วันนี้ (30 ตุลาคม) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ประจำปีงบประมาณ 2567
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ภายใต้ความร่วมมือของทุกหน่วยงาน โดยยึดหลักเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย สนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ด้วยการพัฒนารูปแบบการเข้ารับบริการที่เชื่อมโยงตั้งแต่ศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติด สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และได้กำหนดให้เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงสาธารณสุขที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการให้เห็นผลภายใน 100 วัน (Quick Win) โดยมีเป้าหมายการดำเนินการ 3 เรื่อง
- จัดตั้งมินิธัญญารักษ์ ดูแลผู้ป่วยยาเสพติดระยะยาวให้ครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลชุมชนที่ประสงค์จัดตั้งมินิธัญญารักษ์ 146 แห่ง รองรับผู้ป่วยยาเสพติดได้ทั้งสิ้น 1,957 เตียง แบ่งเป็นรูปแบบ Intermediate Care 692 เตียง และ Long-Term Care 1,265 เตียง โดยจะเปิดบริการผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในรูปแบบมินิธัญญารักษ์ทั่วประเทศในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 นี้
- มีหอผู้ป่วยจิตเวชทุกจังหวัด โดยปัจจุบันมีเตียงจิตเวช 7,796 เตียง หอผู้ป่วยจิตเวช (Ward) 69 แห่งใน 58 จังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 76.32 ของจังหวัดทั่วประเทศ
- มีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดทุกอำเภอ ปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชนทั้งหมด 776 แห่ง มีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดแล้ว 626 แห่ง (ร้อยละ 80.67) ที่เหลืออีก 150 แห่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจในนโยบายการดำเนินงานบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เกิดการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานมินิธัญญารักษ์ และการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (Community Based Treatment: CBTx) ที่ชัดเจนในทุกจังหวัด เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงบริการคุณภาพตั้งแต่ระยะแรก และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในชุมชนได้อย่างเป็นปกติ
นพ.ชลน่าน ยังกล่าวว่า กฎหมายมอบหน้าที่ให้ สธ. โดยตรงในการออกกฎกระทรวง เรื่องการกำหนดจำนวนการครอบครองยาเสพติดให้โทษเมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้า คาดว่าจะได้ประกาศใช้ช่วงเดือนธันวาคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแยกแยะพฤติกรรมการเข้าข่ายว่าถือครองกี่เม็ดเป็นผู้เสพ หรือเป็นผู้ค้า ขณะนี้ สธ. กำลังให้คณะกรรมการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ดำเนินการตามขั้นตอนการประกาศเป็นกฎกระทรวง โดยมีข้อสรุปว่า การครอบครองยาบ้าน้อยกว่า 10 เม็ดให้ถือเป็นผู้เสพที่ต้องได้รับการบำบัดในฐานะผู้ป่วย แต่ถือครองมากกว่า 10 เม็ดให้ถือเป็นผู้ค้า ซึ่งจะต้องได้รับการบำบัดพร้อมกับการดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงเหตุผลว่าทำไมจะต้องกำหนดที่ 10 เม็ดว่า ต้องรองรับทุกมิติ ทั้งด้านการแพทย์ เรื่องฤทธิ์ของยา มิติทางด้านเศรษฐกิจ การบังคับใช้กฎหมาย และพฤติกรรมของการเป็นผู้ค้าที่ส่วนใหญ่จะทำบรรจุห่อละ 10 เม็ด และเมื่อตำรวจตรวจพบผู้ครอบครองยาบ้าแล้วก็จะต้องมีการสืบสวนคดีต่อไป เพราะถ้าเป็นการครอบครอง 1 เม็ด แต่หากมีพฤติกรรมเป็นการค้าก็จะถือว่าเป็นผู้ค้ายาเสพติด