วันนี้ (11 ตุลาคม) ช่างภาพข่าว THE STANDARD เก็บภาพบรรยากาศท้องฟ้าเปิดโล่งในช่วงยามเย็น เวลา 18.00 น. บริเวณเขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
ซึ่งวันนี้หากสังเกตบนท้องฟ้าเราจะเห็นถึงก้อนเมฆที่ลอยอยู่ประปรายอย่างชัดเจน ผสมผสานกับสีของพื้นฟ้าที่เป็นโทนพาสเทล
สำหรับเมฆ ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ให้ข้อมูลไว้ว่า คือกลุ่มของละอองน้ำขนาดเล็กซึ่งเกิดจากการควบแน่นของหยดน้ำในอากาศในธรรมชาติ เมฆเกิดขึ้นโดยมีรูปร่าง 2 ลักษณะ คือ
เมฆก้อน เรียกว่าเมฆคิวมูลัส (Cumulus) และเมฆแผ่น เรียกว่าเมฆสเตรตัส (Stratus) หากเมฆก้อนลอยชิดติดกันในกรณีที่เป็นเมฆฝนจะเพิ่มคำว่า นิมโบ หรือ นิมบัส ซึ่งแปลว่า ฝน
และจะเรียกเมฆก้อนที่ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองว่า เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) และเรียกเมฆแผ่นที่มีฝนตกปรอยๆ อย่างสงบว่า เมฆนิมโบสเตรตัส (Nimbostratus)
เมฆทุกก้อนล้วนมีความหมายและสามารถพยากรณ์ถึงฝนฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ หากมองในมุมศิลปะ เมฆต่างๆ ยังเป็นสิ่งของ หรือสัตว์ต่างๆ ได้ตามแต่ที่เราจินตนาการ
อ้างอิง: ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์