×

วิปรัฐบาลแจงเหตุสภาไม่ชอบญัตติจัดทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับของก้าวไกล ขัดต่อเจตนารมณ์พรรคร่วม หวั่นแก้หมวด 1-2

โดย THE STANDARD TEAM
25.10.2023
  • LOADING...
ทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ

วันนี้ (25 ตุลาคม) ที่รัฐสภา คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) นำโดย อดิศร เพียงเกษ ประธานวิปรัฐบาล และ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าวภายหลังที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบต่อญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมี พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ

 

โดยอดิศรเปิดเผยว่า ในญัตตินี้ วิปรัฐบาลประชุมกันถึง 2 ครั้ง ในครั้งแรกมองว่าควรเลื่อนญัตติอื่นมาพิจารณาแทน แต่ครั้งที่ 2 ควรเปิดให้พิจารณา เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่ใส่ใจที่จะไม่จัดการออกเสียงประชามติ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลได้เสนอญัตติดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณา

 

ขณะที่ ชูศักดิ์ ศิรินิล สส. บัญชีรายชื่อ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการทำประชามตินั้นเป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว และได้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการจัดทำประชามติขึ้นมา มีคณะอนุกรรมการ 2 ชุด สำหรับศึกษาจำนวนครั้งการจัดทำประชามติ และกระบวนการหลังทำประชามติด้วย

 

ชูศักดิ์กล่าวอีกว่า กระบวนการดังกล่าวมีหลักประกันว่ารัฐบาลจะทำจริง เพราะรัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อที่ประชุมสภา และเป็นมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก ทางวิปรัฐบาลจึงเห็นว่ากระบวนการนี้จะได้เดินหน้าต่อไป ส่วนญัตติที่พรรคร่วมฝ่ายค้านนำเสนอ จะว่าไปแล้วก็ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด เพราะอ้าง พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 9(4) ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งหากวุฒิสภาไม่เห็นชอบเหมือนสภาผู้แทนราษฎรก็ไปสู่รัฐบาลไม่ได้

 

ชูศักดิ์กล่าวอีกว่า รัฐบาลยังยินดีรับฟังเต็มที่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบถามและรับฟังความเห็นจากส่วนต่างๆ จึงยังสามารถส่งความเห็นไปให้รัฐบาลได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าน พ.ร.บ.ประชามติฯ พร้อมย้ำว่า วิปรัฐบาลยังเห็นด้วยกับการทำประชามติ แต่มองว่าการทำประชามติ หากดำเนินการโดยรัฐบาลก็จะมีโอกาสสำเร็จ เพราะที่ผ่านมาหากรัฐบาลและวุฒิสภาไม่เห็นด้วย การทำประชามติก็จะไม่สำเร็จ

 

ชูศักดิ์ยังกล่าวว่า มีความเห็นขัดแย้งกันมากที่สุดคือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับที่สามารถแก้ได้ทุกเรื่องทุกหมวด โดยพรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่แก้หมวด 1 และ 2 ดังนั้นส่งให้รัฐบาลไปก็เปล่าประโยชน์ เพราะยังเป็นความเห็นที่ขัดแย้งไม่ลงรอยกันมานานแล้ว จึงเห็นว่าควรให้รัฐบาลทำหน้าที่ไป และหวังว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิม

 

ขณะที่ ภราดร ปริศนานันทกุล สส. อ่างทอง และโฆษกพรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่า การลงมติในวันนี้ไม่ได้หมายความว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติเพื่อสอบถามพี่น้องประชาชนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงไม่ได้หมายความว่าพวกเราจะกอดรัดอยู่กับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ แต่พวกเราเห็นควรว่าต้องแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยมาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) พร้อมกล่าวถึงสิ่งที่ไม่เห็นด้วยมีอยู่ 3 ประเด็น

 

  1. รัฐบาลมีคณะกรรมการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว และมาจากทุกพรรคการเมือง นอกจากฝ่ายการเมืองยังมีฝ่ายวิชาการเข้าร่วมด้วย ซึ่งมีความน่าเชื่อถือมากพอสมควรที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จได้

 

  1. เนื้อหาสาระของคำถามที่จะส่งให้รัฐบาล พรรคก้าวไกลเสนอจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคที่ประกาศเอาไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งว่า จะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 และ 2 ไม่มีใครการันตีได้ว่าจะไม่มีการแก้ เพื่อไม่ให้ขัดต่อเสียงของประชาชน พรรคร่วมรัฐบาลจึงไม่เห็นด้วย

 

  1. พรรคร่วมรัฐบาลยังไม่เห็นด้วยว่า การเลือก สสร. จะต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% เพราะเราเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายมหาชนที่จะเกิดขึ้นจากพี่น้องประชาชนในหลากหลายสาขาอาชีพ ซึ่งไม่มีอะไรที่ยืนยันได้ว่า สสร. จากการเลือกตั้งจะมาจากทุกสาขาอาชีพ
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X