×

นักวิชาการไทยมอง สงครามฮามาส-อิสราเอลอาจยืดเยื้อ หากบุกกาซาจะยกระดับสงคราม

12.10.2023
  • LOADING...
ศราวุฒิ อารีย์ และ สุรชาติ บำรุงสุข

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่ดำเนินมานานหลายชั่วอายุคนได้แสดงรอยแตกร้าวที่ลึกหนักขึ้นกว่าเดิม หลังสงครามรอบล่าสุดปะทุขึ้นเมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม เมื่อนักรบติดอาวุธกลุ่มฮามาสเคลื่อนตัวจากฉนวนกาซาบุกเข้ามาในดินแดนของอิสราเอล ก่อนที่จะโจมตีแบบสายฟ้าแลบทั้งทางบกและทางอากาศ ขณะที่อิสราเอลก็ได้ยิงจรวดและส่งทหารโต้ตอบกลับแบบทันควัน อีกทั้งยังสั่งปิดล้อมฉนวนกาซา พร้อมจัดตั้งรัฐบาลฉุกเฉินและคณะรัฐมนตรีสงครามโดยเฉพาะ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ‘กวาดล้างฮามาสให้สิ้นซากไปจากโลกนี้’

 

อย่างไรก็ตาม เหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับทั้งสองฝ่าย ทั้งอาคารบ้านเรือนที่พังพินาศ ทหารและพลเรือนถูกจับไปเป็นตัวประกัน ขณะที่มีหลายชีวิตถูกสังหาร โดยรายงานล่าสุดระบุว่า การสู้รบที่กินเวลามาเพียงไม่กี่วันทำให้มีผู้เสียชีวิตจากทั้งสองฝ่ายแล้วอย่างน้อย 2,300 คน ท่ามกลางความหวังของประชาคมโลกที่ต้องการให้สงครามยุติโดยเร็ว เพื่อจำกัดวงความสูญเสียไม่ให้เลวร้ายไปมากกว่านี้

 

THE STANDARD พูดคุยกับ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ทหาร และความมั่นคง และ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับคำถามที่หลายคนอยากทราบว่า สงครามที่เกิดขึ้นนี้จะไปสิ้นสุดที่จุดไหน

 

สงครามระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอลจะจบลงตรงไหน 

 

ดร.สุรชาติ แสดงทรรศนะว่า สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสจะเป็นสงครามยาว 

 

“สงครามในกาซามีแนวโน้มเป็นสงครามยาวดังที่ผู้นำอิสราเอลได้ประกาศชัด นั่นแปลว่า โอกาสที่จะเห็นความขัดแย้งยาวนานและต่อเนื่องมีความเป็นไปได้

 

“หรือหากเรามองจากมุมปฏิบัติการของฮามาส ต้องอธิบายเช่นนี้ว่า ฮามาสเป็นกลุ่มกองโจรติดอาวุธ ซึ่งคำตอบมันชัด เพราะสงครามกองโจรเป็นสงครามระยะยาวทั้งสิ้น โดยสิ่งที่อิสราเอลเผชิญอยู่ เราได้เห็นเงื่อนไขสงครามกองโจรในกาซา ส่วนตัวผมมองว่า ความกังวลคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การขยายตัวของการก่อการร้ายบนเวทีโลกอีกครั้งหรือไม่ เพราะที่จริงการก่อการร้ายชุดใหญ่มาจากกลุ่มรัฐอิสลาม (IS)

 

“ย้อนกลับไปดูช่วงประมาณปลายปี 2018-2019 ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด ช่วงเวลานั้นการก่อการร้ายเริ่มเบาแล้ว ถ้าประเมินภาพในปี 2019 เราจะเห็นว่าการก่อการร้ายไม่ใช่โจทย์ชุดใหญ่ มันเริ่มเป็นโจทย์ที่เบาลง แต่พอจะเข้าปี 2024 ผมเริ่มกังวลว่า การก่อการร้ายอาจหวนกลับมาเป็นโจทย์ใหม่บนเวทีโลกหรือไม่ เป็นอะไรที่ต้องจับตามอง”

 

ดร.ศราวุฒิ ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD NOW ต่อประเด็นดังกล่าวไปในทิศทางที่สอดคล้องกับ ดร.สุรชาติ ว่า สงครามในรอบนี้มีแนวโน้มที่จะยาวนานกว่าเหตุความขัดแย้งในอดีต

 

“การปะทะกันระหว่างฮามาสและอิสราเอลเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่ว่าครั้งนี้มันแปลกออกไป เพราะมันมีการต่อสู้ที่ภาคพื้นดินด้วย เพราะฉะนั้นสถานการณ์วันนี้มันจึงรุนแรงและอาจจะไม่หยุดง่ายๆ ที่ผ่านมาการสู้รบมักจะกินเวลา 1-2 สัปดาห์ และก็จะมีอียิปต์หรือกาตาร์เข้ามาไกล่เกลี่ยเจรจา จนนำไปสู่การทำข้อตกลงหยุดยิงกันในท้ายที่สุด แต่ผมมองว่าครั้งนี้อาจจะใช้เวลานานกว่านั้น

 

“ที่สำคัญประชาคมโลกก็เกรงกันว่า สงครามที่เกิดขึ้นอาจยกระดับ คือถ้าอิสราเอลใช้กำลังเข้าไปในฉนวนกาซาตรงนั้น ก็จะเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่นำไปสู่การยกระดับสงคราม เพราะมันจะสร้างความเสียหายเยอะมาก

 

“และถ้ามีการปะทะกันรุนแรง เมื่อภาพความเสียหายในฉนวนกาซาถูกเผยแพร่ออกไปในโลกอาหรับ ผมคิดว่ากระแสความโกรธแค้นจากโลกอาหรับก็จะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันกลุ่มขบวนการที่เป็นตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (Non-State Actors) ซึ่งเป็นศัตรูกับอิสราเอล เช่น กลุ่มฮิซบุลเลาะห์ และกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ที่อยู่ในซีเรีย ก็จะมาร่วมต่อสู้กับอิสราเอลด้วย ซึ่งในวันนี้เราก็เห็นเค้าลางแล้วด้วย เช่น การที่ฮิซบุลเลาะห์ยิงจรวดเข้ามาทางตอนเหนือของอิสราเอล แม้จะไม่ได้สร้างความเสียหายมาก แต่ก็เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

 

“ในส่วนของซีเรียก็มีการยิงจรวดเข้ามาด้วยเช่นเดียวกัน เพราะกองกำลังติดอาวุธของซีเรียก็ต้องการทวงคืนที่ราบสูงโกลัน เพราะฉะนั้นสงครามมันจะยกระดับในลักษณะอย่างนี้ คือการที่อิสราเอลต้องเผชิญหน้ากับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ซึ่งการต่อสู้คงจะทำให้อิสราเอลลำบากใจ”

 

มีโอกาสขยายตัวกลายเป็นสงครามตัวแทนหรือไม่

 

สำหรับความคิดเห็นของ ดร.สุรชาติ นั้นมองว่า โอกาสเกิดสงครามตัวแทนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในอนาคต 

 

“ผมคิดว่าคนไทยติดอยู่กับจินตนาการว่า สงครามต้องกลายเป็นสงครามตัวแทนหมด แต่เราต้องตระหนักว่า ในเงื่อนไขของภาวะที่เป็นสงครามเย็นบนเวทีโลกมันเป็นด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว

 

“แปลว่าถ้าอย่างนี้มันไม่ใช่สงครามตัวแทน แต่มันเป็นภาพสะท้อนของสงครามที่โลกกำลังถูกแบ่งออกเป็นสองขั้ว ผมคิดว่าจินตนาการสงครามตัวแทนอาจจะไม่ตอบโจทย์ เพราะถ้ามองว่าเป็นสงครามตัวแทน คนก็จะคิดกันว่าทั้งหมดมีอเมริกาเป็นตัวปั่น คนไทยเชื่อคล้ายกับว่ารัฐเล็กๆ เป็นจิ้งหรีด แล้วรัฐมหาอำนาจเป็นตัวปั่น ผมว่าไม่ใช่

 

“คือเราต้องมองภาพชุดใหญ่ว่าสถานการณ์โลกที่ถูกแบ่งเป็นสองซีกนี้ รัฐมหาอำนาจอาจเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนสงคราม และปฏิเสธไม่ได้ว่าในสงครามที่เกิดขึ้น ซึ่งเราเห็นมาแล้วในยุคสงครามเย็นเก่า ก็อยู่ในสภาวะแบบนี้หมด สงครามในเวียดนาม สงครามในตะวันออกกลาง หรือสงครามในหลายพื้นในแอฟริกายุคนั้น ก็มีรัฐมหาอำนาจเข้าไปเกี่ยวข้อง ปัจจุบันมันก็ไม่ได้ต่างจากเดิม”

 

อย่างไรก็ตาม ดร.ศราวุฒิ มองว่า สงครามอาจจะไม่บานปลาย เพราะมหาอำนาจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน หรือรัสเซีย ก็ยังไม่พร้อมที่จะเปิดศึกด้านใหม่ ส่วนตัวแสดงหลักในภูมิภาคตะวันออกกลางต่างก็ไม่ต้องการเห็นความขัดแย้ง 

 

“ผมคิดว่าทางสหรัฐอเมริกาและยุโรปก็คงยังไม่พร้อมที่จะเปิดศึกอีกด้านหนึ่งเช่นกัน หลังจากที่ทุ่มสรรพกำลังไปกับสงครามในยูเครน ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่เพียงพอ ในขณะเดียวกันจีนกับรัสเซียที่แม้จะสนับสนุนอิหร่าน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าทั้งสองเป็นชาติที่มีความสัมพันธ์อันดีมากกับอิสราเอล เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งที่เป็นสัญญาณที่ดีอย่างหนึ่งคือ มหาอำนาจยังไม่พร้อมที่จะเปิดศึกอีกด้านหนึ่ง

 

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวแสดงในภูมิภาคตะวันออกกลาง ผมคิดว่าเขาไม่อยากให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย เนื่องมาจากว่าก่อนหน้านี้จะสังเกตเห็นว่า ภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่มีความร้อนแรงมาก เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ความรุนแรง และสงคราม แต่พอซาอุดีอาระเบียปรับเปลี่ยนนโยบาย สภาพแวดล้อมในภูมิภาคตะวันออกกลางเปลี่ยนไปเลย คือมีความสงบมากยิ่งขึ้น สงครามในซีเรียเบาบางลง ในอิรักมีความสงบมากยิ่งขึ้น

 

“ซาอุดีอาระเบียไปสานความสัมพันธ์กับทุกประเทศที่ตัวเองเคยมีปัญหา เพราะฉะนั้นในวันนี้ ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี หรือแม้แต่อิหร่านเอง ต้องการเห็นภูมิภาคตะวันออกกลางที่มันมีเสถียรภาพ ท่ามกลางระเบียบการเมืองโลกที่มันกำลังจะเปลี่ยนไปจากขั้วมหาอำนาจเดี่ยวสู่หลายขั้วมหาอำนาจ เพราะถ้าหากว่าภูมิภาคตะวันออกกลางยังเป็นพื้นที่ที่อ่อนแอ วุ่นวาย และมีความรุนแรง จะทำให้ที่นี่กลายเป็นสมรภูมิการแข่งขันของมหาอำนาจโลกได้ 

 

“ฉะนั้นแล้วตัวแสดงของภูมิภาคตะวันออกกลางที่สำคัญๆ จึงพยายามจะทำตัวเป็นกลางในวิกฤตที่เกิดขึ้น และพยายามเสนอตัวเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง เช่น ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และกาตาร์”

 

แม้สิ่งที่ ดร.ศราวุฒิ กล่าวมา อาจทำให้เราสามารถมองโลกในแง่ดีได้ว่า สงครามอาจจะไม่ลุกลามบานปลาย แต่สิ่งที่ยังต้องจับตาคือ นโยบายของอิสราเอลต่อสงครามระลอกใหม่นี้ เมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบันของอิสราเอลเป็นฝ่ายขวาจัด

 

“สิ่งที่เป็นปัญหาขณะนี้คือ อิสราเอลสูญเสียหนัก คนอิสราเอลตายไป 900 คนถือเป็นเรื่องใหญ่มากในมุมมองของอิสราเอล เขาไม่ยอมหยุดแน่ๆ ฮามาสจะต้องโดนเอาคืนอย่างสาสม

 

“รัฐบาลอิสราเอลวันนี้เป็นรัฐบาลขวาจัดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ รัฐบาลในลักษณะอย่างนี้สามารถทำอะไรก็ได้ โลกจึงกลัวว่าอิสราเอลจะตัดสินใจบุกเข้าไปในฉนวนกาซา นั่นคือจุดสำคัญที่จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเลวร้ายลง ตัวแสดงในภูมิภาคก็ช่วยอะไรไม่ได้”

 

THE STANDARD ได้ถาม ดร.ศราวุฒิ ต่อไปว่า เขามีความคิดเห็นอย่างไรกับท่าทีของสหรัฐฯ หลังล่าสุด โจ ไบเดน ออกมาให้คำมั่นว่าจะส่งมอบความช่วยเหลือด้านการเมืองและการทหารให้แก่รัฐบาลอิสราเอลอย่างไม่มีเงื่อนไข อีกทั้งยังประณามการกระทำของกลุ่มฮามาสอย่างรุนแรง และสนับสนุนการตอบโต้กลับของทางการอิสราเอล

 

ดร.ศราวุฒิ กล่าวว่า “การเคลื่อนไหวของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ส่วนหนึ่งผมคิดว่า เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับอิสราเอล อีกอย่างหนึ่งก็คือ การป้องปรามไม่ให้อิหร่านเข้ามาเกี่ยวข้องกับสงครามในครั้งนี้ เพราะมันมีแนวโน้มว่ากลุ่มขบวนการติดอาวุธต่างๆ ที่อยู่รอบอิสราเอลจะเข้ามาร่วมวงด้วย และสหรัฐอเมริกาก็มีความเชื่ออย่างหนักแน่นว่าคนที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มขบวนการติดอาวุธเหล่านี้คืออิหร่าน

 

“แต่ในความเป็นจริงแล้ว อิหร่านไม่สามารถที่จะไปควบคุมกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ได้ อย่างฮามาสเป็นซุนนี ฮิซบุลเลาะห์ก็เป็นชีอะห์ ทางอิหร่านก็เป็นชีอะห์ เขามีแนวคิดเชิงอุดมการณ์ที่แตกต่างกันในทางศาสนา แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือปลดแอกดินแดนปาเลสไตน์

 

“ผมคิดว่าอิหร่านจะเป็นเป้าหมายของสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล คือสงครามอาจจะขยายไปในลักษณะนี้ก็ได้ เพราะอิหร่านและอิสราเอลก็เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมา อีกทั้งยังทำสงครามทั้งลับและเปิดเผยกันมายาวนาน และครั้งนี้ก็จะเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งที่เป็นสถานการณ์ล่อแหลมว่า อิหร่านจะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกรณีความตึงเครียดนี้หรือไม่ ถ้าอิหร่านเข้ามายุ่งเกี่ยว แล้วอิสราเอลจะตอบโต้อย่างไร และถ้าเป็นอย่างนี้จริงๆ ผมคิดว่าสงครามจะยกระดับขึ้นเป็นสงครามภูมิภาค ไม่ใช่แค่วิกฤตในปาเลสไตน์เท่านั้น ซึ่งจะสร้างผลกระทบที่ร้ายแรงมากกว่าแค่วิกฤตในฉนวนกาซา”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X