TDRI เสนอรัฐบาลทำ Sandbox ศึกษาตัวคูณทางเศรษฐกิจจากนโยบายแจกเงินดิจิทัล โดยเริ่มจากกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก่อนกระจายทั่วประเทศ แนะดำเนินการผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณ เพื่อความโปร่งใส-สร้างกระบวนการเรียนรู้ ห่วงใช้เงินนอกงบสร้างภาระให้ลูกหลานในอนาคต
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้เสนอให้รัฐบาลทำ 2 เรื่องเพื่อลดความเสี่ยงจากการทำนโยบายแจกดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เรื่องแรกคือจัดทำ Sandbox คือทดลองแจกเงินให้กับประชาชนก่อน โดยเริ่มจากกลุ่มคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยและมีตัวคูณทางเศรษฐกิจสูงที่สุด ซึ่งเชื่อว่าภายใน 6 เดือน รัฐบาลจะมีข้อมูลที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับผลของตัวคูณทางเศรษฐกิจ
“ก่อนจะแจกทั่วประเทศและแจกทุกคน หากนักวิชาการและรัฐบาลยังเห็นไม่ตรงกันเรื่องตัวคูณทางเศรษฐกิจว่าจะเป็นเท่าไร ทางออกคือการทำ Sandbox รัฐบาลบอกว่าลมพายุหมุนเร็ว คิดว่าภายใน 6 เดือนก็รู้ผลแล้ว แล้วตัวเลขจะออกมาเองว่านักวิชาการที่ไปลงรายชื่อกันคัดค้านหรือรัฐบาลใครจะถูก” ประธานสถาบัน TDRI กล่าวในรายการ WEALTH IN DEPTH ของ THE STANDARD
สมเกียรติกล่าวอีกว่า ส่วนตัวค่อนข้างมีความกังวลกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล เพราะต้องใช้งบประมาณสูงมาก ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าที่มาของเงินที่นำมาใช้จะมาจากไหน ขณะเดียวกันก็มีข้อถกเถียงกันถึงตัวคูณเศรษฐกิจว่าจะสูงเหมือนที่รัฐบาลคาดหวังไว้หรือไม่
โดยผลการศึกษาทั้งในต่างประเทศและไทย เช่น กรณีของสำนักงบประมาณของรัฐสภาพบว่า นโยบายแจกเงินในรูปแบบนี้ตัวคูณจะอยู่ที่ไม่เกิน 1 เท่า ในสหรัฐอเมริกาก็เคยศึกษาและพบข้อมูลที่สอดคล้องกัน เว้นแต่กรณีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจติดลบที่การแจกเงินจะได้ผลมากหน่อย นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่พบว่าตัวคูณของนโยบายลักษณะนี้จะอยู่ที่ 0.4% เท่านั้น
“มีคนออกมาแย้งว่าตัวเลขที่นักวิชาการนำมาอ้างอิงเป็นตัวเลขเก่า โครงการนี้ไม่เหมือนกับนโยบายอื่นๆ ที่เคยทำมา แต่ในอีกมุมหนึ่งโครงการนี้ก็เป็นเรื่องใหม่ รัฐบาลเองไม่มีข้อมูลในอดีตมารองรับ แล้วมั่นใจได้อย่างไรว่าตัวคูณเศรษฐกิจจะเกิน 1 ซึ่งในกรณีที่ไม่เกิน 1 จะมีปัญหาตามมามากมาย” สมเกียรติกล่าว
ประธานสถาบัน TDRI ระบุว่า ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหากประสิทธิภาพของนโยบายนี้ไม่เป็นไปตามคาดของรัฐบาลคือ หนี้สาธารณะที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากระดับ 61% ในปัจจุบัน หรือในกรณีที่รัฐเลือกใช้เงินนอกงบประมาณ ซึ่งเป็นการกู้แบบไม่ลงบัญชีผ่านธนาคารเฉพาะกิจของภาครัฐ ความโปร่งใสก็จะลดลง ทำให้บริษัทเครดิตเรตติ้งและนักลงทุนที่จับตาประเทศไทยอาจมีความเชื่อมั่นลดลง นำไปสู่การถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ
นอกจากนี้ แม้วิกฤตเศรษฐกิจจะยังไม่เกิดขึ้นในขณะนี้และมีหลายประเทศที่หนี้สาธารณะสูงกว่าไทย แต่หากมองไปข้างหน้าคงปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยกำลังจะกลายเป็นสังคมสูงวัย เปรียบเสมือนคนที่กำลังจะเกษียณอายุ แรงงานในระบบจะลดลง คนต้องการบำนาญ ค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น แต่ระบบประกันสังคมของไทยมีความเสี่ยงจะแตกในอีก 20 ปี เพราะมีเงินขาออกมากกว่าเงินขาเข้า
“ในกรณีที่เกิดวิกฤตหนักเหมือนโควิดอีกรอบ เราจะอยู่กันอย่างไร หนี้สาธารณะจะกระโดดขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงอื่นๆ เช่น กรณีสงครามในยูเครน อิสราเอล หากลากยาวมันจะมีผลเยอะแยะไปหมด แล้วไทยจะไปต่ออย่างไร วันนี้ยังไม่มีวิกฤต แต่อนาคตน่าเป็นห่วง เลยอยากให้เก็บกระสุนไว้ก่อนจะดีที่สุด” สมเกียรติกล่าว
อย่างไรก็ดี ประธานสถาบัน TDRI เปิดเผยว่า ในมุมหนึ่งก็เข้าใจฝ่ายการเมืองที่ต้องทำตามนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ และเชื่อว่าการกลับลำไม่ทำเลยหรือแม้แต่จะลดขนาดคงเป็นเรื่องยาก แม้นักวิชาการจะมีข้อมูลมายืนยันก็ตาม ดังนั้นข้อเสนอที่ 2 ของตนคือ หากรัฐบาลยังอยากจะทำนโยบายนี้จริงๆ ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ขอให้รัฐบาลดำเนินการด้วยเงินงบประมาณ โดยไม่สั่งให้แบงก์รัฐออกเงินไปก่อน เพราะนั่นถือเป็นการกู้แบบหนึ่งเหมือนกันแม้จะไม่ถูกนับเป็นหนี้สาธารณะ
ทั้งนี้ หากอ้างอิงจากเอกสารที่พรรคเพื่อไทยได้ยื่นต่อ กกต. ไว้ในช่วงหาเสียง งบของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะอยู่ที่ 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งที่มาของเงินจะมาจากการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นต่อยอดจากรัฐบาลก่อน 2.6 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันยังเชื่อว่าโครงการนี้จะทำให้เกิดเงินหมุน ทำให้รัฐเก็บภาษีได้เพิ่มมาอีก 1 แสนล้านบาท นอกจากนี้จะไปบริหารจัดการงบต่างๆ ที่มีอยู่ประมาณ 1.1 แสนล้านบาท และไปตัดสวัสดิการที่ซ้ำซ้อนอีก 9 หมื่นล้านบาท
สมเกียรติกล่าวอีกว่า หากรัฐบาลอยากจะใช้เงิน 5.6 แสนล้านบาทเพื่อรักษาสัญญากับประชาชนไว้จริงๆ ก็ควรทำตามที่แจ้ง กกต. ไว้ โดยจัดทำพระราชบัญญัติงบประมาณ แล้วไปขออนุมัติรัฐสภา ซึ่งจะมีกระบวนการกลั่นกรองอีกหลายขั้นตอน อันดับแรกคือพรรคร่วมรัฐบาลกันเองจะได้รู้ว่าเงินที่ตัวเองอยากเอามาทำโครงการอื่นๆ จะหายไป เพราะมันจะถูกโยกไปใช้กับดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้พรรคร่วม 11 พรรคต้องตกลงกันให้ได้ภายในก่อน
“ถ้าทำแบบนี้ผมคิดว่าความเสียหายจะน้อยและเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ทำเป็น พ.ร.บ.งบประมาณ ดีที่สุด เพราะทุกฝ่ายรวมถึงประชาชนเองจะได้เรียนรู้ว่าการได้มาคนละ 10,000 บาทภายใต้งบประมาณที่มีจำกัด เท่ากับบางเรื่องจะถูกตัดไป คนที่คิดว่าจะได้ 10,000 บาทฟรีๆ จะพบว่ามันไม่ได้ฟรีอีกต่อไป มันต้องเสียอะไรบางอย่าง แต่กระบวนการเรียนรู้นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากเราไปยืมเงินอนาคตมาแล้วทำเสมือนว่าเป็นของฟรี โดยให้คนที่รับภาระเป็นลูกหลานในอนาคต” สมเกียรติกล่าว