วันนี้ (19 ตุลาคม) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร ยื่นหนังสือต่อประธาน กกต. เพื่อขอให้ กกต. ดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล หลังจากที่ได้ไปยื่นให้ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งมีอำนาจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2561 มาตรา 8
ในกรณีที่เห็นว่านโยบายของรัฐบาลอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านงบประมาณและวินัยการเงินการคลัง ก็สามารถที่จะตรวจสอบเรื่องนี้ได้ และหากพบว่าผิด ก็สามารถเชิญประธาน กกต. และประธาน ป.ป.ช. มาประชุม เพื่อพิจารณาและทำรายงานเสนอให้รัฐบาลล้มเลิกโครงการนี้
“เสนอเรื่องนี้เพื่อให้สื่อและประชาชนทราบว่า ขณะนี้มีกฎหมายใหม่ที่จะสามารถหยุดยั้งกระบวนการที่ไม่ชอบ และเห็นว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่เราร่วมกันล้อมคอกก่อนวัวหาย เพราะที่ผ่านมาเรามักจะล้อมคอกเมื่อวัวหายไปแล้ว ฉะนั้นการที่ได้ยื่นต่อประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้ท่านเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ ถ้าพบว่าข้อเท็จจริงที่จะสามารถพิจารณายับยั้งได้ ก็ขอให้เรียนเชิญประธาน กกต. และประธาน ป.ป.ช. มาประชุมร่วมกัน เพื่อลงมติว่าควรจะยับยั้งเรื่องนี้หรือไม่”
เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาลมีปัญหามิชอบด้วยกฎหมายและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐ โดยเป็นอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะดำเนินการระงับยับยั้งหากก่อให้เกิดความเสียหายต่อการเงินการคลังของรัฐ และขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
โดยรสนาอ้างเหตุผล 6 ประการที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินการคลังของรัฐและอยากให้ตรวจสอบ คือ
- ผลได้ไม่คุ้มเสีย ซึ่งนักวิชาการและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็ออกมาแสดงความคิดเห็น โดยเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลมาแจกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะการบริโภค แต่ควรนำไปทำนโยบายที่ยั่งยืนและเกิดผลระยะยาวมากกว่า
- น่าจะขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินตรา เนื่องจากการแจกเงินดิจิทัลโทเคนยังเกิดความสับสนว่าเป็นเงินตราสกุลใหม่ หรือเป็นสิทธิการใช้เงินแบบดิจิทัล ซึ่งอาจเป็นการสำแดงที่ไม่จริง สำแดงว่าเป็นเงินดิจิทัล แต่จริงๆ เป็นระบบเงินใหม่
- เพิ่มความสิ้นเปลืองแก่ประเทศโดยไม่จำเป็น โดยเห็นว่าการสร้างระบบใหม่อย่างบล็อกเชนเป็นการใช้เงินมหาศาล และหากทำโครงการนี้แล้วไม่ทำอะไรต่อเนื่องจะเป็นการเสียเงินเปล่า ทั้งที่ดิจิทัลวอลเล็ตมีอยู่แล้ว และการจะนำเงินภาษีมาใช้เพื่อทำบล็อกเชนก็เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ
- หลีกเลี่ยงหลักการใช้เงินแผ่นดิน โดยระบุว่า จะใช้เงินแผ่นดินจำเป็นต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 140 ที่ระบุว่า จะต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการงบประมาณให้ที่ประชุมรัฐสภายอมรับ แต่การที่รัฐบาลจะแจกเงินตั้งแต่เดือนเมษายนแสดงว่าจะไม่นำเรื่องนี้เข้าสู่งบประมาณ
- ซุกหนี้สาธารณะ ที่ดูจากรัฐบาลประกาศจะใช้ธนาคารออมสินกู้เงินแทน แล้วนำเงินมาใช้ เห็นว่าน่าจะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและซุกหนี้สาธารณะ และเชื่อว่าธนาคารออมสินก็ไม่น่าจะมีหลักการในลักษณะดังกล่าว
- ขัดกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 9 วรรค 3 โดยรัฐบาลจะต้องไม่นำงบประมาณแผ่นดินไปใช้ในการหาเสียง ซึ่งการแจกเงินให้เด็กอายุ 16 ปีขึ้นไปคิดว่าเป็นการหาเสียงทางการเมือง เปรียบเสมือนกับการตกเขียว เด็กอายุ 16 ปีอีก 4 ปีข้างหน้าก็อายุ 20 ปี และการแจกเงินให้คนทั้งหมดโดยไม่เลือกน่าจะขัดต่อระเบียบและกฎหมาย
ซึ่งจากเหตุผล 6 ข้อดังกล่าว ส่งผลให้โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท น่าจะเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้ง พ.ร.บ.เงินตรา ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจและการเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรง
รสนากล่าวต่ออีกว่า ก่อนหน้านี้ได้มาร้องเรียนต่อผู้ตรวจเงินแผ่นดิน สั่งการให้ตรวจสอบเป็นการเร่งด่วน และขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจัดประชุมร่วมกับ กกต. และ ป.ป.ช. เพื่อระงับหรือยับยั้งการดำเนินการดังกล่าวตามมาตรา 8 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
ส่วนการดำเนินโครงการดังกล่าวมีความพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าสู่กระบวนการงบประมาณ ทั้งที่รัฐบาลยืนยันหนักแน่นว่าจะเริ่มแจกเงินตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 ก็มีความชัดเจนว่ารัฐบาลไม่ต้องการที่จะนำโครงการนี้เข้าสู่กระบวนการงบประมาณของรัฐสภาใช่หรือไม่ ดังนั้นหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบน่าจะตรวจสอบได้ และถ้าพบว่าไม่ปกติหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็มีอำนาจในการสั่งการในเรื่องนี้ต่อไป
นอกจากนี้รสนาจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงประธาน ป.ป.ช. ให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบด้วย