วันนี้ (14 ตุลาคม) ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา (แยกคอกวัว) ถนนราชดำเนินกลาง เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว THE STANDARD และผู้จัดพอดแคสต์ The Secret Sauce ร่วมรำลึก 50 ปี 14 ตุลา โดยปาฐกถาในหัวข้อ ‘50 ปี 14 ตุลา: อำนาจ เวลา ประชา โลกร้อน และแชตจีพีที’
นครินทร์กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีโอกาสมาร่วมกันรำลึกถึงวีรชน 14 ตุลา และขอบคุณเป็นอย่างสูงที่มูลนิธิ 14 ตุลา ไว้ใจให้ตนมากล่าวปาฐกถาครบรอบ 50 ปี 14 ตุลา ทั้งที่เกิดหลังเหตุการณ์นี้ถึง 13 ปี และกว่าจะเข้าใจที่มาที่ไปของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญนี้ก็จนเริ่มเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย การได้รับโจทย์มาพูดครั้งนี้จึงท้าทายมาก
หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์หรือแลไปข้างหน้าด้วยมุมมองคนรุ่นใหม่เพียงอย่างเดียว จึงตัดสินใจเลือกเสนอหัวข้อ ‘50 ปี 14 ตุลา: อำนาจ เวลา ประชา โลกร้อน และแชตจีพีที’ ซึ่งเป็นการใช้บทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนที่สังเกตการณ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ถามว่า ‘การเมือง’ (Politics) คืออะไร เพราะนี่คือร่มใหญ่ที่ห่มคลุมคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ซึ่งได้สรุปเป็นประโยคสั้นๆ ว่า การเมืองคือการจัดสรรอำนาจระหว่างกลุ่มคนในสังคม นั่นคือการเมืองที่รู้จัก
แล้วการเมืองใน ‘ระบอบประชาธิปไตย’ มันคืออะไรแน่ ทำไมคนจึงบอกว่ามันเป็นระบอบที่เลวน้อยที่สุด ทำไมมันจึงดีกว่าฟาสซิสต์ ดีกว่าคอมมิวนิสต์ ดีกว่าสังคมนิยม ทำไมพัฒนาการประชาธิปไตยไทยจึงยังคงลุ่มๆ ดอนๆ
พบว่ามี 3 ปัจจัยหลักๆ ดังนี้
- ประชาธิปไตยคือระบอบที่ประชาชนมีสิทธิในการเลือกผู้ปกครองผ่านการเลือกตั้ง นี่คือปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยแตกต่างจากการปกครองรูปแบบอื่นๆ ที่ประชาชนไม่มีสิทธิเลือกผู้ปกครองด้วยตัวเอง
- นอกจากการเลือกผู้ปกครองแล้ว ประชาชนยังสามารถตรวจสอบการทำงานของผู้ปกครองได้ นี่คือมิติที่คนทั่วไปอาจมองข้าม โดยเฉพาะในสังคมไทย ทุกคนรู้ว่าเรามีสิทธิเลือกตั้ง แต่ไม่ค่อยรู้ว่าเรามีกลไกในการตรวจสอบอำนาจอย่างไร
- ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของประเทศ
นครินทร์ยังกล่าวถึงระบอบประชาธิปไตยที่ควรตั้งหลักให้ชัดคือ ‘ค่านิยมพื้นฐานของประชาธิปไตย’ มีอยู่ 7 ข้อ หากมีข้อใดข้อหนึ่งขาดตกบกพร่องไป ประชาธิปไตยที่เราพูดถึงกันอยู่อาจไม่สมบูรณ์
- สิทธิ ประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิขั้นพื้นฐานภายใต้รัฐธรรมนูญ
- เสรีภาพ ประชาชนทุกคนย่อมมีเสรีภาพในความคิดและการแสดงออกภายใต้กฎหมาย
- ความเสมอภาค ประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมและเสมอภาคในการดำรงอยู่ร่วมกันในสังคม
- ความยุติธรรม รูปธรรมของความยุติธรรมก็คือตัวบทกฎหมาย ซึ่งลักษณะของกฎหมายที่ควรจะเป็นคือสิ่งที่เรียกว่า ‘Rule of Law’ หรือหลักนิติธรรม แปลตรงตัวว่า ‘กฎของกฎหมาย’ หัวใจคือความพยายามในการใช้ระบบกฎหมายเพื่อควบคุมการใช้อำนาจรัฐให้เป็นไปด้วยความเป็นธรรม และเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่
- ความเป็นพลเมือง (Citizenship)
- ความหลากหลาย (Diversity)
- ความโปร่งใส (Transparency)
และยังพูดถึง ‘อำนาจ 3 แกน’ รูปแบบอำนาจที่มองเห็นได้ชัดเจนในสังคมไทย ดังนี้
อำนาจแรกคือ ‘อำนาจทางการเมือง’ เป็นอำนาจที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา คืออำนาจในการบริหารประเทศผ่าน 3 กลไกหลักๆ คือฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ นี่คือกลไกพื้นฐานของรัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
