วานนี้ (19 ตุลาคม) ที่สวน 15 นาที ลานด้านข้างรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสนามไชย เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดกิจกรรมสอยดาวสอยดอก (Wishful Flowers) โครงการทดลองใช้พื้นที่สาธารณะย่านปากคลองตลาดเพื่อกิจกรรมสร้างสรรค์ และร่วมเสวนาหัวข้อ Flowers of Inspiration แนวทางการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ย่านปากคลองตลาดอย่างมีส่วนร่วม
ศานนท์กล่าวว่า จากการรับฟังกระบวนการที่มาของการพัฒนาพื้นที่สาธารณะและความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน นับว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับความสำเร็จของสวน 15 นาทีแห่งนี้ที่เกิดจากกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมทุกๆ ฝ่าย ทั้งภายในสำนักงานเขตเอง ตลอดจนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะทั่วกรุง โดยจะปรับปรุงพื้นที่เดิมและพื้นที่ใหม่ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บริการสวนสาธารณะใกล้บ้านในการพักผ่อนและออกกำลังกายได้
ในช่วงปีที่ผ่านกรุงเทพฯ มีพื้นที่ที่มีศักยภาพและอยู่ในเกณฑ์ที่จะสามารถทำสวน 15 นาทีได้ ซึ่งไม่ได้มีแค่รูปแบบเดียว แต่มีความหลากหลายอันเนื่องมาจากความต้องการในพื้นที่ทั้งในเชิงระดับชุมชนหรือในระดับเมืองว่าบริเวณนั้นต้องการสิ่งใด
โดยใช้กระบวนการทำงานร่วมกับนักออกแบบ คนในพื้นที่ นักสร้างสรรค์ นำไปสู่การจัดกิจกรรมช่วงเวลาสั้นๆ เป็นลักษณะของการใช้กิจกรรมกระตุ้นพื้นที่ให้เห็นผลเร็ว และรับฟังความต้องการและความคิดเห็นของชุมชน เพื่อนำมาพัฒนาสวนให้ดียิ่งขึ้น
ศานนท์กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาพื้นที่สวน 15 นาทีต้นแบบริมคลองคูเมืองเดิม ย่านปากคลองตลาด เขตพระนครแห่งนี้ ได้เห็นการพัฒนาทั้งในด้านเชิงพื้นที่ ซึ่งได้ถูกปรับปรุงให้น่าเดิน ปลอดภัย สะอาดตากว่าเดิม และในเชิงกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้งานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการคิดใหม่ในพื้นที่แห่งนี้และมองในมุมที่ต่างออกไป โดยใช้พื้นที่กิจกรรม ผู้คน เป็นตัวเชื่อมให้เกิดสิ่งสร้างสรรค์และเมืองที่น่าอยู่ขึ้น
ซึ่งในครั้งนี้บริเวณริมคลองคูเมืองเดิม ย่านปากคลองตลาด ได้เปิดพื้นที่จัดกิจกรรมสร้างสรรค์สนุกๆ ให้คนเมืองได้มีพื้นที่เดินเล่นและมาเห็นถึงศักยภาพในพื้นที่สวน 15 นาที ที่สามารถเป็นเส้นทางเดินริมคลองให้สวยงาม ปลอดภัย และสามารถเป็นพื้นที่พักผ่อนของคนเมืองได้มากขึ้น ขอขอบคุณภาคีเครือข่ายที่ทำให้เกิดกิจกรรมดีๆ ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้สวนดังกล่าวเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับพื้นที่สวน เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่และสร้างสรรค์ต่อไป
“ตอนสร้างสวน 15 นาที ไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากคือการซ่อมบำรุงดูแลรักษา ต้องขอขอบคุณฝ่ายต่างๆ ของสำนักงานเขต และภาคีเครือข่ายที่ช่วยกันดูแลสวน 15 นาที และต้องจัดกิจกรรมกระตุ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สวน 15 นาที มีชีวิตชีวาและดึงดูดให้คนมาใช้งาน ในอนาคตอยากเห็นการมีประชาคมในทุกๆ ย่านในกรุงเทพฯ เพื่อประสานงานกับ กทม. ให้เป็น 4 เกลียวในการพัฒนา คือภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และนักวิชาการ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ศานนท์กล่าว
โครงการเครือข่ายพัฒนาเมืองและชุมชนสุขภาวะ (Healthy Space Alliance) ร่วมกับกลุ่ม we!park ด้วยการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อการพัฒนาและปฏิบัติการสร้างเสริมสุขภาพ ได้จัดกิจกรรม POP PARK BKK สวนริมคลองคูเมืองเดิม ย่านปากคลองตลาด เขตพระนคร มาทดลองใช้และให้ความเห็น เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 เพื่อให้เกิดการกระตุ้นการใช้งานและรับรู้พื้นที่สาธารณะแห่งใหม่อย่างต่อเนื่อง
จากนั้น Urban Studies Lab, Placemaking X, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, กลุ่ม we!park และกลุ่มสาธารณศิลป์เพื่อนิเวศสุนทรีย์ จึงร่วมกันจัดทำโครงการสอยดาวสอยดอก (Wishful Flowers) โดยจัดกิจกรรม ณ บริเวณสวน 15 นาที ลานด้านข้างติดรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสนามไชย ถนนราชินี และถนนอัษฎางค์ เขตพระนคร ระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม – 5 พฤศจิกายน 2566
ซึ่งในงานมีกิจกรรมสอยดาวสอยดอก (Wishful Flowers) ณ ประติมากรรมแบบมีส่วนร่วม ต้นสารพัดนึก ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างศิลปิน ดร.วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร ภายใต้แนวคิดสาธารณศิลป์ เพื่อสร้างปรากฏการณ์นิเวศสุนทรีย์ กับร้านเจ๊คลอ ร้านดอกดาวเรืองรุ่นเก่าแก่ของย่าน เพื่อกระตุ้นการใช้พื้นที่สวน 15 นาที เขตพระนคร ริมคลองรอบกรุง ให้เป็นพื้นที่ออกกำลังกายสำหรับกลุ่มแม่ค้าย่านปากคลองตลาดและบุคคลทั่วไป
โดยใช้กิจกรรมสอยดาวสอยดอกสร้างการมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลทั่วไปกับดอกไม้และชิ้นงานศิลปะ พร้อมจัดงานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แนวคิดการพัฒนาและต่อยอดย่านปากคลองตลาด สร้างภาพจำที่ร่วมสมัย กระตุ้นให้เกิด Sense of Place ของพื้นที่
โดยพัฒนาจากอัตลักษณ์ดั้งเดิมของย่านปากคลองตลาด ที่เข้าถึงกลุ่มคนกลุ่มใหม่ๆ ที่กว้างขวางมากขึ้น สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของสถาบันการศึกษา ชุมชนในพื้นที่ นักออกแบบ ศิลปิน ภาคประชาสังคม หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง