ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3 และงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 ออกมา โดยในภาพรวมพบว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี กลุ่มธนาคารพาณิชย์สามารถทำกำไรสุทธิรวมกัน 181,390 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.65% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่หากนับเฉพาะไตรมาส 3 กลุ่มธนาคารพาณิชย์สามารถสร้างผลกำไรสุทธิได้ 59,472 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.50% จากไตรมาส 3 ของปีก่อน
สำหรับธนาคารที่ทำกำไรได้สูงสุดในรอบ 9 เดือนแรกคือ KBANK โดยมีกำไรสุทธิ 33,017 บาท เพิ่มขึ้น 1.35% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเติบโตขึ้น 13.16% ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 19.09% หลักๆ จากรายได้จากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
ตามมาเป็นอันดับ 2 คือ BBL ที่มีกำไรสุทธิ 32,773 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.8% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 33.3% สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย ส่วน SCB ตามมาเป็นอันดับ 3 มีกำไรสุทธิ 32,527 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จาก 30,403 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่หากนับเฉพาะไตรมาส 3 กำไรจะปรับลดลง 6.3% โดยบริษัทมีการสั่งตั้งสำรองพิเศษเพิ่ม 1,500 ล้านบาท เพื่อรองรับความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูงในอนาคต
ขณะที่ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB มีกำไรสุทธิ 30,505 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.2% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตในกลุ่มสินเชื่อที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนโดยรวมปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการขยายตัวของรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ
ด้านกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY มีกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกที่ 25,198 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของรายได้จากการดำเนินงาน อันเป็นผลมาจากการเติบโตของเงินให้สินเชื่อในประเทศและการควบรวมกิจการพอร์ตสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศ
ส่วนอีกหนึ่งธนาคารขนาดใหญ่อย่างทีเอ็มบีธนชาต หรือ ttb มีกำไรสุทธิในรอบ 9 เดือนแรกอยู่ที่ 13,596 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 31.4% จากปีก่อน หนุนโดยกลยุทธ์ด้านสินเชื่อและเงินฝาก รวมทั้งการบริหารสภาพคล่องส่วนเกินและพอร์ตการลงทุนในเชิงรุก เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้น 13.1%
อย่างไรก็ดี ในกลุ่มธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กดูเหมือนจะมีอัตราการเติบโตของผลกำไรที่ไม่สวยหรูเท่ากับกลุ่มแบงก์ใหญ่ โดยมีเพียงแอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป หรือ LHFG ที่มีกำไรเติบโตขึ้น 41.1% จาก 1,234 ล้านบาทในปีก่อน เป็น 1,744 ล้านบาท ขณะที่ TISCO, KKP และ CIMBT มีอัตราการเติบโตของผลกำไรอยู่ที่ 1.9%, -22.7% และ -38.24% ตามลำดับ