×

Yellow Door: ‘90s Lo-fi Film Club เชื่อมโยงด้วย ‘หนัง’ จากลาด้วยความทรงจำ

31.10.2023
  • LOADING...
Yellow Door: ‘90s Lo-fi Film Club

ช่วงต้นทศวรรษ 1990 หลังจากการล้มล้างการปกครองแบบเผด็จการ ประเทศเกาหลีใต้เริ่มเปิดกว้างต่อโลกมากขึ้น ภาพยนตร์หลากหลายแหล่งเริ่มหลั่งไหลเข้าถึงผู้คนเป็นครั้งแรก ไม่นานชมรมภาพยนตร์ก็เริ่มก่อตัวขึ้นตามมหาวิทยาลัยต่างๆ มากมายทั่วประเทศ หนึ่งในนั้นคือสถาบันภาพยนตร์ Yellow Door ซึ่งมี บงจุนโฮ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง

 

Yellow Door: ‘90s Lo-fi Film Club คือสารคดีว่าด้วยเหล่าบรรดาอดีตสมาชิกที่เคยใช้ชีวิตและทำกิจกรรมร่วมกันในสถาบันนี้ตั้งแต่ดูภาพยนตร์ เขียนวิจารณ์ ตีพิมพ์บทความ ไปจนถึงนำม้วนภาพยนตร์มาเก็บรักษาเพื่อปล่อยให้คนเช่า หรือถ้าจะเรียกแบบเข้าใจง่าย พวกเขาทุกคนเป็น ‘เนิร์ด’ ภาพยนตร์ที่คลุกตัวอยู่รวมกันเพื่อทำในสิ่งที่ตัวเองรักก็คงจะไม่ผิดนัก 

 

Yellow Door: ‘90s Lo-fi Film Club 

 

สารคดีแบ่งส่วนการเล่าเรื่องออกเป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ ประเด็นแรกคือ การพูดถึงรากเหง้าความเป็นมาของบงจุนโฮในวัยหนุ่มที่หลงรักและคลั่งไคล้ในศาสตร์ของภาพยนตร์จนมาก่อตั้งสถาบัน Yellow Door ร่วมกับคนอื่นๆ เพื่อที่จะได้ศึกษาภาพยนตร์ พร้อมกับเรื่องที่น้อยคนจะรู้ว่าแรกเริ่มเดิมทีภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาไม่ใช่ภาพยนตร์สั้น แต่เป็นแอนิเมชันสั้นว่าด้วยเรื่องของลิงที่ตามหาสรวงสวรรค์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยใช้วิธีการถ่ายทำแบบ Stop Motion ร่วมกับเพื่อนสมาชิกอีกคนหนึ่งในห้องใต้ดินของบ้านแบบข้ามวันข้ามคืน

 

ประเด็นที่สองคือ การพูดถึงผลกระทบหลังจากการโค่นล้มระบอบเผด็จการที่ในเวลานั้นคนส่วนใหญ่ในประเทศโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวรู้สึกว่างเปล่ากับสิ่งที่พวกเขาเป็น จนการมาถึงของภาพยนตร์ที่เชื่อมโยงกลุ่มคนเหล่านั้นเข้าด้วยกันและเกิดเป็นก้าวแรกของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลี

 

ประเด็นที่สามคือ จุดร่วงโรยของ Yellow Door จากการที่สมาชิกส่วนใหญ่อยากแยกย้ายไปตามทางของตัวเอง แต่ความงดงามคือ ณ ช่วงเวลาหนึ่งในชีวิต พวกเขาถูกยึดโยงเข้าหากันอย่างเหนียวแน่นด้วย ‘ภาพยนตร์’ ที่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกขอบคุณและจดจำมันในฐานะความทรงจำที่ดี

 

Yellow Door: ‘90s Lo-fi Film Club 

 

จุดที่น่าสนใจคือ ด้วยความที่ผู้กำกับอย่าง อีฮยอกแร เองก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของชมรม ทำให้การสัมภาษณ์พูดคุยกับเหล่าบรรดาผู้คนที่ออกมาเล่าถึงประสบการณ์ที่มีต่อชมรมและบงจุนโฮให้ความรู้สึกเหมือนเพื่อนเก่าที่กำลังนั่งเมาท์มอยหยอกล้อกันอย่างสนุกสนานโดยที่ไม่มีความเคอะเขินหรือเกร็งใดๆ เพราะพวกเขาเป็นเพื่อนกันจริงๆ แม้เรื่องราวที่เกิดขึ้นจะผ่านมานานถึง 30 ปีแล้วก็ตาม 

 

บวกกับการวางจังหวะภาพยนตร์ผ่านการตัดต่อในช่วงแรกที่ให้ความรู้สึกเหมือนกำลัง ‘อำ’ กันเองก็ทำให้คนดูรู้สึกคล้อยตามในความสัมพันธ์ของพวกเขาได้ไม่ยากราวกับเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันจริงๆ

 

กระทั่งโทนเรื่องที่ดูขำขันเริ่มมีความจริงจังมากขึ้นในองก์ที่สองกับสามที่พูดถึงสังคมเกาหลีในช่วงปี 1990 ที่ภาพยนตร์เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญหลังจากที่เพิ่งเปลี่ยนผ่านการปกครอง และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับแอนิเมชันสั้นของบงจุนโฮที่ในเวลานั้นเป็นเพียงแค่เด็กหนุ่มไฟแรงที่ยังไม่รู้ประสีประสาก็สะท้อนถึงชีวิตของผู้คนที่กำลังหลงทางได้เป็นอย่างดี พร้อมกันนั้นองค์ประกอบที่อยู่ในงานอย่าง ‘ห้องใต้ดิน’ ก็กลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ของเขาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน 

 

Yellow Door: ‘90s Lo-fi Film Club

 

ส่วนองก์สามกลายเป็นการสลับห้วงอารมณ์กับองก์แรกอย่างชัดเจน เมื่อเรื่องราวพูดจุดสิ้นสุดของสถาบันแห่งนี้ผ่านคำบอกเล่าของสมาชิก แต่สิ่งที่ทรงพลังที่สุดคือ การที่คนทำภาพยนตร์ให้พวกเขาเหล่านั้นอ่านคำเชื้อเชิญที่ตัวเองเคยเขียนเอาไว้ในนิตยสาร ที่ไม่มากไม่น้อยมันแสดงออกว่าครั้งหนึ่ง ความรักที่มีต่อภาพยนตร์และสถาบันแห่งนี้ทำให้หลายคนได้ค้นพบกับเส้นทางชีวิตของตัวเองที่อาจเกี่ยวข้องโดยตรง เกี่ยวข้องโดยอ้อม หรือไม่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เลยในอนาคต 

 

Yellow Door: ‘90s Lo-fi Film Club

 

ในภาพรวม Yellow Door: ‘90s Lo-fi Film Club จึงไม่ได้เป็นสารคดีสำรวจตัวตนของบงจุนโฮเพียงอย่างเดียว แต่เป็นภาพรวมของกลุ่มคนที่ถูกเชื่อมโยงเข้าหากันด้วยความรักที่มีต่อภาพยนตร์ และการได้เห็นพวกเขาในปัจจุบันที่ทั้งประสบความสำเร็จและมีลู่ทางเป็นของตัวเองในแบบที่แตกต่างกัน การเล่าถึงความหลังเหล่านั้นด้วยสีหน้าและแววตาที่เต็มไปด้วยความปลื้มปีติอีกครั้งก็เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า ช่วงเวลาอันแสนสั้นนี้ได้มอบประสบการณ์ที่ไม่มีวันลืมให้กับเหล่าบรรดาสมาชิกชมรมประตูเหลืองทุกคน

 

แต่ชีวิตก็อาจเป็นเหมือนคำบอกเล่าของหนึ่งในผู้ถูกสัมภาษณ์ที่กล่าวถึงช่วงเวลาที่ร่วงโรยของชมรมนี้ผ่านภาพวิดีโอการไปเที่ยวทะเลครั้งสุดท้ายที่ถูกบันทึกโดยสมาชิกว่า “ชีวิตเปรียบเหมือนกับองก์หนึ่งในละครเวที ไม่ว่าอย่างไร องก์นั้นก็ต้องจบลง เพื่อให้สามารถเล่นองก์ถัดไปได้ ไปสู่องก์สอง องก์สาม องก์สี่ กับชีวิตในช่วงเวลาอีก 30 ปีข้างหน้า

 

“ในขณะที่ชีวิตเราดำเนินไป สิ่งที่ขาดหายไปในองก์ที่หนึ่ง สิ่งที่ได้เรียนรู้ในองก์ที่หนึ่ง ก็เอามาประยุกต์ใช้เพื่อที่จะสามารถก้าวไปข้างหน้าต่อไปได้” 

 

ไม่แน่บางทีชีวิตของเราทุกคนก็คงเป็นแบบนั้น

 

รับชมตัวอย่างได้ที่:

 

https://youtu.be/8by8Dy0-tjc

 

ภาพ: Netflix

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X