แต่สำหรับประเทศไทย นับตั้งแต่มีการร่างรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 เป็นต้นมา เรามีกลไกพิเศษที่เพิ่มเข้ามา เรียกว่า ‘องค์กรอิสระ’ ซึ่งมีบทบาทและอำนาจทางการเมืองสูงมาก โดยเฉพาะในระยะหลัง
อำนาจรูปแบบที่สอง ‘อำนาจทางเศรษฐกิจ’ มองผิวเผินแล้วเหมือนจะไกลตัว ดูไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนคนทั่วไป แต่ความจริงแล้วมันส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อธิบายอย่างง่ายที่สุด มันคืออำนาจในการเข้าถึงแหล่งทรัพยากร อาจสามารถเข้าได้แต่เพียงผู้เดียว เพียงกลุ่มเดียว หรืออาจเปิดกว้างมากกว่านั้น
อำนาจรูปแบบสุดท้ายคือ ‘อำนาจทางวัฒนธรรม’ มีลักษณะเป็น Soft Power แต่มีอิทธิพลต่อผู้คนสูงมาก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการใช้อำนาจผ่านสื่อต่างๆ ไล่ตั้งแต่สื่อดั้งเดิมอย่างหนังสือ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ จนถึงยุคที่คนเสพสื่อผ่านโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน
นี่คืออำนาจที่ดูเหมือนจับต้องยาก แต่ทรงพลังอย่างยิ่ง เพราะมันสามารถปลูกฝังความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ มีอิทธิพลสูงในระดับที่ทำให้เรารักหรือศรัทธาใครสักคนได้อย่างไม่มีข้อแม้ แต่ขณะเดียวกัน ก็สามารถบ่มเพาะความเกลียดชังระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมได้ในระดับที่ยากจะจินตนาการ
ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา จะพบว่าอำนาจทั้ง 3 รูปแบบที่กล่าวมา ต่างมีบทบาทและอิทธิพลต่อสังคมไทยมากน้อยต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับว่าใครคือ ‘ขั้วอำนาจหลัก’ ที่เข้ามายึดกุมอำนาจในช่วงเวลานั้นๆ
ใครคือเจ้าของอำนาจที่แท้จริง
เมื่อพูดถึงคำว่า ‘อำนาจ’ นอกจากการแยกแยะรูปแบบของอำนาจดังที่กล่าวมา อีกปัจจัยสำคัญที่ต้องหยิบยกมาพิจารณาคือ กลุ่มหรือขั้วอำนาจ ที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการบริหารอำนาจรูปแบบต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลา
ตลอดระยะเวลา 91 ปีนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง กลุ่มขั้วอำนาจเก่าล้วนเป็นฝ่ายคุมเกมเหนือกว่ามาโดยตลอด ผ่านการบริหารอำนาจทั้ง 3 รูปแบบที่กล่าวไว้ข้างต้น ไม่มีสักหนที่กลุ่มคนในฝั่ง ‘ขั้วอำนาจใหม่’ หรือ ‘วิสัยทัศน์ใหม่’ จะได้รับชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อาจเป็นฝ่ายพลิกกลับมาคุมเกมได้บ้าง แต่ก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ
ไม่เว้นแม้กระทั่งเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่ว่ากันว่าเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของขบวนการนักศึกษาและประชาชน เป็นหมุดหมายสำคัญของการเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ คืนประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตยหลังตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการและวังวนรัฐประหารมาหลายทศวรรษ
มองย้อนไป ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นคือหนึ่งในจุดหมายสำคัญของการเมืองไทย แต่ประเด็นที่ไม่ค่อยมีใครตั้งคำถามคือ เหตุใดชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในครั้งนั้นจึงมีระยะเวลาแสนสั้นเหลือเกิน มิหนำซ้ำยังลงเอยด้วยบาดแผลที่ยากจะลบลืม และกลายเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของวังวนเดิมๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า
“หากวิเคราะห์ตามกรอบของขั้วอำนาจใหม่และขั้วอำนาจเก่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า กลุ่มขั้วอำนาจเก่าสามารถบริหารจัดการอำนาจแต่ละรูปแบบได้อย่างแยบยล จนสามารถยึดกุมและรักษาอำนาจในสังคมไทยไว้ได้เสมอมา”
อ่านปาฐกถาฉบับเต็ม: