×

ย้อนอ่านปาฐกถา ‘นครินทร์ วนกิจไพบูลย์’ 50 ปี 14 ตุลา: อำนาจ เวลา ประชา โลกร้อน และแชตจีพีที

14.10.2023
  • LOADING...
ปาฐกถา เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ 50 ปี 14 ตุลา

THE STANDARD ชวนย้อนฟังปาฐกถาพิเศษ 50 ปี 14 ตุลา อำนาจ เวลา ประชา โลกร้อน และแชตจีพีที โดย เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว THE STANDARD

 

 

“หมุนเข็มนาฬิกากลับกี่ครั้ง เข็มก็เดินหน้าเสมอ” – นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

‘เวลา’ เป็นแนวคิดที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่ออธิบายลำดับของเหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในธรรมชาติและสังคม

 

เวลา สามารถเป็นปัจจัยที่เร่งหรือชะลอการเปลี่ยนแปลงได้ ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สามารถเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ปี ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอาจใช้เวลาหลายสิบปี หรือหลายศตวรรษ

 

14 ตุลาคม 2516

เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการเมืองไทย และยังคงส่งผลจนถึงทุกวันนี้… 

 

เสาหลัก ‘ประชาธิปไตย’

 

ท่านผู้มีเกียรติครับ 

 

ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาร่วมกันรำลึกถึงวีรชน 14 ตุลา ผมขอขอบคุณเป็นอย่างสูงที่มูลนิธิ 14 ตุลา ไว้ใจให้ผมกล่าวปาฐกถาครบรอบ 50 ปี 14 ตุลา ทั้งที่ผมเกิดหลังเหตุการณ์นี้ถึง 13 ปี 

 

และกว่าจะเข้าใจที่มาที่ไปของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญนี้ก็จนเริ่มเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย การได้รับโจทย์มาพูดครั้งนี้จึงท้าทายมาก 

 

ดังนั้น แทนที่จะมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์หรือแลไปข้างหน้าด้วยมุมมองคนรุ่นใหม่เพียงอย่างเดียว ผมจึงตัดสินใจเลือกเสนอหัวข้อ ‘อำนาจ เวลา ประชา โลกร้อน และแชตจีพีที’

 

ซึ่งเป็นการใช้บทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนที่สังเกตการณ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ หนังสือวิชาการ และการได้พูดคุยและสัมผัสมุมมองแนวคิดที่แตกต่างจากคนหลากหลายรุ่น หลายอาชีพ หลายฐานะทางสังคม ผนวกกับความพยายามในการบูรณาการศาสตร์หลายศาสตร์ ตั้งแต่รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ไปจนถึงคณิตศาสตร์ของปัญญาประดิษฐ์

 

ก่อนอื่นผมขอเริ่มจากคำถามที่ว่า ‘การเมือง’ (Politics) คืออะไร เพราะนี่คือร่มใหญ่ที่ห่มคลุมคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ไว้อีกที 

 

จากการค้นคว้า และจากการสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านมา ผมได้ข้อสรุปเป็นประโยคสั้นๆ ว่า การเมืองคือ การจัดสรรอำนาจ ระหว่างกลุ่มคนในสังคม นั่นคือการเมืองที่ผมรู้จัก

 

คำถามต่อมาคือ แล้วการเมืองใน ‘ระบอบประชาธิปไตย’ ที่เรายึดถือกันอยู่นั้น มันคืออะไรกันแน่ 

 

ทำไมคนจึงบอกว่ามันเป็นระบอบที่เลวน้อยที่สุด ทำไมมันจึงดีกว่าฟาสซิสต์ ดีกว่าคอมมิวนิสต์ ดีกว่าสังคมนิยม 

 

ทำไมพัฒนาการของประชาธิปไตยไทยจึงยังคงลุ่มๆ ดอนๆ

 

 

เมื่อลองค้นไปถึงรากศัพท์ ผมพบว่ามันมาจากสองคำ คือคำว่า ‘ประชา’ กับ ‘อธิปไตย’ หรือในภาษากรีกคือคำว่า ‘Demos’ (The People) และ ‘Kratos’ (The Rule)

 

‘ประชาธิปไตย’ (Democracy) จึงมีความหมายว่า ระบอบการปกครองที่มีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง นี่คือคอนเซปต์พื้นฐานที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ

 

เมื่อนิยามเป็นเช่นนี้ ประเด็นที่ผมสงสัยต่อก็คือ รูปธรรมของคำว่า ‘ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ’ คืออะไร ผมพบว่ามี 3 ปัจจัยหลักๆ ดังนี้

 

1. ประชาธิปไตย คือระบอบที่ประชาชนมี สิทธิ ในการเลือกผู้ปกครองผ่านการเลือกตั้ง นี่คือปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยแตกต่างจากการปกครองรูปแบบอื่นๆ ที่ประชาชนไม่มีสิทธิเลือกผู้ปกครองด้วยตัวเอง

 

2. นอกจากการเลือกผู้ปกครองแล้ว ประชาชนยังสามารถ ตรวจสอบ การทำงานของผู้ปกครองได้ นี่คือมิติที่คนทั่วไปอาจมองข้าม โดยเฉพาะในสังคมไทย ทุกคนรู้ว่าเรามีสิทธิเลือกตั้ง แต่ไม่ค่อยรู้ว่าเรามีกลไกในการตรวจสอบอำนาจอย่างไร

 

ในแง่นี้ หากพูดในมุมของคนทำสื่อ ผมคิดว่าสื่อมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำหน้าที่ตรวจสอบผู้มีอำนาจภายใต้การเมืองระบอบประชาธิปไตย

 

3. ประชาชนต้อง มีส่วนร่วม ในการกำหนดนโยบาย รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของประเทศ

 

เมื่อพูดถึงระบอบประชาธิปไตย ประเด็นถัดมาที่ผมคิดว่าเราควรตั้งหลักให้ชัดคือเรื่อง ‘ค่านิยมพื้นฐานของประชาธิปไตย’ 

 

 

เท่าที่ไล่เรียงดู ผมคิดว่ามีอยู่ 7 ข้อด้วยกัน หากมีข้อใดข้อหนึ่งขาดตกบกพร่องไป ประชาธิปไตยที่เราพูดถึงกันอยู่อาจไม่สมบูรณ์ 

 

1. สิทธิ ประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิขั้นพื้นฐานภายใต้รัฐธรรมนูญ

2. เสรีภาพ ประชาชนทุกคนย่อมมีเสรีภาพในความคิดและการแสดงออกภายใต้กฎหมาย

3. ความเสมอภาค ประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมและเสมอภาคในการดำรงอยู่ร่วมกันในสังคม

4. ความยุติธรรม รูปธรรมของความยุติธรรมก็คือตัวบทกฎหมาย ซึ่งลักษณะของกฎหมายที่ควรจะเป็นคือสิ่งที่เรียกว่า ‘Rule of Law’ หรือหลักนิติธรรม แปลตรงตัวว่า ‘กฎของกฎหมาย’ หัวใจคือความพยายามในการใช้ระบบกฎหมายเพื่อควบคุมการใช้อำนาจรัฐให้เป็นไปด้วยความเป็นธรรม และเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่

 

แต่น่าเสียดายที่ในหลายสังคมรวมถึงสังคมไทย กฎหมายที่เรามีนั้นเป็นไปในลักษณะของ ‘Rule by Law’ เสียมากกว่า กล่าวคือ เป็นกฎเกณฑ์ที่นักกฎหมายจะนำเทคนิคกฎหมายมากล่าวอ้างเพื่อเอาเปรียบฝ่ายตรงข้าม และสร้างความสับสนให้กับประชาชน

 

5. ความเป็นพลเมือง (Citizenship)

6. ความหลากหลาย (Diversity)

7. ความโปร่งใส (Transparency)

 

เหตุผลที่ผมต้องยกหลักการเหล่านี้มากล่าวในช่วงต้น เพื่อเป็นการปรับจูนให้ทุกท่านมองเห็นกรอบเดียวกันก่อนว่าภายใต้หลักสากล เมื่อพูดถึงคำว่าประชาธิปไตย มันคืออะไรกันแน่

 

เพราะหลายต่อหลายครั้งเวลาได้ยินคนพูดถึงประชาธิปไตย โดยเฉพาะในบริบท ‘แบบไทยๆ’ ผมสังเกตว่ามันมักจะถูกบิดเบือนไปไกลจากหลักสากลอยู่พอสมควร

 

อำนาจ 3 แกน

 

ประเด็นถัดมา ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ผมอยากสื่อสารในวันนี้ คือสิ่งที่เรียกว่า ‘อำนาจ’ 

 

เวลาเราพูดถึงการเมืองในระบอบประชาธิปไตย หากยึดตามหลักการที่ไล่เรียงมา แน่นอนว่าประชาชนย่อมต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด 

 

คำถามคือ ในบริบทประวัติศาสตร์ การก่อร่างสร้างประชาธิปไตยแบบไทยๆ นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่

 

ถามให้เจาะจงกว่านั้น มีช่วงเวลาใดหรือไม่ที่ประชาชนคนไทยได้เป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง

 

เชื่อว่าหลายท่านคงมีคำตอบอยู่ในใจ แต่สิ่งที่ผมอยากตั้งคำถามและชวนทุกท่านคิดต่อคือ เรามองเห็นอำนาจรูปแบบใดบ้างที่มีบทบาทสำคัญในการหล่อเลี้ยงและประกอบสร้างประชาธิปไตยแบบไทยๆ ในช่วงระยะเวลา 91 ปีที่ผ่านมา

 

 

ในทัศนะของผม รูปแบบอำนาจที่เรามองเห็นได้ชัดเจนในสังคมไทยมี 3 แกนใหญ่ๆ ที่ทับซ้อนกันอยู่ คือ อำนาจทางการเมือง อำนาจทางเศรษฐกิจ และอำนาจทางวัฒนธรรม

