเคยได้รับชื่อว่าเป็นโรงงานที่ดีที่สุดในจีน นอกจากตัวโรงงานแล้ว พื้นที่ยังถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่ส่วนกลางของผู้คนในโรงงาน มีที่สำหรับกิจกรรมทางกีฬา บาสเกตบอล วอลเลย์บอล มีการแสดงดนตรี แข่งรถ มีสโมสรวรรณกรรมที่เลือกเอาหนังสือจีนและหนังสือจากเยอรมนีเข้ามา โดยมีแขกวีไอพีมากมายหมุนเวียนเข้ามาเยี่ยมชมตั้งแต่ เติ้งเสี่ยวผิง, เจียงเจ๋อหมิน, หลิวเส้าฉี และคิมอิลซุง
จนเมื่อปี 1980 ถึงประมาณปี 1995 โรงงานขาดเงินสนับสนุนจากภาครัฐและการปฏิรูปของเติ้งเสี่ยวผิง เช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจจำนวนมากที่ค่อยๆ ปิดตัวลง โรงงานส่วนใหญ่เริ่มหยุดการผลิตและทยอยปลดคนงานออก ประจวบกับเป็นช่วงที่เหล่าศิลปินร่วมสมัยซึ่งกำลังมองหาที่ทางใหม่ในการนำเสนอและขายผลงานกำลังค่อยๆ ย้ายจากพื้นที่รอบพระราชวังฤดูร้อนพอดี ทำให้ 798 กลายเป็นพื้นที่ที่เหล่าศิลปินต่างสนใจ และเริ่มย้ายกันเข้ามาตั้งรกราก พร้อมๆ กับการบุกเบิกของสถาบันวิจิตรศิลป์กลางปักกิ่ง (CAFA) ที่กำลังมองหาพื้นที่สำหรับจัดเวิร์กช็อปและจัดแสดงงาน
โรเบิร์ต เบอร์เนลล์ ชาวอเมริกันที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อตั้งของ 798 ในปัจจุบัน ก็ได้ย้ายร้านหนังสือต่างประเทศและออฟฟิศของเขาในชื่อ Timezone 8 เข้ามาด้วยเช่นกัน ซึ่งนับเป็นชาวต่างชาติกลุ่มแรกที่มาเริ่มเปิดร้านในพื้นที่แห่งนี้ ทำให้พื้นที่นี้เป็นที่นิยมมากขึ้น เกิดการบอกกันปากต่อปากในกลุ่มศิลปินที่เข้ามาช่วยกันจัดการบริหารพื้นที่
ปัจจุบัน 798 กลายเป็นพื้นที่ใหญ่ในการสร้างสรรค์งานศิลปะ มีร้านค้าของเหล่าศิลปิน ร้านหนังสือ แกลเลอรี และพื้นที่แสดงงาน รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการและงานศิลปะระดับนานาชาติอีกมากมายหลายงาน ตั้งแต่ Beijing Tokyo Art Projects (BTAP), Beijing Queer Film Festival และ Beijing Design Week
ประติมากรรมต้อนรับหน้าทางเข้า
เมื่อนึกถึงศิลปะของจีน เราจะนึกถึงงาน Fine Arts หนักๆ ภาพจิตรกรรมที่ประณีตจริงจัง ประติมากรรมใหญ่ยักษ์ งานสลักหิน หรือลายเส้นพู่กันจีนหมึกดำที่เราพบเจอได้ตามแกลเลอรีมากมายในตัวเมืองเศรษฐกิจอย่างเซี่ยงไฮ้ แต่ที่ปักกิ่ง 798 Art Zone เราจะได้พบกับงานศิลปะที่หลากหลายและร่วมสมัย ซึ่งทำให้แปลกใจอยู่ไม่น้อย
ภาพวาดบนกำแพงขนาดใหญ่ จุดนัดพบของ 798 Art Zone
เมื่อเดินเข้ามาพื้นที่ด้านใน เราจะพบซอยต่างๆ ที่ต้องใช้เวลาเดินเลาะอย่างมาก เพราะมีร้านและสตูดิโอเล็กๆ ซ่อนอยู่มากมาย หากจะเก็บทุกร้าน ทุกแกลเลอรีอย่างจริงจัง ขอแนะนำว่าให้จัดเวลาเผื่อไว้ 2 วันจะดีกว่า
แต่ละตรอกซอกซอยจะมีร้านค้าและแกลเลอรีอยู่เต็มสองข้างทาง
สตูดิโองานปั้นคาแรกเตอร์ที่ร่วมสมัยและน่าสนใจ
แกลเลอรีที่รับพิมพ์ภาพผลงานเพื่อจัดแสดงที่โปรยเชิญชวนศิลปินไว้ตั้งแต่ทางเข้าว่า ‘Bring your art here!’
ภาพผลงานภายในแกลเลอรี
Selected Shop ที่รวมงานศิลปะชิ้นเล็กๆ จากภายในพื้นที่และสิ่งที่น่าสนใจจากต่างประเทศ
ด้านในร้านอบอุ่นน่ารักด้วยของที่อัดแน่นเต็มพื้นที่
ถ้าเดินเหนื่อย บางแกลเลอรีก็จะมีน้ำ กาแฟ ขนม หรือร้านอาหารแทรกตัวอยู่
ร้านไอศกรีมก็มี
ความน่าสนใจอีกอย่างของ 798 คือการ ‘ร่วมมือกัน’ ของเหล่าศิลปินในพื้นที่ที่นอกจากการใช้พื้นที่ร่วมกัน พวกเขายังสร้างความเชื่อมโยงของกลุ่ม ช่วยกันผลักดันและสร้างให้ 798 กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่ทำให้ศิลปินได้รู้จัก แลกเปลี่ยนงาน มีการทำอาร์ไคฟ์ของกลุ่มศิลปินในพื้นที่อย่างจริงจังว่าภายในพื้นที่มีสตูดิโออะไรบ้าง มีใครจัดแสดงงานอะไรกันอยู่ และใครทำงานแบบไหนกันบ้าง ดังที่เราได้เห็นในเว็บไซต์ของพื้นที่อย่าง www.798district.com และการใช้พื้นที่ส่วนกลางในการชี้ชวนให้ผู้คนสนใจตลอดทาง
ป้ายบอกนิทรรศการจากแกลเลอรีต่างๆ
นิทรรศการ Innocence แสดงงานวิดีโอของพอล แม็กคาร์ตนีย์ ที่จัดแสดงที่นี่ที่แรก
ตัวงานที่ยังคงสไตล์การเสียดสีความเป็นอเมริกัน
นอกจากแกลเลอรีและสตูดิโอที่จริงจังแล้ว ระหว่างทางก็มีศิลปินที่คอยตั้งโต๊ะวาดภาพอยู่ตลอดทาง
บ้างก็มีร้านโปสเตอร์หนังและดนตรี (ที่น่าจะไม่ใช่ของแท้) แบบงงๆ ปะปนอยู่ด้วย
Selected Shop ร้านใหญ่อีกร้านหนึ่ง
Dream & Co ร้าน Zine ที่จะเขียนถึงอีกครั้งในบทความต่อไป
เหล่าไดโนเสาร์ตรงทางเข้า
การเดินทาง:
การเดินทางที่สะดวกสำหรับชาวไทย 798 Art Zone จะไม่มีขนส่งมวลชนที่มาถึงได้เลยโดยตรง (จริงๆ คือมีรถบัส) แต่แนะนำให้ลงสถานี Jiangtai แล้วเดินประมาณ 15 นาทีจะดีกว่า หรีอเรียกแท็กซี่มาประมาณ 20 หยวน (100 บาท) จะสะดวกที่สุด