นวราตรี คืออีกหนึ่งเทศกาลสำคัญทางศาสนาของชาวฮินดูทั่วโลก เป็นวันเฉลิมฉลองชัยชนะขององค์พระแม่ทุรกาที่ปราบอสูรได้สำเร็จ หลังจากต่อสู้กันมาเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน (นวราตรี) จนสามารถเอาชนะได้ในวันที่สิบ (วิชัยทัสมิ) นวราตรีแปลตรงตัวได้ว่า 9 คืนในภาษาสันสกฤต แต่ใช้เวลาจัดงานจริงเป็นเวลา 10 วัน วันสุดท้ายมักเรียกว่า ‘วันวิชยาทศมี’ หรือ ‘ทศหรา’ ซึ่งเป็นอีกเทศกาลประจำปีของวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) ในทุกปีจะมีขบวนอัญเชิญเทวรูป พระแม่อุมาเทวี และเทวรูปองค์อื่นๆ ออกมาแห่บนถนนสีลมไปรอบๆ เมือง เป็นขบวนแห่ยิ่งใหญ่ มีผู้ศรัทธาเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากในทุกๆ ปี
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้ดำเนินนโยบายร่วมกับองค์การศาสนา 5 ศาสนา จัดโครงการ ‘เสน่ห์แห่งสีสัน เทศกาลแห่งศรัทธา’ ประกอบด้วยกิจกรรมดังต่อไปนี้
- เสน่ห์วันวาน เทศกาลงานวัด เทศกาลของศาสนาพุทธ
- วันอาซูรอสัมพันธ์ เทศกาลของศาสนาอิสลาม
- เทศกาลแห่ดาวคริสต์มาส เทศกาลของศาสนาคริสต์
- เทศกาลนวราตรีและเทศกาลดิวาลี เทศกาลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
- วันครบรอบ 554 ปี วันคล้ายวันประสูติคุรุนานักซาฮิบ องค์ปฐมศาสดา เทศกาลของศาสนาซิกข์
เพื่อส่งเสริม Soft Power ในมิติศาสนา 5 ศาสนา สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและเทศกาลในมิติศาสนา เสริมสร้างเศรษฐกิจ และสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างศาสนิกชน ส่งผลให้เกิดความสงบสันติสุขของสังคม ศาสนิกชนทุกศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยความรักและสามัคคีสืบต่อไป
ชุดส่าหรี, กลิ่นกำยาน, ดอกไม้, เครื่องหอม, ขนมโมทกะ, ขนมลาดู, เต้นรำถวายทวยเทพ และซุ้มสักการะที่ตกแต่งอย่างประณีต ปัจจัยไหนจะส่งผลให้ผู้คนทั่วไปสนใจในศาสนพิธีนวราตรีมากขึ้น
หากลองสังเกตดูจะพบว่า นอกจากพราหมณ์ในพิธีแล้ว ผู้ที่ร่วมงานทุกซุ้มสักการะส่วนใหญ่มีแต่คนไทย โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQIA+ ซึ่งมีสัดส่วนความต้องการเข้าร่วมงานเยอะกว่าทุกเพศและมีจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี
มีการตั้งสมมติฐานถึงความนิยม อาจเพราะพระแม่อุมาเทวีและบรรดาบริวารของทั้งหมดที่เป็นรูปปั้นในวัดแขก สีลม มีแต่เทวีและยักษิณีที่เป็นเพศหญิง ไม่มีเทวะและยักษะที่เป็นเพศชายอยู่เลย
กลุ่ม LGBTQIA+ จึงมีความรู้สึกเข้าถึงพระแม่ได้มากกว่าผู้ชาย ส่วนผู้หญิงมีความรู้สึกเข้าถึงพระแม่ได้มากที่สุด เพราะเป็นภาวะเพศสภาพเดียวกัน หรืออาจเป็นเพราะศาสนาในไทยไม่ค่อยมีพื้นที่ให้เพศหญิงและเพศทางเลือกในการประกอบพิธีกรรม
ผศ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยตั้งข้อสังเกตว่า การที่ศาสนาฮินดูสามารถดึงดูดผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้ามาในพื้นที่ทางศาสนาได้ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบ ได้แก่
- สีสัน มีอุปกรณ์และเครื่องบูชามากมาย ซึ่งตรงกับความสนใจและความชอบ (ความเยอะ) ของกลุ่มเพศที่สาม
- ระบบชายเป็นใหญ่ในระบบศาสนาไทย (พุทธ) ซึ่งกีดกันและครอบงำสังคมผ่านองค์กรและนักบวชผู้ชาย
THE STANDARD ลงพื้นที่พูดคุยกับกลุ่ม LGBTQIA+ ในงานนวราตรี เพื่อหาคำตอบถึงปัจจัยที่สร้างอิทธิพลทางความคิดให้กลุ่ม LGBTQIA+ สนใจเข้าร่วมพิธีมากกว่าเพศสภาพอื่น
ภายใต้สภาวะสังคมแบบ ‘ปิตาธิปไตยทางศาสนา’ เพศนิยมเป็นใหญ่จึงถูกกำหนดให้ทำหน้าที่สำคัญทางพิธีกรรมเท่านั้น ทั้งที่ศาสนาเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ไม่ใช่กฎหมายที่บังคับใช้
“เสรีภาพและความเท่าเทียมทางเพศ” คือคำตอบของกลุ่ม LGBTQIA+ เกือบทุกกลุ่มที่ให้ข้อมูล
เทศกาลนวราตรีทุกเพศสามารถเข้าถึงกิจกรรมทางศาสนา การประกาศตัวตนทั้งเพศสภาพและเพศวิถี ความเชื่อในพื้นที่สาธารณะ อิสระในการเข้าถึง และยังสามารถเป็นผู้นำพิธีการโดยไม่ต้องซ่อนเร้นอัตลักษณ์ทางเพศ เป็นความภูมิใจและความสบายใจที่ไม่รู้สึกถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์หรือถูกยัดเยียดความรู้สึกผิดบาปกับเพศสภาพที่เป็น
ด้วยภาพลักษณ์พระแม่ในร่างเทวนารีมีความแข็งแกร่ง ดุดัน และเป็นเพศแม่ ไม่เป็นปิตาธิปไตย จึงเรียกศรัทธาจากกลุ่มคนหลากหลายทางเพศได้มากกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มาในรูปแบบผู้ชายหรือคนสูงอายุ
อีกทั้งวิธีคิดของบางศาสนา ความหลากหลายทางเพศเกิดจากเวรกรรมและการลงทัณฑ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ ถึงแม้ศรัทธาหรืออุทิศตัวมากแค่ไหนก็ถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์อยู่ดี
เทศกาลนวราตรี เป็นเทศกาลทางศาสนาที่เปิดพื้นที่ให้ทุกเพศสภาพสามารถสร้าง ‘พื้นที่’ ของตัวเองในด้านพิธีกรรมได้โดยไม่มีข้อกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศ เพศหลากหลายจึงแสดงออกและมีบทบาทได้อย่างอิสระ เป็นพื้นที่เปิดโอกาสให้ได้ใช้ ทุกทักษะความสามารถ ทุกความคิดสร้างสรรค์ และทุกจินตนาการ ผ่านพิธีกรรมได้อย่างเสรี
สำหรับกลุ่ม LGBTQIA+ นอกจากจะเป็นพิธีกรรมทางความเชื่อแล้ว ยังมีวัฒนธรรมย่อยที่ถูกสร้างขึ้นและส่งต่อกันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ช่วงเวลาโปรโมตที่เกือบทุกตำหนัก ทุกสำนัก ทุกสังกัด และทุกกลุ่ม ประกาศความยิ่งใหญ่และความน่าสนใจของสังกัดตัวเองผ่านการประชันฝีมือ การตกแต่งเทวรูป ความสวยงามของซุ้มสักการะ การเต้นรำถวายทวยเทพ ความสนิทสนมกับกลุ่มคนที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในสังคม และแสดงออกถึงความน่าเชื่อถือของสังกัดตนเอง เพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิกในกลุ่ม และต่อยอดโอกาสหรือธุรกิจในรูปแบบต่างๆ ต่างจากศาสนาอื่นๆ ในสังคม (ที่อาจ) มีพื้นที่ตรงนี้สำหรับกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศน้อยมาก
“ถ้าดูจากภายนอกอาจมองว่าเราแข่งขันแย่งชิงความเป็นที่หนึ่ง แต่จริงๆ แล้วเกือบทุกซุ้มมีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และด้วยวันสำคัญทางศาสนาฮินดูมีหลายวัน การพบปะแลกเปลี่ยนวิธีคิดหรือช่วยเหลือต่อกันจึงเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ” หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมกล่าว
สำหรับการจัดซุ้มสักการะในงานนวราตรีก็ไม่ต่างอะไรกับประเพณีแกะเทียนพรรษา ก่อเจดีย์ทราย และอีกหลายประเพณี ที่ผู้คนรวมตัวร่วมแรงร่วมใจแสดงออกถึงสิ่งที่ตนเคารพและศรัทธา ทุกคนเฝ้ารอเพื่อใช้ทุกความทุ่มเท ทุกทักษะ และทุกความสามารถ เพื่อประชันกัน
ข้อแตกต่างในเทศกาลนวราตรีกับประเพณีอื่นๆ ในประเทศไทยคือ ไม่มีกรรมการเป็นผู้ตัดสิน ไม่มีถ้วยรางวัล ไม่มีแพ้ ไม่มีชนะ จะรับรู้และยอมรับกันเองว่าปีนี้ขาดตกบกพร่องสิ่งใด ควรเตรียมความพร้อมอะไรเพิ่มเติมในเทศกาลครั้งหน้า
“ถือเป็นรางวัลให้เราได้เรียนรู้และยอมรับถึงข้อผิดพลาดของตัวเอง ให้มีสติ มีความพยายาม และเตรียมพร้อมร่วมกิจกรรมในเทศกาลครั้งหน้าให้มากกว่าที่ผ่านมา” ผู้ร่วมกิจกรรมคนหนึ่งกล่าว
คงไม่มีพื้นที่พิธีกรรมทางศาสนาไหนของประเทศไทยที่เปิดโอกาสให้กลุ่ม LGBTQIA+ เข้าร่วมและแสดงออกถึงเพศสภาพที่เป็นอยู่ รู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ที่มีความเท่าเทียม มีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเท่าเทียมกัน ได้เท่าเทศกาลนวราตรี
อ้างอิง:
- กลุ่ม LGBTQIA+ ที่ร่วมงานนวราตรี 2566
- คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง นวราตรีกับงานแห่วัดแขก พื้นที่ และเพศที่สาม, ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14-20 ตุลาคม 2559
- https://themomentum.co/feature-navratri/
- https://thematter.co/thinkers/lgbt-movements-in-thailand-and-india/62482
- https://www.silpa-mag.com/culture/article_120356