 

ผมขอเริ่มที่ ‘อำนาจทางการเมือง’ ก่อน อำนาจนี้ค่อนข้างตรงไปตรงมา ก็คืออำนาจในการบริหารประเทศผ่าน 3 กลไกหลักๆ คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ นี่คือกลไกพื้นฐานของรัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

 

แต่สำหรับประเทศไทย นับตั้งแต่มีการร่างรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 เป็นต้นมา เรามีกลไกพิเศษที่เพิ่มเข้ามา เรียกว่า ‘องค์การอิสระ’ ซึ่งมีบทบาทและอำนาจทางการเมืองสูงมาก โดยเฉพาะในระยะหลัง  

 

สังเกตว่าอำนาจทางการเมืองจะมีลักษณะเป็น Hard Power ใครที่สามารถเข้าถึงหรือควบคุมกลไกต่างๆ ที่ว่ามาได้จะมีอำนาจทางการเมืองสูงมาก โดยเฉพาะกลไกนิติบัญญัติและตุลาการที่มีอำนาจในการให้คุณให้โทษ กระทั่งชี้เป็นชี้ตายแก่คนที่อยู่ภายใต้อำนาจได้ 

 

อำนาจรูปแบบที่ 2 คือ ‘อำนาจทางเศรษฐกิจ’ มองผิวเผินแล้วเหมือนจะไกลตัว ดูไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนคนทั่วไป แต่ความจริงแล้วมันส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

อธิบายอย่างง่ายที่สุด มันคืออำนาจในการเข้าถึงแหล่งทรัพยากร อาจจะสามารถเข้าถึงได้แต่เพียงผู้เดียว เพียงกลุ่มเดียว หรืออาจจะเปิดกว้างมากกว่านั้น

 

สังเกตว่าธุรกิจยักษ์ใหญ่หลายแห่งในปัจจุบัน รวมถึงเจ้าสัวผู้เป็นเจ้าของธุรกิจเหล่านั้น ล้วนสร้างเนื้อสร้างตัวมาจากการสั่งสมอำนาจทางเศรษฐกิจ ผ่านการเข้าถึงและผูกขาดแหล่งทรัพยากรสำคัญไม่มากก็น้อย

 

ที่สำคัญคือ อำนาจสองรูปแบบที่ว่ามา คือ อำนาจทางการเมือง และอำนาจทางเศรษฐกิจ หากพิจารณาให้ดีจะพบว่ามีความเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง กลุ่มผู้มีอำนาจในสังคมไทยต่างใช้ประโยชน์จากการช่วงชิงอำนาจทั้งสองรูปแบบนี้มาทุกยุคสมัย 

 

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการที่นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง รวมถึงผู้นำกองทัพ เข้าไปนั่งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจและกรรมการบริษัทหลายต่อหลายแห่ง ซึ่งปรากฏให้เห็นเรื่อยมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2500 ตรงกับช่วงที่เครือข่ายรัฐบาลเผด็จการ ‘สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส’ ครองอำนาจเบ็ดเสร็จ

 

แม้ในเวลาต่อมาประเทศไทยจะมีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเป็นระยะๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้กุมอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลาล้วนมีเครือข่ายที่เกี่ยวเนื่องทับซ้อนกันในทางใดทางหนึ่ง 

 

อำนาจรูปแบบสุดท้ายคือ ‘อำนาจทางวัฒนธรรม’ มีลักษณะเป็น Soft Power แต่มีอิทธิพลต่อผู้คนสูงมาก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการใช้อำนาจผ่านสื่อต่างๆ ไล่ตั้งแต่สื่อดั้งเดิมอย่างหนังสือ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ จนถึงยุคที่คนเสพสื่อผ่านโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน

 

นี่คืออำนาจที่ดูเหมือนจับต้องยาก แต่ทรงพลังอย่างยิ่ง เพราะมันสามารถปลูกฝังความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์ มีอิทธิพลสูงในระดับที่ทำให้เรารักหรือศรัทธาใครสักคนได้อย่างไม่มีข้อแม้ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถบ่มเพาะความเกลียดชังระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมได้ในระดับที่ยากจะจินตนาการ 

 

ร้ายแรงที่สุดคือทำให้คนร่วมชาติหยิบอาวุธมาฆ่าฟันกันอย่างไร้มนุษยธรรม ดังโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล หนึ่งในแกนนำนักศึกษาที่อยู่ร่วมเหตุการณ์ในเวลานั้น ใช้คำว่า “จำไม่ได้ ลืมไม่ลง”

 

หากพิจารณาบริบทประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา จะพบว่าอำนาจทั้ง 3 รูปแบบที่กล่าวมา คือ อำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ต่างมีบทบาทและอิทธิพลต่อสังคมไทยมากน้อยต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับว่าใครคือ ‘ขั้วอำนาจหลัก’ ที่เข้ามายึดกุมอำนาจในช่วงเวลานั้นๆ 

 

ใครคือเจ้าของอำนาจที่แท้จริง

 

เมื่อพูดถึงคำว่า ‘อำนาจ’ นอกจากการแยกแยะรูปแบบของอำนาจดังที่กล่าวมา อีกปัจจัยสำคัญที่ต้องหยิบยกมาพิจารณาคือ กลุ่มหรือขั้วอำนาจที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการบริหารอำนาจรูปแบบต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลา 

 

 

อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ คริส เบเคอร์ เขียนไว้ในหนังสือ เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ ว่า เราสามารถแบ่งขั้วอำนาจได้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ ขั้วอำนาจเก่า และขั้วอำนาจใหม่ 

 

คำว่า ‘ขั้วอำนาจ’ ในที่นี้ ไม่ได้แบ่งแยกด้วยกลุ่มคนหรือชนชั้น แต่แบ่งด้วยชุดความเชื่อและวิสัยทัศน์ที่คนกลุ่มนั้นๆ มีต่อความเป็นรัฐชาติ

 

ขั้วอำนาจเก่าหรือวิสัยทัศน์ที่ 1 คือกลุ่มคนที่เชื่อมั่นในรัฐที่เข้มแข็ง ยึดมั่นในจารีตประเพณี มีความศรัทธาในอำนาจของสถาบันหลัก คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ 

 

ขั้วอำนาจใหม่หรือวิสัยทัศน์ที่ 2 คือกลุ่มคนที่เชื่อมั่นในอำนาจของประชาชน ยึดมั่นในแนวคิดเรื่องคนเท่ากัน ต่อต้านความเหลื่อมล้ำและการกดขี่ทุกรูปแบบ นี่คือวิสัยทัศน์แบบใหม่ที่มีต้นธารมาจากกลุ่มคณะราษฎร

 

ความขัดแย้งระหว่างสองขั้วอำนาจนี้ปรากฏให้เห็นเป็นระยะ นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

 

ข้อสังเกตส่วนตัวของผมในเรื่องนี้คือ ตลอดระยะเวลา 91 ปีนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง กลุ่มขั้วอำนาจเก่าล้วนเป็นฝ่ายคุมเกมเหนือกว่ามาโดยตลอด ผ่านการบริหารอำนาจทั้ง 3 รูปแบบดังที่กล่าวไว้ข้างต้น 

 

ไม่มีสักหนที่กลุ่มคนในฝั่ง ‘ขั้วอำนาจใหม่’ หรือ ‘วิสัยทัศน์ใหม่’ จะได้รับชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อาจเป็นฝ่ายพลิกกลับมาคุมเกมได้บ้าง แต่ก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ 

 

ไม่เว้นแม้กระทั่งเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่ว่ากันว่าเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของขบวนการนักศึกษาและประชาชน เป็นหมุดหมายสำคัญของการเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ คืนประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตยหลังตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการและวังวนรัฐประหารมาหลายทศวรรษ

 

มองย้อนไป ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นคือหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของการเมืองไทย แต่ประเด็นที่ไม่ค่อยมีใครตั้งคำถามคือ เหตุใดชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในครั้งนั้นจึงมีระยะเวลาแสนสั้นเหลือเกิน มิหนำซ้ำยังลงเอยด้วยบาดแผลที่ยากจะลบลืม และกลายเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของวังวนเดิมๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า 

 

หากวิเคราะห์ตามกรอบของขั้วอำนาจใหม่และขั้วอำนาจเก่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า กลุ่มขั้วอำนาจเก่าสามารถบริหารจัดการอำนาจแต่ละรูปแบบได้อย่างแยบยล จนสามารถยึดกุมและรักษาอำนาจนำในสังคมไทยไว้ได้เสมอมา 

 

แต่หากวิเคราะห์ให้ลึกลงไป การจะตอบคำถามนี้ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องแยกแยะให้ละเอียดว่า ขั้วอำนาจหลักในแต่ละช่วงเวลาประกอบไปด้วยคนกลุ่มไหนบ้าง แล้วแต่ละกลุ่มมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจต่อกันอย่างไร 

 

 

ประเทศไทยกับขบวนรถไฟ 5 ชั้น

 

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผมขออนุญาตพาทุกคนขึ้นรถไฟขบวนพิเศษที่ชื่อว่าประเทศไทย รถไฟขบวนนี้มีทั้งหมด 5 โบกี้ แต่ละโบกี้มีผู้โดยสารเป็นประชาชนคนไทย แบ่งแยกตาม ‘กลุ่ม’ หรือ ‘พลัง’ ตามที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคยจำแนกไว้ในปาฐกถารำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อปี 2562

 

กลุ่มหรือพลังดังกล่าว ประกอบด้วย

 

  1. ฝ่ายสถาบันกษัตริย์และเครือข่าย (Monarchy and Its Network)

 

  1. ฝ่ายข้าราชการ สถาบันทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารบก (Military-The Army) 

 

  1. ฝ่ายเงินทุน นักธุรกิจ นายทุน (Money-Capital-Business Faction)

 

  1. ฝ่ายชนชั้นกลาง และสื่อมวลชน (Middle Class and Mass Media)

 

  1. ฝ่ายมวลชน และพระสงฆ์ (Mass and Monk) 

 

เหตุผลที่ต้องจำแนกสมาชิกในสังคมเป็น 5 กลุ่มนี้ อาจารย์ชาญวิทย์ชี้ว่า ลำพังแค่การแบ่งด้วย ‘ขั้วอำนาจเก่า/พลังเก่า/วิสัยทัศน์เก่า’ และ ‘ขั้วอำนาจใหม่/พลังใหม่/วิสัยทัศน์ใหม่’ อาจไม่เพียงพอต่อการศึกษาและทำความเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยในมิติที่ลึกซึ้ง ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง

 

แต่สิ่งที่ผมสนใจและเป็นประเด็นที่อยากนำมาต่อยอดในปาฐกถาครั้งนี้คือ การย้อนทบทวนและวิเคราะห์ว่า นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เป็นต้นมา พลังทั้ง 5 กลุ่มที่ว่ามาสามารถเข้าถึงและบริหารอำนาจรูปแบบต่างๆ ทั้งอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา 

 

เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ผมขอแบ่งเป็น 4 ช่วงเวลา โดยยึดจาก ‘ความมั่นคง’ ของรัฐบาลและระบอบการปกครอง ตามที่อาจารย์อะกิระ ซุเอะฮิโระ (Akira Suehiro) เขียนไว้ในหนังสือ การพัฒนาอุตสาหกรรมแบบไล่กวด: เส้นทางและอนาคตของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (Catch-Up Industrialization: The Trajectory and Prospects of East Asian Economies) ดังนี้

 

ช่วงที่ 1: รัฐบาลมั่นคง และระบอบการปกครองมั่นคง (ปี 2490-2531)

 

ช่วงที่ 2: รัฐบาลไม่มั่นคง แต่ระบอบการปกครองมั่นคง (ปี 2531-2544)

 

ช่วงที่ 3: รัฐบาลมั่นคง แต่ระบอบการปกครองไม่มั่นคง (ปี 2544-2549)

 

ช่วงที่ 4: รัฐบาลไม่มั่นคง และระบอบการปกครองไม่มั่นคง (ปี 2549 – ปัจจุบัน)

 

หากเปรียบประเทศไทยเป็นรถไฟ ในขณะที่เรากำลังเคลื่อนไปข้างหน้า มีรถไฟอีกหลายขบวน หลายประเทศที่กำลังมุ่งหน้าไปพร้อมๆ กับเรา บ้างนำหน้าไปไกล บ้างจ่อท้ายมาติดๆ จุดหมายปลายทางของทุกขบวนนั้นไม่ต่างกัน คือการยกระดับประเทศให้พัฒนา นำพาผู้โดยสารซึ่งในที่นี้ก็คือประชาชน ไปสู่การมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คล้ายกับเป้าหมายของธนาคารโลก (World Bank) ที่ว่า ‘To end extreme poverty and to promote shared prosperity’

 

แน่นอนว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนหัวรถจักรคือรัฐบาลที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศในแต่ละช่วงเวลา หมายความว่ากลุ่มคนเหล่านี้คือคนที่มีส่วนในการบริหาร ‘อำนาจทางการเมือง’ โดยตรง 

 

ทว่าเมื่อพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่าแต่ละรัฐบาลนั้นมีส่วนผสมของกลุ่มและพลังที่หลากหลาย ฉากหน้าที่เราเห็นชัดเจนคือข้าราชการ ทั้งข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร นายทุน และชนชั้นกลาง รวมถึงชนชั้นรากหญ้าที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นตัวแทนในสภา แต่กลุ่มที่มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังในบริบทการเมืองไทยเสมอมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นกลุ่มเครือข่ายขุนนางเก่า

 

ต่อจากนี้ผมจะไล่เรียงให้เห็นภาพแบบพอสังเขปว่า ในแต่ละช่วงเวลา กลุ่มและพลังทั้ง 5 กลุ่ม สามารถเข้าถึงและยึดกุมอำนาจทั้ง 3 แกนหลักในรถไฟขบวนนี้ได้อย่างไร 

 

ย้อนไปช่วงก่อนปี 2475 ในยุคที่ประเทศเรายังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พลังและกลุ่มในสังคมไทยมีแค่ 2 กลุ่มหลักๆ เท่านั้น คือ กลุ่มที่ 1 สถาบันกษัตริย์และเครือข่าย กับกลุ่มที่ 5 คือประชาชนคนทั่วไป ช่วงเวลานี้กลุ่มที่ถือครองอำนาจนำในสังคมไทยไว้อย่างเบ็ดเสร็จคือสถาบันกษัตริย์

 

อย่างไรก็ดี ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนการเปลี่ยนแปลงในเดือนมิถุนายน ปี 2475 มีความเคลื่อนไหวสำคัญคือการก่อตั้งกลุ่ม ‘คณะราษฎร’ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติสยามในเวลาต่อมา

 

กลุ่มและพลังใหม่ที่เริ่มมีบทบาทขึ้นมาในช่วงนี้คือกลุ่มข้าราชการทหารและพลเรือน ส่วนหนึ่งคือกลุ่มลูกหลานของขุนนางเก่าที่มีโอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศ ได้สัมผัสแนวคิดใหม่ๆ ด้านการเมืองการปกครอง โดยเฉพาะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่กำลังแพร่หลายในชาติตะวันตก จึงมีความคิดอยากเปลี่ยนแปลงประเทศตามแนวทางดังกล่าว 

 

เป็นที่มาของการรวบรวมสมาชิกคนไทยที่มี ‘วิสัยทัศน์ใหม่’ ทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างแดน ก่อตั้งเป็นกลุ่มคณะราษฎร มีสมาชิกแรกเริ่ม 114 คน ประกอบด้วยข้าราชการทหารและพลเรือน สายพลเรือนนำโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), สายทหารเรือนำโดย นาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน), สายทหารบกชั้นยศรองนำโดย พันตรีหลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) และสายนายทหารชั้นยศสูงนำโดย พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)

 

บุคคลเหล่านี้ในเวลาต่อมาถูกเรียกว่า ‘ปัญญาชน’ เป็นตัวตั้งตัวตีในการเปลี่ยนประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยยังธำรงไว้ซึ่งสถาบันมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของประเทศ 

 

ปัจจัยสำคัญคือ เล็งเห็นว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้ เป็นระบอบที่ทำให้ประเทศชาติล้าหลัง และมองว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองเดียวที่ได้รับความนับถือในประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า

 

ขณะเดียวกันยังตระหนักถึงภัยจากจักรวรรดินิยมจากอังกฤษและฝรั่งเศสที่มีดินแดนติดกับสยามทั้งสองทิศ โดยมองว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ใช้เวลานานในการก่อให้เกิดประชาธิปไตย กล่าวคือ มีการประวิงเวลามาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

ประเด็นที่ผมอยากชี้ให้เห็นในส่วนนี้คือ ร่องรอยความขัดแย้งและการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างกลุ่มและพลังเดิมคือสถาบันกษัตริย์ กับกลุ่มและพลังใหม่ที่นำโดยข้าราชการที่มีแนวความคิดก้าวหน้า

 

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ คณะราษฎรดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีการเชิญ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ทั้งๆ ที่มิใช่ ‘สมาชิกคณะราษฎร’ นับเป็นครั้งแรกของการเปลี่ยนผ่านอำนาจบนหัวขบวนรถไฟ จากเดิมที่ขับเคลื่อนโดย ‘รัฐบาลของกษัตริย์’ เป็น ‘รัฐบาลของพลเรือน’

 

 

ช่วงที่ 1: รัฐบาลมั่นคง และระบอบการปกครองมั่นคง (ปี 2490-2531)

 

ช่วงแรกในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย แกนนำคนสำคัญของคณะราษฎรทั้ง ปรีดี พนมยงค์, จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ พระยาพหลพลพยุหเสนา

 

ล้วนมีบทบาทและอิทธิพลอย่างสูงในทางการเมืองและสังคมของประเทศไทย ตลอดช่วงเวลากว่าสองทศวรรษนับจากการปฏิวัติสยามปี 2475

 

อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ จากเดิมที่อยู่ในมือของกลุ่มสถาบันกษัตริย์และเครือข่าย เริ่มเปลี่ยนถ่ายมาสู่กลุ่มข้าราชการ นำโดยทหาร

 

รัฐบาลที่ก่อตั้งโดยคณะราษฎรบริหารประเทศเป็นระยะเวลาประมาณ 15 ปี โดยระหว่างนั้นมีความขัดแย้งกับกลุ่มอำนาจเก่าหรือขบวนการกษัตริย์นิยมอยู่เป็นระยะๆ จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง บรรยากาศการเมืองไทยขณะนั้นเอื้อต่อการประนีประนอม มีการนิรโทษกรรมกบฏต่อรัฐบาลคณะราษฎร 

 

ทว่าหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในปี 2489 กลุ่มกษัตริย์นิยมสบช่องทวงคืนอำนาจ และคิดกำจัดผู้นำคณะราษฎรคนสำคัญ 2 คน คือ ปรีดี พนมยงค์ และ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นำไปสู่การรัฐประหารในปี 2490 

 

เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นจุดเปลี่ยนขั้วอำนาจอีกครั้ง กล่าวคือ กลุ่มคณะราษฎรสูญสิ้นบทบาทและอำนาจทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง เหลือสมาชิกเพียงคนเดียวคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและผู้นำสูงสุดของกองทัพในเวลาต่อมา ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์ให้กลับคืนสู่ความนิยมอีกครั้ง

 

ณัฐพล ใจจริง ผู้เขียนหนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี วิเคราะห์เกมช่วงชิงอำนาจในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ว่า

 

“พระมหากษัตริย์และกลุ่มกษัตริย์นิยมสร้างพันธมิตรกับหลายกลุ่ม
บางครั้งร่วมกับพลเรือน บางครั้งร่วมกับทหาร
บางครั้งร่วมกับทหารใหม่เพื่อล้มทหารเก่า
จนสุดท้ายสามารถกำจัดคณะราษฎรและสถาปนาคติ 
‘อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ’ กับระบอบเผด็จการทหาร ภายใต้ชื่อ
ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

 

ดังนั้น นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2490 เรื่อยมาจนถึงช่วงก่อนเหตุการณ์ ‘วันมหาวิปโยค’ 14 ตุลาคม 2516 อาจเรียกได้ว่าเป็นยุคที่ ‘รัฐบาลมั่นคง และระบอบการปกครองมั่นคง’ ภายใต้การบริหารอำนาจโดยกลุ่มและพลัง 2 กลุ่มหลัก คือ สถาบันกษัตริย์ และข้าราชการทหาร

 

อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาดังกล่าวมีอีกหนึ่งปัจจัยที่จำเป็นต้องกล่าวถึง คืออิทธิพลจากกระแสเศรษฐกิจและการเมืองโลก 

 

นับตั้งแต่ทศวรรษ 2490 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของสงครามเย็น ประเทศไทยเป็นเวทีการเมืองให้กับประเทศมหาอำนาจที่แข่งขันกันเป็นเจ้าอิทธิพลในภูมิภาคเอเชีย รถไฟขบวนที่ชื่อว่าประเทศไทยจำเป็นต้องอ้าแขนรับอิทธิพลจากค่ายทุนนิยม ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะอิทธิพลจากสหรัฐอเมริกา

 

ในช่วงปี 2503-2518 สหรัฐอเมริกาเป็นแหล่งเงินทุนต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดของไทย และมีบทบาทสำคัญมากในการวางรากฐานทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ 

 

‘น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ’ สโลแกนติดหูตั้งแต่ก่อนเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ภายใต้รัฐบาลของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือรูปธรรมที่ชัดเจนของการยกเครื่องเศรษฐกิจไทยภายใต้ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ นับเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจไทยยุคใหม่ พลิกจากประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาคเกษตรกรรมเป็นหลักไปสู่ภาคอุตสาหกรรม เพื่อทดแทนการนำเข้า

 

ทั้งนี้ จุดประสงค์ที่แท้จริงของสหรัฐฯ คือการใช้ไทยเป็นหัวหอกในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังเบ่งบานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลพลอยได้ที่ตามมาคือการทำให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาพลิกผัน พร้อมการเกิดขึ้นของกลุ่มนายทุนและนักธุรกิจหน้าใหม่ๆ ที่เริ่มสั่งสมอำนาจทางเศรษฐกิจ และกลายเป็นผู้เล่นสำคัญในบริบทเศรษฐกิจ-การเมืองไทยในอีกหลายทศวรรษต่อมา

 

ในแง่ของการช่วงชิงอำนาจทางการเมือง ช่วงเวลาที่ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญคือ ช่วงเวลา 3 ปีนับตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519

 

หลังจากประเทศไทยอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารมายาวนาน โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2500 กลุ่มและพลังที่เป็นชนชั้นนำในเวลานั้น รวมถึงมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา เล็งเห็นว่านี่คือหนึ่งในภัยคุกคามสำคัญ จำเป็นต้องสกัดกั้นให้เด็ดขาด โดยใช้อำนาจทั้ง 3 แกน คือ อำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม

 

ทั้งนี้ กลุ่มและพลังที่เริ่มมีบทบาทขึ้นมาคือนักศึกษาและประชาชนคนทั่วไป ที่ออกมาชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยจนนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา

 

เหตุการณ์ดังกล่าวนับว่าเป็นการแสดงพลังของกลุ่มมวลชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยศัตรูของประชาชนในเวลานั้นคือเครือข่ายเผด็จการ ‘ถนอม-ประภาส-ณรงค์’ ที่สืบทอดอำนาจรัฐมายาวนาน

 

หลังจากประชาชนได้รับชัยชนะ เส้นทางประชาธิปไตยเริ่มแตกหน่ออีกครั้ง แต่ยังไม่ทันผลิบาน รถไฟขบวนนี้กลับวนเข้าสู่อุโมงค์รัฐประหารอีกครั้งภายหลังโศกนาฏกรรมในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

 

ช่วงเวลาดังกล่าวเราจะเห็นอิทธิพลของการใช้อำนาจทางวัฒนธรรม ควบคุมปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่อาจกระทบความมั่นคงของรัฐ ภายใต้ ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ อย่างเข้มงวด ขณะเดียวกันก็ใช้สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือในการสร้างเสริมความนิยมในกลุ่มชนชั้นนำไปพร้อมๆ กัน

 

ล่วงเข้าสู่ทศวรรษ 2520 เศรษฐกิจไทยพัฒนาไปอีกขั้น จุดเปลี่ยนสำคัญเริ่มต้นในยุคที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกในปี 2523 มีการพัฒนาอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ ทั้งจากการทุ่มทุนสร้าง Eastern Seaboard เพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะญี่ปุ่น รวมถึงการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณที่เป็นการบุกเบิกอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมี จนได้รับการขนานนามว่าเป็นยุค ‘โชติช่วงชัชวาล’

 

แง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจคือ ตลอดการดำรงตำแหน่ง 8 ปีเศษ รวม 3 วาระของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นช่วงเวลาที่ก่อให้เกิดวลี ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’ ลักษณะสำคัญคือมีรัฐธรรมนูญ มีสภา และมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

 

ทว่าความพิเศษ หรือ ‘ครึ่งใบ’ ที่ว่านั้น คือการมีนายกรัฐมนตรีที่สัมพันธ์กับกลุ่มทหาร ใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์และเครือข่าย มีการทำงานร่วมกันระหว่างคณะทหารกับคณะรัฐมนตรี และมีกฎหมายที่ให้อำนาจทหารแทรกแซงการเมืองได้ 

 

 

ช่วงที่ 2: รัฐบาลไม่มั่นคง แต่ระบอบการปกครองมั่นคง (ปี 2531-2544)

 

ในยุครัฐบาลทหาร ก่อนหน้าเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 สถานการณ์ที่ ‘รัฐบาลมั่นคง และระบอบการปกครองมั่นคง’ ดำเนินต่อเนื่องมาได้ 

 

แต่เมื่อเข้าสู่ยุครัฐบาลที่มาจากพรรคการเมือง ซึ่งเริ่มตั้งแต่รัฐบาล พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ ในปี 2531 สภาวะการเมืองไทยก็เข้าสู่ยุค ‘รัฐบาลไม่มั่นคง แต่ระบอบการปกครองมั่นคง’ กล่าวคือ ไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีพลังอำนาจพอที่จะครองเก้าอี้ในรัฐสภาเกินกว่าครึ่งหนึ่งได้ 

 

ยุคนี้จึงเป็นยุคของการตั้ง ‘รัฐบาลผสม’ มีการต่อรองและแย่งชิงเก้าอี้รัฐมนตรีในพรรคร่วมรัฐบาลหลายต่อหลายครั้ง โดยตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ พลเอก ชาติชาย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประเด็นที่เป็นปัญหาและถูกโจมตีมากที่สุดคือเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน จนได้รับฉายาว่า ‘บุฟเฟต์คาบิเนต’ (Buffet Cabinet) กล่าวคือ เป็นคณะรัฐมนตรีที่มีกรณีคดโกงเป็นล่ำเป็นสัน เปรียบเหมือนการรับประทานอาหารบุฟเฟต์ที่ทุกคนจ้องตักอาหารใส่จานแบบไม่อั้น

 

เมื่อเผชิญทางตัน รถไฟขบวนเดิมก็หันหลังกลับเข้าอุโมงค์เก่าที่คุ้นเคย คือการรัฐประหารโดย พลเอก สุจินดา คราประยูร ซึ่งแม้ไม่มีการคัดค้านอย่างรุนแรง แต่คณะรัฐประหารก็รีบคืนอำนาจให้ประชาชนโดยการตั้งพลเรือนเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อ พลเอก สุจินดา เตรียมต่อท่ออำนาจก็สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนจำนวนมาก 

 

โดยเฉพาะกลุ่มพลังชนชั้นกลางใหม่ในเมืองที่เริ่มมีฐานะจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ และมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการเข้าสู่อำนาจ ลุกลามไปสู่การชุมนุมประท้วงขับไล่ ก่อนลงเอยด้วยการที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชนอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ปี 2535 

 

ท้ายที่สุด สถานการณ์ก็คลี่คลายหลังในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีรับสั่งให้ตัวแทนคู่ขัดแย้ง คือ พลเอก สุจินดา คราประยูร และ พลตรี จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าฯ ก่อนที่ พลเอก สุจินดา จะตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งในอีกไม่กี่วันถัดมา เพื่อเปิดทางให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ 

 

วิธีการนี้คล้ายคลึงกับกรณีที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระราชดำรัสผ่านโทรทัศน์ในช่วงหัวค่ำ มีใจความสำคัญว่า ผู้นำเผด็จการทหารได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว และทรงแต่งตั้ง สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี 

 

จุดที่น่าสังเกตในช่วงเวลานี้คือ แม้รัฐบาลจะไม่มั่นคง แต่ระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขยังมั่นคงไม่สั่นคลอน มิหนำซ้ำยิ่งทวีความเคารพนับถือในหมู่ประชาชนด้วยพระบารมีในการช่วยคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง

 

 

ช่วงที่ 3: รัฐบาลมั่นคง แต่ระบอบการปกครองไม่มั่นคง (ปี 2544-2549)

 

ยุคต่อมาคือยุครัฐบาลทักษิณ ที่พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น สถานการณ์กลับตาลปัตรแบบพลิกฝ่ามือคือ ‘รัฐบาลมั่นคง ระบอบการปกครองไม่มั่นคง’ กล่าวคือ รัฐบาลใช้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญปี 2540 กุมอำนาจเข้มแข็งอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่อำนาจทั้งหมดไปรวมอยู่ที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร หรือที่เรียกว่า ‘ระบอบทักษิณ’

 

เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง 

 

ด้วยพื้นเพที่เป็นทั้งข้าราชการตำรวจและนักธุรกิจ ทำให้ ทักษิณ ชินวัตร มีแต้มต่อในการเข้าถึงเครือข่ายอำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งสั่งสมมายาวนานตั้งแต่สมัยที่ก้าวเข้าสู่แวดวงการเมืองใหม่ๆ ช่วงต้นทศวรรษ 2530

 

ยิ่งไปกว่านั้น ทักษิณสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากอำนาจทางวัฒนธรรมได้อย่างที่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำได้มาก่อน ทั้งในช่วงก่อนและหลังได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งในปี 2544 

 

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การจัดรายการ ‘นายกฯ ทักษิณพบประชาชน’ ทุกเช้าวันเสาร์ ผ่านคลื่นวิทยุ 92.50 MHz ตามแบบที่ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เดลาโน โรสเวลต์ แห่งสหรัฐฯ คุยข้างเตาผิงกับประชาชน

 

ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสื่อสารและเข้าถึงประชาชนทั่วประเทศ 

 

เมื่อการสื่อสารมาบรรจบกับผลงานที่เป็นรูปธรรม รัฐบาลที่นำโดยพรรคไทยรักไทยสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนรากหญ้าให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ความนิยมในตัวของทักษิณรวมถึงรัฐบาลจึงพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ 

 

ทว่าในอีกมุมหนึ่ง นั่นคือสัญญาณของรอยร้าวครั้งใหม่ที่สะท้อนภาวะ ‘รัฐบาลมั่นคง ระบอบการปกครองไม่มั่นคง’ เนื่องจากกลุ่มและพลังดั้งเดิมที่เคยกุมทั้งอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมไว้ได้ เริ่มเล็งเห็นว่าอำนาจเหล่านั้นกำลังถูกเคลื่อนย้ายถ่ายเทไปยังฮีโร่คนใหม่ที่มีชื่อว่า ทักษิณ ชินวัตร 

 

มองย้อนไป นั่นคือครั้งแรกที่กลุ่มและพลังที่โดยสารอยู่ในโบกี้ท้ายสุด คือกลุ่มมวลชนคนรากหญ้า ได้สัมผัสผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมของคำว่าประชาธิปไตย เกิดเป็นวาทกรรม ‘ประชาธิปไตยกินได้’ และกลายเป็นต้นกำเนิดของกลุ่มมวลชนคนเสื้อแดงในเวลาต่อมา 

 

ผลที่ตามมาคือ ทฤษฎีและวาทกรรม ‘สองนคราประชาธิปไตย’ ที่คนชนบทเป็นผู้เลือกรัฐบาล แต่คนในเมืองเป็นผู้ล้มรัฐบาล จนเกิดการแบ่งแยกชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ กับคนรากหญ้าในต่างจังหวัดออกจากกัน และเป็นจุดเริ่มต้นของทศวรรษแห่งความขัดแย้ง บางตำราใช้คำว่า ทศวรรษที่สูญหาย จากสภาวะการเมืองและเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ฝังรากลึกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

 

 

ช่วงที่ 4: รัฐบาลไม่มั่นคง และระบอบการปกครองไม่มั่นคง (ปี 2549 – ปัจจุบัน)

 

หลังรัฐประหารในปี 2549 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคเลวร้ายที่สุดคือ ‘รัฐบาลไม่มั่นคง ระบอบการปกครองไม่มั่นคง’ กล่าวคือ เกิดคณะรัฐมนตรีหลายชุด แล้วก็ถูกล้มไป การเมืองแบ่งเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายต่อต้านทักษิณ ก่อนจะลุกลามบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งเสื้อเหลือง-เสื้อแดง 

 

แม้จะมีการทำรัฐประหารในปี 2557 แต่ก็ยุติความขัดแย้งได้ชั่วคราว การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม ปี 2562 ทำให้รัฐบาลชั่วคราวของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช. เปลี่ยนเป็นรัฐบาลผสมของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ลักษณะของ ‘รัฐบาลไม่มั่นคง ระบอบการปกครองไม่มั่นคง’ ยังคงเหมือนเดิม 

 

นั่นคือภูมิทัศน์ทางการเมืองที่สืบเนื่องมาตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2549 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

 

ในแง่การเข้าถึงอำนาจทางเศรษฐกิจนั้น หากย้อนไปในอดีต การที่ใครสักคนจะเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ถือเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร ปัจจัยสำคัญคือการเข้าถึงทรัพยากร ลำพังการมีเงินทุนสูงๆ หรือมีอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องเข้าถึงอำนาจการเมืองด้วย 

 

แต่ในปัจจุบัน สถานการณ์เช่นนั้นค่อยๆ เปลี่ยนไปตามการพัฒนาเทคโนโลยีที่เข้ามา ‘ดิสรัปต์’ โลกนี้จากหน้ามือเป็นหลังมือ

 

เทคโนโลยีมอบอำนาจให้กับคนทุกคนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราสามารถเข้าถึงข้อมูลจากทั้งโลกในชั่วพริบตา อะไรเกิดขึ้นที่โตเกียว ลอนดอน นิวยอร์ก ก็สามารถเกิดขึ้นได้ที่เชียงใหม่ในเสี้ยววินาที เทคโนโลยีหลอมรวมเศรษฐกิจ-วัฒนธรรม-ค่านิยมโลกให้เขยิบมาอยู่ใกล้กันเพียงปลายนิ้วคลิก

 

ทุกวันนี้เพียงแค่ทุกคนมีสมาร์ทโฟน มีอินเทอร์เน็ต ก็สามารถเปิดร้านขายของได้ทันทีผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ คนทั่วไปสามารถเป็นพ่อค้าแม่ค้าได้โดยไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย ผู้ประกอบการที่มองเห็น Pain Point หรือความต้องการของตลาดที่ยังไม่มีคนแก้ไขสามารถระดมทุนจนกลายเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นได้

 

อย่างไรก็ดี ยังคงมีบางอุตสาหกรรมที่จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มทุนใหญ่ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจสูง เช่น อุตสาหกรรมพลังงาน ธนาคาร โทรคมนาคม เครื่องดื่มบางประเภท ไปจนถึงอุตสาหกรรมที่ใช้ระบบการสัมปทานโดยรัฐ 

 

เกิดเป็นเครือข่ายอุปถัมภ์ที่นิยมใช้กลยุทธ์เข้าถึงฐานอำนาจ เพื่อต่อรองผลประโยชน์หรือการกีดกันผู้เล่นรายใหม่ๆ ไม่ให้เข้าถึงทรัพยากรที่ถือครองมาเป็นเวลานาน

 

 

อำนาจต่อมาที่ผมอยากพูดถึงในส่วนนี้คือ อำนาจทางวัฒนธรรม เป็นอำนาจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว โดยที่กลุ่มชนชั้นนำ-ขั้วอำนาจเก่าอาจไม่ทันรู้ตัว แต่มีผลอย่างยิ่งต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

ปัจจัยที่เป็นตัวเร่งสำคัญคือเรื่องเทคโนโลยี

 

หากย้อนเวลาไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ช่วงเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เรื่อยมาถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 กลุ่มและพลังที่ยึดกุมอำนาจทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่มีผลต่อความรับรู้ของคนหมู่มาก คือกลุ่มชนชั้นนำ รวมถึงรัฐบาลทหาร 

 

ช่วงทศวรรษ 2500 ภายใต้รัฐบาลเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส แทบไม่มีสื่อกลางที่นำเสนอความคิดใหม่ๆ สู่สาธารณชน หนังสือที่นำเสนอแนวคิดก้าวหน้าถูกเผาทำลาย สื่อมวลชนถูกปิดกั้น ยิ่งไปกว่านั้นคือถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลเผด็จการในการบิดเบือนข้อเท็จจริง ประโคมโฆษณาชวนเชื่อ สุมเชื้อไฟแห่งความเกลียดชัง

 

ดังเช่นกรณีของหนังสือพิมพ์ดาวสยาม และสถานีวิทยุยานเกราะ ที่มีส่วนอย่างยิ่งในการยุยงปลุกปั่นประชาชนให้ใช้ความรุนแรงกับกลุ่มนักศึกษา จนนำไปสู่เหตุการณ์อัปยศในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 

 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่า คนที่ทำหน้าที่เป็น ‘Gate Keeper’ ผู้คุมประตู ซึ่งมีบทบาทในการควบคุมอำนาจทางวัฒนธรรมนั้น ตกอยู่ในมือของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ยึดกุมและบริหารอำนาจทั้ง 3 แกนไว้อย่างเหนียวแน่น 

 

แต่ในฐานะคนทำสื่อยุคปัจจุบัน ผมมีข้อสังเกตส่วนตัวว่า ในอนาคตปรากฏการณ์เช่นนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก หรืออาจไม่มีทางเป็นไปได้เลย ปัจจัยสำคัญคือ ความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร

 

สิ่งที่เกิดขึ้นคือสื่อยุคใหม่จะควบคุมยากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ยุคที่สื่อดั้งเดิมอย่างวิทยุ โทรทัศน์เริ่มมีการเปิดเสรี จากแต่เดิมที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาลและกองทัพ ต่อเนื่องมาถึงยุคที่โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตเริ่มแพร่หลาย เกิดแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ทำให้ทุกคนกลายเป็นสื่อได้ จนถึงการเปลี่ยนแปลงระลอกล่าสุดคือการพัฒนาระบบ Generative AI หรือแชตจีพีที

 

สื่อใหม่และเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบใหม่เปลี่ยนดุลอำนาจทางวัฒนธรรมไปอย่างมหาศาล เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘Super-Empowered Individuals’ คือคนธรรมดาถูกมอบอำนาจจนสามารถกลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่ได้ในชั่วข้ามคืน โดยเฉพาะจากอำนาจทางวัฒนธรรม คือการใช้พื้นที่สื่อของตัวเองให้เป็นประโยชน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ จนกระทั่งสามารถสร้างอิมแพ็กต์บางอย่างแก่สังคมได้

 

หลายกรณีมีคนที่ใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้เพื่อเข้าถึงอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองได้ จากเดิมในอดีตที่กลุ่มและพลังผู้กุมอำนาจหลักมักเริ่มต้นจากการเข้ายึดกุมอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจให้ได้ก่อน แล้วจึงขยายไปสู่อำนาจทางวัฒนธรรม กลายเป็นว่าในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงสิบปีที่ผ่านมา คนจำนวนไม่น้อยเริ่มต้นจากการสั่งสมอำนาจทางวัฒนธรรมก่อน เพื่อให้ตนเข้าถึงอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจได้ในภายหลัง

 

ตัวอย่างที่ดีที่สุดที่สะท้อนว่าการเข้าถึงอำนาจทางวัฒนธรรมเปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง คือกรณีของ ‘พิมรี่พาย’ อินฟลูเอ็นเซอร์และแม่ค้าออนไลน์ชื่อดัง

 

ลองนึกภาพเล่นๆ ว่าหากย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน คนอย่างคุณพิมรี่พายไม่มีทางแจ้งเกิดได้ภายใต้บริบทการสื่อสารและเทคโนโลยีที่มีในขณะนั้น

 

แต่ด้วยบริบทของสื่อและเทคโนโลยียุคปัจจุบันทำให้พิมรี่พายสามารถสร้างตัวตนจนขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจได้ และกลายเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อคนหมู่มากได้ในที่สุด

 

นี่คือผลจากความเปลี่ยนแปลงอำนาจทางวัฒนธรรมอย่างมหาศาล ที่สำคัญคือมันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ขั้วอำนาจเดิมตามไม่ทัน ปรับตัวช้า และอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าพวกเขาไม่สามารถใช้วิธีเก่าๆ ในการควบคุม ยึดกุม กระทั่งรักษาอำนาจประเภทนี้ได้อีกต่อไป

 

มองในสเกลระดับโลก เอียน เบรมเมอร์ ประธาน Eurasia Group สถาบันวิจัยด้านความเสี่ยงการเมืองโลก ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า เรากำลังเข้าสู่ยุค Technopolar World คือโลกแบ่งขั้วด้วยเทคโนโลยี ประเด็นสำคัญคือ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จะมีอำนาจมากกว่ามหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนด้วยซ้ำ เพราะผลิตภัณฑ์และบริการของเขากุมอำนาจวัฒนธรรมที่เข้าถึงระดับความคิด จิตใต้สำนึก หรือสารเคมีในสมองของผู้ใช้ (User) โดยมีเบื้องหลังพลังบงการพวกเรา นั่นคือความชาญฉลาดของปัญญาประดิษฐ์

 

ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา หลายเหตุการณ์พิสูจน์แล้วว่ารัฐบาลแต่ละประเทศวิ่งตามบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ทัน จึงเกิดปัญหาข่าวปลอม การแทรกแซงการเลือกตั้ง การล้วงข้อมูลส่วนบุคคล อาชญากรรมทางไซเบอร์ และอื่นๆ อีกมากมาย

 

ทว่าปัญหาของยุคโซเชียลมีเดียยังไม่ทันได้รับการแก้ไข ตัวละครอย่าง Generative AI ก็ปรากฏขึ้น พวกมันพัฒนาด้วยอัตราเร่งแบบ Exponential ที่แม้แต่นักวิจัยและพัฒนายังคาดไม่ถึง จนต้องออกมาขอร้องให้หยุดการพัฒนาชั่วคราวเพราะโลกยังไม่พร้อมกับสิ่งนี้ ถึงขั้น ยูวัล โนอาห์ แฮรารี ผู้เขียนหนังสือ Sapiens ออกมาเตือนหลายครั้งว่านี่อาจเป็นการสิ้นสุดของมนุษยชาติ 

 

บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้เปรียบเสมือนรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตัวเอง ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเอง 

 

กลับมาที่การเมืองไทย ภาพสะท้อนที่ชัดเจนที่สุดของปรากฏการณ์นี้คือการเคลื่อนไหวบนท้องถนนและโลกออนไลน์ของคนรุ่นใหม่ ที่เรียกกันในวงการสื่อว่า ‘คนรุ่นโบขาว’ และความสำเร็จของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา 

 

งานวิจัยของอาจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ในช่วงเลือกตั้งปี 2566 ชี้ว่า ตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนตัดสินใจเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ อย่างมีนัยสำคัญ 

 

อดีตนั้นมี 4 ตัวแปรหลักที่ส่งผลต่อการตัดสินใจคือ นโยบาย, ความสัมพันธ์และอิทธิพลของ ‘บ้านใหญ่’ ในพื้นที่, ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ และความชื่นชอบในตัวบุคคล ทว่าในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ซึ่งพรรคก้าวไกลได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งอย่างเหนือความคาดหมาย มีตัวแปรใหม่ที่เพิ่มเข้ามาและเป็นตัวชี้ขาดในช่วงโค้งสุดท้าย เรียกว่า ‘3S’ คือ Story, Speed และ Sensation

 

กล่าวโดยสรุปคือ พรรคก้าวไกลใช้กลยุทธ์การสื่อสารได้อย่างมีพลัง เข้าถึงคนหมู่มากจากเรื่องราวหรือ ‘Story’ ที่แกนนำพรรคขึ้นไปพูดบนเวทีดีเบตและปราศรัย ผ่านวิธีการสื่อสารที่เน้น ‘Sensation’ คือการสร้างอารมณ์และความรู้สึกร่วม โดยมี ‘Speed’ ความเร็วของเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนได้ชั่วข้ามคืน

 

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้การเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบใหม่ เช่น TikTok ที่มีเบื้องหลังคือ AI ซึ่งพรรคก้าวไกลสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นการใช้อำนาจทางวัฒนธรรมเพื่อนำไปสู่อำนาจทางการเมือง 

 

ในแง่นี้ ชัยชนะของพรรคก้าวไกลอาจทำให้ทฤษฎี ‘สองนคราประชาธิปไตย’ ของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่เสนอว่าการเมืองไทยตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ‘คนต่างจังหวัดเลือกรัฐบาล คนกรุงเทพฯ ล้มรัฐบาล’ นั้นอาจหมดอายุขัย ไม่เป็นจริงอีกต่อไป

 

หากพิจารณาในแง่อำนาจ 3 แกนจะเห็นว่า อำนาจทางการเมืองนั้น ผู้กุมอำนาจหลักยังเป็นกลุ่มเดิมเสมอมา อำนาจทางเศรษฐกิจเริ่มคลี่คลายและกระจายไปสู่กลุ่มใหม่ๆ บ้าง ขณะที่อำนาจทางวัฒนธรรมเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ และนับวันจะยิ่งเป็นอำนาจที่ทรงพลังมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

คำถามคือ แล้วเมื่อไรอำนาจทางวัฒนธรรมจะผงาดขึ้นมาชนะอำนาจทางการเมือง

 

5 ปี? 10 ปี? หรืออาจนานกว่านั้น เรื่องนี้ผมยังไม่มีคำตอบเช่นกัน แต่นั่นคือเหตุผลว่าทำไมผมจึงตั้งชื่อปาฐกถาชิ้นนี้โดยใส่คำว่า ‘แชตจีพีที’ เข้ามาด้วย

 

เพราะในอนาคตแชตจีพีทีจะยิ่งทำให้คนคนหนึ่งกลายเป็น Super-Empowered Human ได้ในชั่วข้ามคืน คนธรรมดาจะสามารถเขียนหนังสือเหมือนนักวิชาการระดับเทพได้ กลายเป็นนักธุรกิจที่เก่งที่สุดในโลกได้ เด็กจบใหม่สามารถเขียนแผนกลยุทธ์ได้ไม่ต่างจากผู้บริหารระดับสูง เราสามารถเข้าถึงคนหมู่มากได้โดยการบริหารอำนาจทางวัฒนธรรม 

 

Generative AI และแชตจีพีที จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาอย่างน้อยหนึ่งทศวรรษถัดจากนี้

 

ไม่มีอีกแล้วกับวิทยุยานเกราะ ไม่มีอีกแล้วกับดาวสยาม ไม่มีใครสามารถตามสอดส่องและควบคุมสื่อที่อยู่ในมือทุกคนได้อีกต่อไป

 

บทเรียนและข้อเสนอแนะ

 

ถึงตรงนี้ สิ่งที่ผมรวมถึงใครหลายคนอาจสงสัย คือสังคมไทยจะก้าวต่อไปอย่างไร มีหนทางใดที่จะช่วยให้รถไฟขบวนนี้หลุดพ้นจากวังวนเดิมๆ หรือไม่

 

ในเบื้องต้น หากพิจารณาตามฉากทัศน์ที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ วิเคราะห์ไว้ในปาฐกถาเมื่อปี 2562 ว่า การต่อสู้ในช่วงเวลาถัดจากนี้ระหว่าง 1. ตัวแทนของเครือข่ายอำนาจเดิม บารมีเดิม เงินทุนเดิม ความคิดเดิม ชนชั้นเดิม กับ 2. ตัวแทนของเครือข่ายอำนาจใหม่ บารมีใหม่ เงินทุนใหม่ ความคิดใหม่ ชนชั้นใหม่ มีผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ 3 แบบ คือ

 

1. เสมอกัน

 

กล่าวคือ ขั้วหรือฝ่ายทั้งสองจะต่อสู้กันไปอีกยาวทั้งในและนอกระบบสภา โดยที่ไม่มีฝ่ายใดชนะหรือแพ้เด็ดขาด ดังปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ต้องแลกมาคือความเสียหายต่อสังคมและประเทศชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

 

2. ฝ่ายเดิมชนะ

 

กล่าวคือ ขั้วอำนาจเดิมใช้วิธีการเดิมเพื่อรักษาหรือทวงคืนอำนาจเดิมของตน ผ่าน 2 กลไกหลักคือ การรัฐประหาร และการสร้างกฎเกณฑ์พิสดารผ่านการเขียนรัฐธรรมนูญ

 

3. ฝ่ายใหม่ชนะ

 

กล่าวคือ ขั้วหรือฝ่ายทั้งสองจะต่อสู้กันไปทั้งในและนอกระบบสภาตามแนวทางของตนจนกว่าจะแพ้หรือชนะเด็ดขาด ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดความรุนแรงและสูญเสียครั้งใหญ่ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต

 

แน่นอนว่าด้วยความรู้ความสามารถของผม คงไม่อาจฟันธงหรือชี้ชัดได้ว่าจุดจบจะลงเอยแบบใด แต่ผมมีข้อสังเกตบางประการที่อยากชี้ให้เห็น 

 

ประการแรก การช่วงชิงอำนาจไม่ใช่เรื่องแปลกในประเทศประชาธิปไตยทั่วไป ปรากฏให้เห็นการคัดง้างกันระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมกับเสรีนิยมอยู่เสมอ ผลัดกันชนะและแพ้แล้วแต่ยุคสมัย ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน 

 

ทว่าจุดที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นเรื่องน่าเศร้าอยู่ไม่น้อย คือทุกครั้งที่เราเจอทางตัน แทนที่เราจะต่อสู้และหาทางออกร่วมกันไปตามระบบ ผู้มีอำนาจกลับใช้วิธีตัดจบเกมด้วยการล้มกระดานเสมอ 

 

เหตุการณ์การเลือกตั้งปี 2566 ที่เพิ่งได้นายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา เป็นกระจกสะท้อนความจริงนี้ได้ดี เรามีเครื่องมือ กลไก และคณิตศาสตร์ทางการเมืองที่ห่อหุ้มด้วยนิติศาสตร์ทางอำนาจ ที่ทำให้พรรคอันดับหนึ่งจากมติประชาชนไม่สามารถฝ่าด่านสมาชิกวุฒิสภาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้

 

ข้อสังเกตประการถัดมา ผมเห็นว่าการต่อสู้ทางอำนาจที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาเกือบศตวรรษ ระบอบประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็น ‘แบบไทยๆ’ หรือ ‘แบบครึ่งใบ’ นั้น เป็นเพียงฉากสมมติที่ผู้มีอำนาจตัวจริงเล่นละครตบตาให้เห็นเป็นครั้งคราวว่า ‘อำนาจ’ เป็นสิ่งที่สามารถต่อรองและแบ่งสรรกันได้ แต่เมื่อพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าท้ายที่สุดแล้วการจัดสรรและควบคุมอำนาจนำดังที่ไล่เรียงมาตั้งแต่ต้น เป็นไปในลักษณะของ ‘Winner Takes All’ เท่านั้น 

 

ไม่มีการแบ่งหรือจัดสรรอำนาจตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

 

มีแต่ขาวกับดำ ศูนย์กับหนึ่ง ซ้ายกับขวา

 

จากการศึกษาประวัติศาสตร์ร่วมศตวรรษ

 

และการตรวจสอบเส้นทางของรถไฟที่ชื่อประเทศไทยตลอดกว่าร้อยปีที่ผ่านมา ผมมองไม่ออกว่าเราจะหลุดจากวังวนนี้ได้อย่างไร เราจะเดินหน้ากันต่ออย่างไร ขั้วอำนาจใหม่และวิสัยทัศน์ใหม่จะมีโอกาสได้รับการจัดสรรอำนาจอย่างแท้จริงหรือไม่

 

ผมคิดว่านี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่สิ้นหวังจนก่อตั้งกลุ่ม ‘อยากย้ายประเทศ’

 

ท่ามกลางความมืดมิด ผมนึกถึงประโยคของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่กล่าวไว้ว่า “หมุนเข็มนาฬิกากลับกี่ครั้ง เข็มก็เดินหน้าเสมอ” 

 

หากวิเคราะห์อย่างมีความหวังและมองโลกในแง่ดี ผมคิดว่ามีหนทางที่พอจะเป็นไปได้

 

ในช่วงต้นผมกล่าวถึงอำนาจ 3 แกนหลัก คือ อำนาจทางการเมือง อำนาจทางเศรษฐกิจ และอำนาจทางวัฒนธรรม

 

แต่เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาหน้าที่การงานที่ผมทำอยู่ คือสื่อมวลชน รวมถึงในฐานะพลเมืองของประเทศ ว่าเรามีส่วนช่วยอะไรได้บ้าง จึงตระหนักว่ามีอีก 2 อำนาจใหญ่ๆ ที่เราอาจหลงลืมไป

 

 

อำนาจที่ว่านั้นคือ อำนาจของเวลา และอำนาจทางปัญญา

 

อำนาจทางเวลา คือกาลเวลานั้นมักอยู่ข้างความเปลี่ยนแปลง อยู่ข้างยุคสมัยใหม่เสมอ นาฬิกาจะยังคงเดินไปข้างหน้าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่มีวันย้อนกลับ

 

ฟังดูเหมือนเป็นสัจธรรมที่ธรรมชาติไม่อาจฝืน แต่ต้องไม่ลืมว่าอำนาจทางเวลาจะเกิดขึ้นได้จริงนั้น คนที่อยู่ข้างกาลเวลาก็ต้องลงมือทำอะไรสักอย่างควบคู่กันไปด้วย ไม่ใช่นอนรอ งอมืองอเท้า

 

จากประวัติศาสตร์เราได้เห็นข้อเท็จจริงหนึ่งว่า ขั้วอำนาจเก่ามีพลังในการลงหลักปักฐานทางความคิด และสามารถแพร่กระจายวิสัยทัศน์เหล่านี้จนโน้มน้าวให้คนที่มี ‘แนวคิดใหม่และวิสัยทัศน์ใหม่’ ในช่วงเวลาหนึ่ง ยอมละทิ้งหรือเปลี่ยนอุดมการณ์ได้เมื่อกาลเวลาผ่านไป อย่างที่เราเคยเห็นมาแล้วว่า นักศึกษาและคนเดือนตุลาคมจำนวนไม่น้อยมีแนวคิดที่เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือตามอายุขัยที่เพิ่มขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า “คนหนุ่มสาวที่ไม่เป็นลิเบอรัลนั้นไม่มีหัวใจ คนแก่ๆ ที่ไม่เป็นคอนเซอร์เวทีฟนั้นไม่มีสมอง” หรือ “เมื่อเงินพูด ความยุติธรรมจะเงียบลง”

 

นั่นหมายความว่า อำนาจทางเวลาอาจไม่ได้ทรงพลานุภาพจริงอย่างที่หลายคนคาดหวัง

 

เพราะเมื่อเวลาเปลี่ยน คนก็เปลี่ยนความคิดได้

 

อีกมุมของความอันตรายในการมองโลกแง่ดีเรื่องอำนาจทางเวลามากเกินไป คือสิ่งที่อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ตั้งข้อสังเกตไว้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ใจความสำคัญคือหลักนิติธรรมอันบิดเบี้ยวของไทยในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา กาลเวลาไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย… 

 

อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวไว้ในการปาฐกถา ป๋วย อึ๊งภากรณ์

 

“ประชาชนเหลืออดแล้วกับการแทรกแซงกระบวนการตุลาการเพื่อเป็นเครื่องมือของความมั่นคง และกับการที่สถาบันตุลาการ ‘อยู่เป็น’ ถวายตัวรับใช้รัฐอภิสิทธิ์ ถวายใจรับใช้ผู้ยิ่งใหญ่ แทนที่จะรับใช้ความยุติธรรม นิติรัฐแบบนี้ผิดและจะต้องยุติ พอกันที ประเทศไทย สังคมไทยต้องการการปกครองของกฎหมาย ไม่ใช่การปกครองของผู้ยิ่งใหญ่ด้วยกฎหมาย ไม่ใช่นิติอธรรมอย่างเด็ดขาด” 

 

อาจารย์ธงชัยยังกล่าวถึงอาจารย์ป๋วยด้วยว่า “ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นามนี้หมายถึงความซื่อสัตย์ เรามักเข้าใจว่าความซื่อสัตย์ของท่านหมายถึงการไม่โกงกิน แต่ความซื่อสัตย์ของท่านที่เราไม่ค่อยพูดถึงกันนักคือการไม่ทรยศหลักการที่ท่านยึดถือ ท่านยอมงอไม่ได้ ขอ ‘อยู่ไม่เป็น’ ดีกว่า 

 

“ถึงแม้ว่าจะทำให้ท่านอยู่ไม่ได้ก็ตาม ความสัตย์ประเภทนี้ต้องมีศรัทธาและมีความกล้าหาญที่จะรับผลของการไม่ยอมงอ”

 

อาจารย์กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เคยกล่าวถึงประเด็นนี้เช่นกันว่า 

 

“นักกฎหมายที่ไม่ได้ตระหนักหลักนิติธรรมและหลักประชาธิปไตย คุณกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับคนที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ เพราะคุณไม่ตั้งคำถามเลย”

 

เมื่อมองด้วยมุมของหลักนิติธรรมในรถไฟขบวนที่ชื่อประเทศไทยในรอบศตวรรษที่ผ่านมา นอกจากจะไม่พัฒนาไปในทางที่ควรจะเป็น นับวันกลับยิ่งสะท้อนให้เห็นความบิดเบี้ยวมากขึ้นด้วยซ้ำ

 

แต่ในทางกลับกัน นั่นหมายความว่ากาลเวลาย่อมสามารถเปลี่ยนคนที่เคยมีแนวคิดเก่าและวิสัยทัศน์แบบเก่า ให้เป็นคนที่มีแนวคิดใหม่และวิสัยทัศน์ใหม่ได้เช่นกันใช่หรือไม่

 

ถ้าใช่ แล้วทางออกหรือวิธีการคืออะไร?

 

คำตอบอยู่ที่อำนาจสุดท้าย ซึ่งผมคิดว่าเป็นอำนาจที่มีอานุภาพมากที่สุด มันคืออำนาจแห่งปัญญา

 

ในเมื่อประชาชนคนธรรมดาไม่สามารถเข้าถึงอำนาจทั้ง 3 แกนหลักได้อย่างที่ควรจะเป็น ผมเห็นว่าหนทางเดียวที่เป็นไปได้คือ ต้องเพิ่มอำนาจที่ทรงพลังที่สุดที่ทุกคนมีอยู่ในมือ นั่นคืออำนาจทางปัญญา

 

ในฐานะสื่อมวลชน ภารกิจที่เรายึดมั่นเสมอมาคือการทำหน้าที่นำเสนอข้อมูลความรู้ใหม่ๆ ช่วยเสริมสร้างและบ่มเพาะปัญญาเพื่อให้คนตื่นรู้ เท่าทันการใช้อำนาจที่ไม่ชอบมาพากล ไม่จำนนต่อความไม่ปกติ เพื่อหยุดยั้งวงจรอุบาทว์อย่างที่เคยเป็นมา 

 

สิ่งสำคัญคือกระบวนการเช่นนี้ต้องอาศัยเวลา ไม่สามารถล้มล้าง รื้อถอน ปฏิรูป และปฏิวัติได้ภายในชั่วข้ามคืน ไม่สามารถใช้การประจันหน้า ห้ำหั่น ฟาดฟันระหว่างอำนาจได้ แม้ว่าจะยึดมั่นในหลักการก็ตาม เพราะในบางครั้ง ‘ถูกต้องอาจไม่สำคัญเท่าถูกใจ’

 

เหมือนโควิด-19 ที่เราอาจจะรักษาไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราหยุดการระบาดมันได้ด้วยการจำกัดบริเวณของมัน

 

เหมือนการเลิกทาสของรัชกาลที่ 5 ที่ไม่มีการเสียเลือดเนื้อ เพราะใช้อำนาจของเวลาคู่กับอำนาจของปัญญา

 

ต้นไม้มีฤดูกาลเก็บเกี่ยว ดอกไม้มีฤดูกาลผลิบาน อำนาจของเวลาจึงต้องทำงานควบคู่กับอำนาจของปัญญาอย่างแยกจากกันไม่ออก ต้องเริ่มหยอดเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาตั้งแต่วันนี้

 

 

ในฐานะสื่อมวลชนที่คลุกคลีอยู่กับอำนาจทางวัฒนธรรม สิ่งที่ผมอยากเน้นย้ำคือ เราต้องช่วยกันสร้างวัฒนธรรมแห่งปัญญา เผยแพร่วิสัยทัศน์ใหม่เพื่อสร้างผู้นำที่ยึดในหลักนิติธรรมสู่แวดวงต่างๆ ในสังคม ผู้นำที่ไม่ทรยศหลักการที่ยึดถือ ยอมงอไม่ได้ ขอ ‘อยู่ไม่เป็น’ ดีกว่า เหมือนกับที่อาจารย์ป๋วยทำให้เราเห็นเป็นแบบอย่าง และนั่นจะกลายเป็นกุญแจที่ช่วยปลดล็อกประตูรถไฟ พาเราไปสู่โบกี้ใหม่ๆ ที่ไม่ถูกจำกัดไว้ให้ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ

 

นั่นคือหนทางเดียวที่ผมมองเห็นในตอนนี้ เป็นวิธีการที่ละมุนละม่อมที่สุดโดยไม่จำเป็นต้องแลกกับความสูญเสีย อาจใช้เวลาอีก 50 ปี ฟังดูเหมือนไกล แต่หากวัดจากวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นั่นหมายความว่ารถไฟขบวนนี้อาจเดินทางมาครึ่งทางแล้วก็เป็นได้

 

ในช่วงท้าย ผมอยากเล่าถึงความท้าทายใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบัน นั่นคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ล่าสุดมีการเปลี่ยนนิยามจากโลกร้อน สู่โลกรวน สู่โลกเดือด ถึงขั้นที่เลขาธิการสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส กล่าวว่า มนุษยชาติได้เปิดประตูสู่นรกแล้ว 

 

ประเทศไทยตั้งเป้าหมายร่วมกับประชาคมโลกในการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 (Net Zero 2065) หรืออีก 42 ปีหลังจากนี้ เพื่อรับมือกับวิกฤตสภาวะอากาศในปัจจุบัน 

 

สิ่งที่ผมค้นพบเมื่อไม่นานมานี้คือ แนวคิด ESG (Environmental, Social and Governance) หรือ SDG (Sustainable Development Goals) 17 เป้าหมาย ซึ่งเป็นหัวใจในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระดับสากล ไม่ได้ให้ความสำคัญแค่สิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่ยังเน้นถึงหลักการทางประชาธิปไตยซึ่งถือเป็น ‘Global Mindset’ ที่ประชาคมโลกยึดถือร่วมกัน

 

หัวใจสำคัญที่สุดของ ESG คือตัว G-Governance แปลแบบตรงตัวตามราชบัณฑิตยสถานมีความหมายว่า ‘วิธีการปกครอง’ แต่ความหมายที่คนทั่วไปรับรู้และใช้กันแพร่หลายภายในองค์กรต่างๆ คือ ‘ธรรมาภิบาล’ (Good Governance) หมายถึงการบริหารหรือการปกครองที่มีความโปร่งใส เป็นไปตามครรลองคลองธรรม

 

เป้าหมายที่ 16 ใน SDG คือ Peace, Justice and Strong Institutions ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่สหประชาชาติระบุว่า นอกจากจะสำคัญในตัวมันเองแล้ว ยังเป็นปัจจัยเอื้อ (Enabling Factors) ที่สนับสนุนเป้าหมายอื่นๆ ด้วย

 

หลักนิติธรรมในความหมายของสหประชาชาติจึงผูกพันกับหลักธรรมาภิบาลและประชาธิปไตย หากหลักนิติธรรมเข้มแข็งก็จะเป็นรากฐานสำคัญของธรรมาภิบาลที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นเสาหลักให้กับประชาธิปไตย

 

ย้ำกันอีกครั้งว่า ประชาธิปไตยที่ผมหมายถึงคือนิยามที่ผมเกริ่นตั้งแต่ตอนต้นว่ามันคือระบอบการปกครองที่มีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง คือระบอบที่ประชาชนมี ‘สิทธิ’ ในการเลือกผู้ปกครองผ่านการเลือกตั้ง สามารถ ‘ตรวจสอบ’ การทำงานของผู้ปกครองได้ และต้อง ‘มีส่วนร่วม’ ในการกำหนดนโยบาย แนวทางการบริหารของประเทศ

 

เหตุผลที่ต้องพูดถึงเรื่องนี้ เพราะผมเห็นว่านี่คือสิ่งที่ผู้มีอำนาจในสังคมไทยมองข้าม ไม่ค่อยให้ความสำคัญ ทั้งที่มันควรฝังอยู่ในมโนสำนึกตั้งแต่วินาทีแรกที่เข้ามามีส่วนในการบริหารอำนาจ  

 

ในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง ผู้ใหญ่ที่ผมให้ความเคารพให้ความเห็นกับผมในทำนองว่า “ประเทศไทยไม่ได้ขาดนักธุรกิจเก่งๆ หมอเก่งๆ นักวิชาการเก่งๆ แต่เราขาดนักกฎหมายที่มีความยุติธรรม”

 

เป็นประโยคที่เรียบง่าย แต่ทำให้คิดอะไรต่อได้อีกมากมาย

 

Good Governance – ธรรมาภิบาล และ Rule of Law – หลักนิติธรรม คือสิ่งสำคัญที่หายไปจากจิตสำนึกของสังคมไทย โดยเฉพาะคนที่อยู่ในอำนาจ เราต้องช่วยกันปลูกฝังแนวคิดนี้อย่างสุดกำลัง

 

 

ผ่านอำนาจทางปัญญา และให้อำนาจทางเวลาเป็นพลังส่งให้รถไฟขบวนที่ชื่อว่าประเทศไทยแล่นไปในทิศทางที่ถูกต้อง และคนบนโบกี้ทั้ง 5 ตู้นี้อยู่ร่วมกันได้ตามค่านิยมประชาธิปไตย ตามสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ความเป็นพลเมือง ความหลากหลาย และความโปร่งใส

 

อาจใช้เวลาอีก 25 ปี 50 ปี 75 ปี หรือนานกว่านั้น ผมไม่อาจล่วงรู้ อย่างน้อยที่สุดเราทุกคนต้องช่วยกันมอบพลังให้เข็มนาฬิกานี้ได้เดินอีกครั้ง

 

แล้ววันหนึ่งเวลาจะอยู่ข้างเรา

 

ขอบคุณครับ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X