เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (30 ตุลาคม) ธนาคารโลกประกาศเตือนว่า ราคาน้ำมันดิบอาจสูงขึ้นมากกว่า 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากความขัดแย้งในตะวันออกกลางทวีความรุนแรงขึ้น และอาจซ้ำรอยวิกฤตน้ำมันเมื่อปี 1970 หากผู้ผลิตรายใหญ่ลดปริมาณการผลิตลง
สำหรับภาพรวมของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์รายไตรมาส ธนาคารโลกระบุว่า ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่ยืดเยื้ออาจส่งผลให้ราคาพลังงานและอาหารปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ก็ยังคงได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนด้วยเช่นกัน
Indermit Gill หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกกล่าวว่า ความขัดแย้งครั้งล่าสุดในตะวันออกกลางเกิดขึ้นภายหลังจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งได้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์เป็นอย่างมากนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970
ภายใต้การคาดการณ์พื้นฐานของธนาคารโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์คาดว่าจะลดลง 4.1% ในปีหน้า โดยราคาน้ำมันจะลดลงมาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 81 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่ำกว่าราคาคาดการณ์ที่ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาสปัจจุบัน เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า แนวโน้มนี้อาจพลิกกลับได้อย่างรวดเร็วหากความขัดแย้งในตะวันออกกลางรุนแรงขึ้น ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดปริมาณน้ำมันทั่วโลกอาจลดลงเหลือเพียง 6-8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาอยู่ระหว่าง 140-157 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากผู้ผลิตชั้นนำของอาหรับ เช่น ซาอุดีอาระเบีย ประกาศลดการส่งออกน้ำมัน
ปัจจุบันความต้องการน้ำมันทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 102 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากเกิดสถานการณ์ที่หยุดชะงักแม้เพียงระดับเล็กและกลาง ราคาน้ำมันอาจพุ่งสูงถึง 102-121 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านดัชนีราคาน้ำมันเบรนท์ลดลงมากกว่า 3% เหลือประมาณ 87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อวันจันทร์ หลังจากที่ทะลุ 89 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลภายหลังความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
ธนาคารโลกกล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าในช่วงวิกฤตน้ำมันเมื่อเดือนตุลาคม ปี 1973 เมื่อสมาชิกโอเปกอาหรับลดการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ที่สนับสนุนอิสราเอลในสงครามยมคิปปูร์ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 4 เท่า
นอกจากนี้ ประเทศในตะวันออกกลางมีความสำคัญต่อการส่งออกน้ำมันทั่วโลกน้อยกว่าเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ปัจจุบันการผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางคิดเป็นประมาณ 30% ลดลงจาก 37% เมื่อปี 1970
แต่ 30% ก็ยังคงเป็นสัดส่วนที่สำคัญ Ayhan Kose รองหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกเตือนว่า เมื่อคุณคิดถึงราคาน้ำมัน สิ่งที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางจะไม่ได้ส่งผลแค่เฉพาะในตะวันออกกลาง แต่ยังกระทบไปทั่วโลกอย่างใหญ่หลวง
หากสถานการณ์นี้เกิดขึ้นจะส่งผลร้ายแรงต่อความมั่นคงทางอาหารในประเทศที่ยากจน ซึ่งกำลังเผชิญกับความอดอยากในระดับที่สูงขึ้น ตามที่ธนาคารโลกระบุ การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและก๊าซจะส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งและปุ๋ยเพิ่มขึ้น ทำให้สินค้าเกษตรมีราคาแพงขึ้น
อ้างอิง: