การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องนับจากวันที่ 7 ตุลาคมนั้น หนึ่งในสิ่งที่หลายคนสงสัยคือ นอกจากการโจมตีตอบโต้ทางอากาศและทางบกที่เกิดขึ้นกว่า 3 สัปดาห์แล้ว รัฐบาลอิสราเอลได้ใช้ปฏิบัติการอื่นใดบ้างเพื่อกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธฮามาส
โดยสื่ออิสราเอลรายงานว่า รัฐบาลเทลอาวีฟมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการลับขึ้นมาเพื่อล่าสังหารกลุ่มฮามาสโดยเฉพาะด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ชินเบตจับมือมอสซาด ตั้งหน่วยลับล่าฮามาส
The Times of Israel รายงานเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมว่า ชินเบต (Shin Bet) หน่วยรักษาความมั่นคงภายในของอิสราเอล และหน่วยข่าวกรองมอสซาด (Mossad) ได้จับมือกันจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ซึ่งมีหน้าที่เฉพาะเจาะจงคือ การ ‘แกะรอย’ และ ‘สังหาร’ สมาชิกหน่วยคอมมานโดฮามาส ‘ทั้งหมด’ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบในการนำกองกำลังติดอาวุธจากกาซากว่า 2,500 คน บุกสังหารชาวอิสราเอล
ขณะที่เว็บไซต์ข่าว Ynet เผยว่า หน่วยลับดังกล่าวชื่อ ‘นีลี (Nili)’ ซึ่งตั้งตามองค์กรใต้ดินของชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเป็นคำย่อในภาษาฮีบรูสำหรับวลีในพระคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “Netzah Yisrael Lo Yeshaker” หรือ “ผู้เป็นนิรันดร์แห่งอิสราเอลจะไม่หลอกลวง (The eternal one of Israel will not lie.)”
การมีอยู่และความเคลื่อนไหวของหน่วยนีลียังไม่ได้รับการยืนยันใดๆ จากรัฐบาลอิสราเอล แต่ อารอน เบรกแมน (Ahron Bregman) นักรัฐศาสตร์ชาวอิสราเอลจากวิทยาลัยคิงส์คอลเลจลอนดอน ซึ่งใช้เวลา 6 ปีในกองทัพอิสราเอล ค่อนข้างมั่นใจว่าหน่วยปฏิบัติการพิเศษนี้มีอยู่จริง
“ชินเบตพร้อมด้วยมอสซาด ได้ก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิเศษที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามและสังหารสมาชิกของกลุ่มฮามาสที่เข้ามาในอิสราเอล และสังหารหมู่ชาวอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม” เบรกแมนกล่าว และยืนยันว่ารู้เรื่องนี้มาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้
ด้าน ชาฮิน โมดาร์เรส (Shahin Modarres) ผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวกรองอิหร่านและอิสราเอลจากทีมระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาความมั่นคงเวโรนา (International Team for the Study of Security Verona: ITSS) มองว่า การตั้งหน่วยลับดังกล่าวของอิสราเอลไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เนื่องจาก ‘กฎบัตรของมอสซาดระบุว่า ภารกิจของหน่วยข่าวกรองนั้น รวมถึงการต่อต้านภัยคุกคามต่ออิสราเอลและการแก้แค้นอย่างจริงจัง’ ซึ่งอีกนัยหนึ่งหมายความว่า ‘การติดตามแกะรอยนักรบฮามาสนั้นอยู่ในความควบคุมของสายลับเหล่านี้อย่างสมบูรณ์แบบ’
ทั้งนี้ เหตุโจมตีอิสราเอลโดยฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ยังทำให้มอสซาดและทางการอิสราเอลถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าล้มเหลวด้านข่าวกรอง จึงเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้อิสราเอลต้องตั้งหน่วยนีลีขึ้น เพื่อกอบกู้ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือด้านข่าวกรอง
‘ปฏิบัติการพระเจ้าพิโรธ’
เป้าหมายในการล่าสังหารศัตรูของหน่วยนีลีคล้ายกับ ‘ปฏิบัติการพระเจ้าพิโรธ (Operation Wrath of God)’ ซึ่งถือเป็นต้นแบบปฏิบัติการแก้แค้นของมอสซาดที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สังหารหมู่นักกีฬาชาวอิสราเอล ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่มิวนิก ปี 1972 โดยมอสซาดได้เริ่มปฏิบัติการเพื่อติดตามลอบสังหารผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ เป้าหมายคือสมาชิกกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ที่ชื่อว่า Black September และหน่วยปฏิบัติการขององค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO)
ตัวอย่างจากปฏิบัติการพระเจ้าพิโรธยังช่วยให้เข้าใจถึงทรัพยากรที่อิสราเอลน่าจะระดมมาเพื่อตามล่ากลุ่มฮามาส โดยในครั้งนั้นอิสราเอลได้สนับสนุนทางการเงินและส่งกำลังบำรุงแก่ทีมสายลับและนักฆ่ามากถึง 5 ทีมตลอดระยะเวลาของปฏิบัติการกว่า 2 ทศวรรษ และได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการลับขึ้นภายในส่วนปฏิบัติการนอกเครื่องแบบของมอสซาด ซึ่งมีชื่อว่า กีดอน (Kidon) หรือดาบปลายปืน โดยคาดว่าสายลับจากหน่วยกีดอน ซึ่งที่ผ่านมามีผลงานเป็นที่รู้จักจากการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของอิหร่าน ก็น่าจะเข้าร่วมในหน่วยนีลีด้วยเช่นกัน
สำหรับวิธีปฏิบัติการนั้น หน่วยลับอย่างกีดอนมีการทำงานที่แตกต่างจากสายลับอื่นๆ โดยไม่ใช้วิธีลอบสังหารที่สุขุมรอบคอบและเงียบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ในทางกลับกัน เป็นการ ‘ป่าวประกาศ’ และส่งสัญญาณอย่างชัดเจนไปยังศัตรู ซึ่งวิธีที่มักจะใช้คือการลอบวางระเบิด
อย่างไรก็ตาม โมดาร์เรสกล่าวว่า การเปรียบเทียบหน่วยนีลีกับปฏิบัติการพระเจ้าพิโรธก็มีข้อจำกัดที่แสดงให้เห็นความแตกต่าง เนื่องจากนีลีถูกตั้งขึ้นในขณะที่อิสราเอลกำลังทำสงครามกับกลุ่มฮามาส และการแกะรอยกลุ่มฮามาสที่ซ่อนตัวในอุโมงค์ใต้ดินหรือในฉนวนกาซาก็มีความยากลำบากและซับซ้อนมากกว่า อีกทั้งการปฏิบัติภารกิจล่าสังหารของนีลีจะต้องเกิดขึ้นควบคู่ไปกับปฏิบัติการทางทหารในวงกว้างของอิสราเอล
“ผมไม่คิดว่าเจ้าหน้าที่นีลีจะเข้ามาในช่วงแรกของปฏิบัติการภาคพื้นดิน เนื่องจากมันจะอันตรายเกินไปสำหรับพวกเขา พวกเขาจะเข้าไปก็ต่อเมื่อบรรลุเป้าหมายทางทหาร เพื่อเข้าไปกำจัดกลุ่มฮามาสที่รอดชีวิต”
ด้านเบรกแมนเชื่อว่า เจ้าหน้าที่ของนีลีจะเข้าไปในกาซาในช่วงเวลาเดียวกันกับกองทัพอิสราเอล “พวกเขาจะมีสองภารกิจหลัก ประการแรกคือพยายามค้นหาตัวประกันชาวอิสราเอลที่เหลืออยู่ และหากเป็นไปได้ก็ปล่อยตัวพวกเขา ประการที่สองคือ พยายามค้นหาตัวผู้ก่อการร้ายของกลุ่มฮามาสที่สังหารชาวอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม และสังหารพวกเขา”
เป้าหมายล่าสังหารในกาซาและที่อื่นๆ
เป้าหมายล่าสังหารที่ชัดเจนที่สุดของหน่วยนีลีคือ สมาชิกกองกำลังนุกห์บา (Nukhba) ซึ่งเป็นกองกำลังรบชั้นยอดของกองพลน้อยอิซซ์ อัล-ดิน อัล-กัสซัม ( Izz al-Din al-Qassam) อันเป็นปีกฝ่ายทหารของกลุ่มฮามาส โดยหน่วยคอมมานโดของฮามาสเหล่านี้เป็นผู้ต้องสงสัยก่อเหตุโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม
ขณะที่ผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีก็อยู่ในรายชื่อลอบสังหารของนีลีเช่นกัน เช่น โมฮัมเหม็ด เดอิฟ (Mohammed Deif) ผู้บัญชาการของอัล-กัสซัม และ มาร์วาน อิสซา (Marwan Issa) ผู้บัญชาการหมายเลข 2 รวมถึง ยาห์ยา ซินวาร์ (Yahya Sinwar) หัวหน้ากลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาด้วย ซึ่งทั้งหมดต้องสงสัยว่ากำลังซ่อนตัวอยู่ในอุโมงค์ใต้ดินในกาซา โดยรายชื่อเป้าหมายมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตราบที่ปฏิบัติการของหน่วยลับนี้ยังคงดำเนินต่อไป
ทั้งนี้ มอสซาดยังมีส่วนร่วมในปฏิบัติการของนีลี โดยให้ข้อมูลเบาะแสต่างๆ ซึ่งหมายความว่าการลอบสังหารเป้าหมายฮามาสไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในฉนวนกาซาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสมาชิกฮามาสที่อยู่ในประเทศต่างๆ เช่น กาตาร์ หรือตุรกีด้วย อาทิ อิสมาอิล ฮานิเยห์ (Ismail Haniyeh) ประธานฝ่ายการเมืองของกลุ่มฮามาสที่อาศัยอยู่ในกาตาร์
ภาพ: EYEPRESS via Reuters Connect
อ้างอิง: