นโยบายดีมีชัยไปกว่าครึ่ง…
แน่นอนว่าก่อนการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ลงรับสมัครต่างงัดนโยบายเพื่อโกยคะแนนเสียงจากประชาชน และเมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลแล้ว สิ่งที่รัฐบาลชุดปัจจุบันต้องทำนั่นก็คือ นโยบายต่างๆ ที่ได้พูดไว้ตอนหาเสียง แน่นอนว่าเหล่านี้คือบทพิสูจน์การทำงานของรัฐบาลและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน หากนโยบายเหล่านั้นตอบสนองและไปในทิศทางที่ดี
แต่รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน สะดุดเข้าอย่างจังกับนโยบาย ‘โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่จะแจกเงินให้กับประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปรายละ 1,000 บาท แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เมื่อนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และพรรคการเมืองต่างๆ ออกมาคัดค้านโครงการดังกล่าว เนื่องจากอาจสร้างความเสียต่องบการคลังของประเทศ และอาจนำไปสู่การทุจริตมหาศาลได้ในอนาคต
THE STANDARD จะพาไปรู้จักกับหน่วยงานที่มีอำนาจในการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโครงการดังกล่าวได้ นั่นก็คือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และเป็นที่จับตาของสังคมว่า โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตจะซ้ำรอยกับโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวก็คือ ป.ป.ช. นั่นเอง
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พร้อมให้เชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน ด้านเศรษฐศาสตร์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อศึกษารายละเอียดโครงการดังกล่าวว่ามีข้อน่าห่วงใยหรือมีความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตหรือผลกระทบด้านเศรษฐกิจในระยะยาว
ล่าสุด ป.ป.ช. ได้ออกหนังสือเผยแพร่ว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ในการประชุมวุฒิสภา ซึ่ง พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม และมีวาระพิจารณารายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประจำปีงบประมาณ 2565 และรายงานสถานการณ์การทุจริตประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ 2565 ซึ่งในระหว่างการอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภานั้น ได้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำงานเชิงรุกของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อการตรวจสอบนโยบายของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ที่สำคัญคือนโยบายเกี่ยวกับการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้กับประชาชน ซึ่งพบข้อท้วงติงจากฝ่ายต่างๆ และกังวลว่าจะซ้ำรอยโครงการรับจำนำข้าวที่ได้สร้างความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาลมาแล้ว
ทั้งนี้ สุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้แจงต่อประเด็นข้อซักถามในการติดตามนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทที่รัฐบาลเตรียมดำเนินการว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ศึกษาและรวบรวมรายละเอียดข้อมูล โดยได้ศึกษาคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11-12 กันยายน 2566 เกี่ยวกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต และนำไปวิเคราะห์ตามเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงในการทุจริตเชิงนโยบาย และจะขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับนโยบายดังกล่าวนำเสนอข้อมูลให้แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และอาจมีการเชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินการคลังมาเข้าร่วมศึกษาในรายละเอียดให้ครบถ้วน
ทั้งนี้ การตรวจสอบนโยบายสาธารณะของรัฐบาลดังกล่าวนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจภายใต้กรอบของกฎหมายเหมือนรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา และแม้ว่าโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต จะยังไม่มีการแถลงให้เห็นภาพที่ชัดเจนออกมา แต่ด้วยความห่วงใยจากสมาชิกวุฒิสภาเกี่ยวกับประเด็นการแจกเงินดิจิทัลดังกล่าว ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถือเป็นวาระเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและรัดกุมที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการทุจริตและคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก