×

อิสราเอล vs. ฮามาส: วิกฤตตะวันออกกลาง-วิกฤตโลก

14.10.2023
  • LOADING...
Israel Hamas

“วิกฤตการณ์ครั้งนี้พาเราถอยหลังกลับไปหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรืออาจจะถอยกลับไปไกลสู่ทศวรรษที่ 70 เลย (ซึ่งเป็นยุคของความขัดแย้งใหญ่ระหว่างอิสราเอลกับรัฐอาหรับ – ผู้เขียน)”

Faisal Abbas

The Editor-in-Chief of the Arab News (Riyadh, Saudi Arabia)

 

 

 

การเปิดฉากโจมตีอิสราเอลของ ‘กลุ่มฮามาส’ ในวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น ทำให้คาดการณ์ได้ว่า เหตุการณ์ครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวไปสู่ความขัดแย้งใหญ่ได้ไม่ยาก เพราะมีชาวอิสราเอลเสียชีวิตจำนวนมาก (ดูตัวเลขความสูญเสียท้ายบทความ)

 

ภาพการโจมตีที่เกิดขึ้นกับอิสราเอลครั้งนี้ ทำให้เราอาจเทียบเคียงได้กับการโจมตีสหรัฐอเมริกาในวันที่ 11 กันยายน 2001 อันนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมาก และการเป็นการโจมตีในแบบที่ ‘ไม่คาดคิด’ คือมีลักษณะเป็น ‘Surprise Attack’ ที่ไม่แตกต่างกัน ซึ่งทั้งสองกรณีนี้เห็นได้ชัดว่า รัฐเป้าหมาย (สหรัฐฯ และอิสราเอล) ไม่ทันเตรียมตัวรับมือกับการโจมตีที่เกิดขึ้น และทำให้เกิดความสูญเสียขนาดใหญ่

 

หากย้อนกลับไปเมื่อ 22 ปีที่แล้ว จากเหตุการณ์ 9/11 จะเห็นได้ว่า หลังจากการโจมตีเกิดขึ้นแล้ว ผลที่ตามมาอย่างชัดเจนคือ ‘สงครามใหญ่’ ชุดหนึ่งในเวทีโลกที่ปรากฏในรูปของ ‘สงครามต่อต้านการก่อการร้าย’ หรือในสำนวนอย่างเป็นทางการของทำเนียบขาวคือ ‘The Global War on Terrorism’ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘The War on Terror’

 

การขับเคลื่อนสงครามต่อต้านการก่อการร้ายเช่นนี้ ยังส่งให้เกิดผลสืบเนื่องกับการเมืองทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคอย่างมาก แต่ในอีกด้านหนึ่งของปัญหา โลกได้เห็นถึง ‘สงครามชุดใหม่’ หรือที่อาจเรียกว่าเป็น ‘สงครามของยุคหลังสงครามเย็น’ ที่เป็นการผสมผสานระหว่างการก่อความไม่สงบและการก่อการร้าย ขยายตัวไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของโลกด้วย

 

ดังนั้น เมื่อเกิดการโจมตีอิสราเอลโดยกลุ่มฮามาสเช่นนี้ จึงทำให้เกิดความกังวลว่าจะนำไปสู่ ‘สงครามตามแบบ’ หรือเป็นสงครามใหญ่ระหว่างอิสราเอลกับรัฐอาหรับบางส่วน เช่นที่เคยเกิดขึ้นในสงครามยมคิปปูร์ (The Yom Kippur War) เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 1973 เมื่อ 50 ปีที่แล้วหรือไม่ (น่าสนใจอย่างมากว่าเหตุการณ์โจมตีอิสราเอลล่าสุดนี้เกิดในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 50 ปีสงครามยมคิปปูร์พอดี!) 

 

ฉะนั้น บทความนี้จะทดลองพิจารณาในเบื้องต้นถึงผลกระทบของสงคราม ‘อิสราเอล-ฮามาส’ ที่จะเกิดกับสถานการณ์โลก

 

ผลกระทบของสงครามในเชิงมหภาค

 

ผลจากการโจมตีของฮามาสและการขยายตัวของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทำให้เราอาจคาดคะเนถึงแนวโน้มของสถานการณ์ที่เป็นภาพรวมในอนาคตได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตที่จะตั้งเป็นประเด็นนั้นอาจกล่าวเป็นสาระโดยสังเขปได้ดังต่อไปนี้ 

 

  1. ยังไม่ชัดเจนว่าการก่อเหตุร้ายของฮามาสครั้งนี้จะทำให้ปัญหาถูกยกระดับขึ้นกลายเป็น ‘สงครามใหญ่ในตะวันออกกลางครั้งใหม่’ หรือจะถูกควบคุมปัญหาให้เป็นเพียง ‘สงครามจำกัดอิสราเอล-ฮามาส’ และจำกัดพื้นที่อย่างสำคัญอยู่กับฉนวนกาซาเป็นส่วนหลัก

 

  1. ปัญหาความขัดแย้งชุดนี้เป็นปัญหายืดเยื้อในตัวเอง เพราะด้านหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสมีมานาน และอิสราเอลกับชาวปาเลสไตน์ก็มีปัญหาในกาซากันมานานเช่นกัน ปัญหาครั้งนี้จึงน่าจะทอดยาวออกไป และส่งผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อปัญหาการเมือง-ความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลาง

 

  1. ความขัดแย้งครั้งนี้ทำให้การเมืองโลกต้องให้ความสนใจกับปัญหาชาวปาเลสไตน์ในกาซามากขึ้น โดยเฉพาะความสูญเสียของประชาชนที่ต้องอยู่ในพื้นที่เป้าหมายการโจมตีของอิสราเอล (ดูตัวเลขความสูญเสียของชาวปาเลสไตน์ท้ายบทความ) และทำให้ประเด็นการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเป็นเรื่องสำคัญในอนาคต หรืออย่างน้อยความรุนแรงครั้งนี้ทำให้โลกต้องหันมาพิจารณาถึงชีวิตความเป็นอยู่และสภาพทางสังคมของชาวปาเลสไตน์ในกาซามากขึ้นด้วย

 

  1. ปัญหาความรุนแรง และ/หรือสงครามในตะวันออกกลาง จะทำให้เกิดการทับซ้อนของความรุนแรง 2 ชุด คือ ปัญหาสงครามยูเครนที่ยังไม่จบ และปัญหาสงครามกับฮามาสในกาซาที่อาจยกระดับได้ ปัญหาทั้ง 2 ส่วนนี้จะส่งผลกับการเมืองโลกในปีหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

  1. ไม่ว่าความรุนแรงจะขยับตัวเป็นสงครามหรือไม่ก็ตาม ผลที่ตามมาเช่นที่เกิดขึ้นทุกครั้งในตะวันออกกลางก็คือ ปัญหาราคาพลังงาน ซึ่งอาจขยายตัวเป็น ‘วิกฤตพลังงาน’ และทำให้ราคาน้ำมันขยับตัวขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อสถานการณ์พลังงานของโลก และทำให้วิกฤตพลังงานที่เป็นผลจากสงครามยูเครนมีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย

 

  1. ความรุนแรงที่คาดเดาไม่ได้เช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน ดังจะเห็นถึงความผันผวนของราคาทองคำและตลาดหุ้น รวมถึงอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ และถ้าความขัดแย้งยกระดับรุนแรงขึ้นจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกแกว่งตัวมากขึ้นด้วย

 

  1. ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ต้องจับตามองบทบาทของอิหร่าน โดยเฉพาะการเป็นผู้สนับสนุนหลักของการต่อต้านตะวันตกและอิสราเอล และถ้าความขัดแย้งอาจจะขยายตัวมากขึ้นแล้ว อิหร่านอาจต้องเข้าร่วมอย่างเปิดเผยหรือไม่ หรือจะรักษาบทบาทของการเป็นเพียง ‘ผู้สนับสนุนรายสำคัญ’ ที่อยู่เบื้องหลังฮามาส 

 

  1. การต่อสู้ของฮามาสจะทำให้อิสราเอลใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กาซา และอาจนำไปสู่ ‘การก่อการร้ายระลอกใหม่’ ในอนาคต ดังเช่นที่เห็นจากการปฏิบัติการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นกับประชาชนชาวยิวในครั้งนี้ อาจถูกนำมาใช้เป็นแบบแผนสำหรับการก่อเหตุความรุนแรงกับรัฐอื่นๆ ในอนาคตได้ 

 

  1. ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาสและชาวปาเลสไตน์มีโอกาสขยายตัวได้จากปฏิบัติการทางทหารของทั้ง 2 ฝ่าย และอาจนำพาชาติอาหรับอื่นๆ เข้าสู่การต่อสู้ ซึ่งหากปัญหาขยายตัวมากขึ้นแล้ว จะเป็นปัจจัยที่พารัฐมหาอำนาจอื่นๆ เข้าสู่การต่อสู้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ รัสเซีย จีน และสหภาพยุโรป กล่าวคือ ภูมิภาคตะวันออกกลางจะยังคงเป็นพื้นที่สำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์และการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจ

 

  1. ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ความหวังที่จะขยายความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอาหรับกับอิสราเอลเป็นไปได้ยากขึ้น จนอาจเป็นการหยุดยั้ง ‘การเจรจาอับราฮัม’ (The Abraham Accords) ที่เริ่มในปี 2020 และปีนี้มีความหวังว่าซาอุดีอาระเบียจะเข้าร่วมด้วยนั้น อาจต้องยุติลง อันจะทำให้แนวคิดเรื่อง ‘การอยู่ร่วมกัน’ ระหว่างรัฐอิสราเอลและรัฐอาหรับ หรือที่เรียกกันว่า ‘Two-State Solution’ นั้นเป็นไปได้ยาก

 

ปัญหาและความท้าทายเฉพาะหน้า

 

  1. ปัญหาที่เกิดขึ้นจะยิ่งทำให้ทัศนะของคู่ขัดแย้งระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์มีปัญหามากขึ้น และจะทำให้การประสานรอยร้าวในอนาคตเป็นไปได้ยากมากขึ้น อันเป็นผลจากการสูญเสียขนาดใหญ่ของทั้งสองฝ่าย อันจะทำให้ความบาดหมางของประชาชนสองฝ่ายมีมากขึ้น

 

  1. ปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญคือ นอกจากการตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วงต่อเป้าหมายในกาซาแล้ว การรุกภาคพื้นดินของอิสราเอลที่เกิดตามมาจะทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวปาเลสไตน์อย่างมาก อันอาจเป็นปัจจัยที่จะทำให้สงครามกลายเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากขึ้นในอนาคตหรือไม่ และปัญหาที่ท้าทายอีกประการคือ รัฐบาลอิสราเอลจะดำเนินการอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาตัวประกันชาวยิวและบุคคลสัญชาติอื่นๆ ที่ถูกฮามาสจับกุมในครั้งนี้

 

  1. ความหวังของฮามาสที่จะได้รับความสนับสนุนในวงกว้างจากโลกอาหรับอาจจะไม่ง่ายนัก เพราะการสังหารประชาชนชาวยิว และการสังหารซึ่งมีลักษณะของการสังหารแบบไม่จำแนกและโหดร้าย ทำให้กระทบต่อภาพลักษณ์ทางการเมืองของฮามาสอย่างมาก หรือกลายเป็นการตอกย้ำดังมุมมองของประเทศฝ่ายตะวันตกว่า ฮามาสเป็น ‘องค์กรก่อการร้าย’ (ดูรายชื่อประเทศที่ถือว่าฮามาสเป็นองค์กรก่อการร้ายในส่วนท้ายบทความ)

 

  1. แต่การโจมตีทางอากาศอย่างหนักต่อเป้าหมายในกาซา และการเตรียมเปิดการรุกภาคพื้นดิน ก็ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ต่อการใช้ความรุนแรงของอิสราเอลในการตอบโต้กับการโจมตีของฮามาสอย่างมากด้วย และขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องในการให้ความช่วยเหลือต่อประชาชนในกาซามากขึ้นด้วยเช่นกัน

 

  1. ความท้าทายที่สำคัญสำหรับอิสราเอลในอนาคตคือ อิสราเอลจะตัดสินใจทำอย่างไรกับพื้นที่ฉนวนกาซา เพราะอิสราเอลเคยเข้าไปและถอนตัวออกแล้วในปี 2005 ถ้าเช่นนั้นในครั้งนี้ วัตถุประสงค์สุดท้ายในทางยุทธศาสตร์ของอิสราเอลต่อดินแดนกาซาคืออะไร และอิสราเอลจะกำหนดท่าทีอย่างไรต่อปัญหาชาวปาเลสไตน์ในกาซาในอนาคต

 

อนาคตที่รางเลือน!   

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นการประเมินในเบื้องต้น และเป็นการประเมินในวันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่ 6 ของสงคราม และทั้งหมดนี้ชี้ชัดว่าเรายังต้องติดตามสถานการณ์ชุดนี้ต่อไปในอนาคต เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่ ‘วิกฤตการณ์ใหญ่’ ในเวทีโลก ซ้อนเข้ากับ ‘วิกฤตสงครามยูเครน’ ได้ไม่ยากนัก จนเป็นดัง ‘อนาคตที่รางเลือน’ ของการเมืองโลกในภาวะเช่นนี้เป็นอย่างยิ่ง

 

สุดท้ายนี้ ทุกฝ่ายมีความหวังไม่แตกต่างกันที่อยากเห็น ‘การลดระดับสงคราม’ (De-Escalation) ที่อย่างน้อยจะเป็นจุดเริ่มต้นของการลดความรุนแรงของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นลงได้บ้าง แต่แน่นอนว่าความคาดหวังเช่นนี้ไม่ง่ายเลย คำเตือนของ ไฟซอล อับบาส บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ‘Arab News’ ทำให้เราต้องตระหนักถึงความซับซ้อนของสถานการณ์ในครั้งนี้… อับบาสกล่าวเตือนให้เราตระหนักว่า “เรากำลังเผชิญกับรัฐบาลที่ขวาที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล และฮามาสก็ทำตัวไม่มีเหตุผลอีกเลยนับตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา” ซึ่งเงื่อนไขเช่นนี้ทำให้ความหวังที่จะนำไปสู่การยุติการใช้ความรุนแรง (การหยุดยิง) มีความยุ่งยากในตัวเอง

 

แน่นอนว่าปัจจัย 2 ประการที่อับบาสกล่าวเตือนเช่นนี้ ทำให้สถานการณ์ ‘สงครามอิสราเอล-ฮามาส’ เป็นความน่ากังวลสำหรับเวทีโลกในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!

 

ท่าทีของประเทศไทย

 

การกำหนดท่าทีของรัฐบาลไทยต่อปัญหาความรุนแรงและสงครามอิสราเอล-ฮามาสนั้น มีความละเอียดอ่อนในตัวเอง เนื่องจากด้านหนึ่งมีแรงงานไทยเป็นจำนวนมากอยู่ในอิสราเอล และไทยเองก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับบรรดารัฐอาหรับ ทั้งอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย 

 

ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุความรุนแรงขึ้น และมีแรงงานชาวไทยทั้งเสียชีวิต ถูกจับเป็นตัวประกัน และสูญหาย รัฐบาลไทยจึงไม่อาจนิ่งนอนใจได้ และควรมีท่าที ดังนี้

 

  1. ประณามการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะมีผลกระทบอย่างน่าสลดใจเกิดขึ้นกับแรงงานชาวไทย (ซึ่งรัฐบาลได้แสดงออกไปแล้ว)

 

  1. รัฐบาลไทยสนับสนุนการแสวงหามาตรการทางการเมือง-การทูตในการแก้ปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้ ตลอดรวมถึงสนับสนุนมาตรการลดระดับการใช้ความรุนแรงในตัวเอง (Self-Restraint) ของคู่ขัดแย้ง

 

  1. รัฐบาลไทยควรสนับสนุนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมต่อประชาชนชาวปาเลสไตน์ในกาซา ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลจากภัยสงคราม

 

  1. รัฐบาลไทยต้องเร่งให้ความช่วยเหลือแก่คนงานไทยในอิสราเอล (รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วดังที่ปรากฏเป็นข่าว) และอาจต้องช่วยประสานการได้รับสิทธิประโยชน์จากนายจ้างที่ให้แก่บรรดาครอบครัวของผู้สูญเสียชีวิต

 

  1. รัฐบาลควรต้องรายงานความคืบหน้าของสถานการณ์ให้แก่สังคม และรายงานการดำเนินการของรัฐบาลให้รัฐสภาได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง

 

ข้อมูลท้ายบท

 

ตัวเลขความสูญเสียจากวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม – วันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม 2023:

 

  • เจ้าหน้าที่อิสราเอลรายงานว่า ประชาชนชาวยิวเสียชีวิตจากการโจมตีของฮามาสประมาณ 1,200 คน และบาดเจ็บประมาณ 2,700 คน และมีผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกัน อีกทั้งสูญหายจำนวนหนึ่ง (ผู้เสียชีวิต ผู้สูญหาย และบุคคลที่ถูกจับเป็นตัวประกันส่วนหนึ่งเป็นแรงงานชาวไทย)
  • มีรายงานว่า ประชาชนชาวปาเลสไตน์ในกาซาเสียชีวิตมากกว่า 1,200 คน และบาดเจ็บมากกว่า 5,600 คน 
  • เจ้าหน้าที่สหประชาชาติในกาซา (UN OCHA) แถลงว่า มีชาวปาเลสไตน์พลัดถิ่นประมาณ 338,000 คน
  • บ้านและที่อยู่อาศัยในกาซาอย่างน้อยจำนวน 2,540 หลังถูกทำลายจากการโจมตีทางอากาศ
  • ประเทศที่ขึ้นทะเบียนฮามาสเป็นองค์กรก่อการร้าย ได้แก่ ออสเตรเลีย, แคนาดา, สหภาพยุโรป, อิสราเอล, ญี่ปุ่น, ปารากวัย, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

 

ภาพ: Hapelinium / Shutterstock 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising