ธปท. จับตาสถานการณ์ในอิสราเอล หวั่นลุกลามกระทบราคาน้ำมันโลก ทำต้นทุนนำเข้าพลังงานพุ่ง คาดราคาน้ำมันโลกจะอยู่ที่ระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาส 4 เชื่อเงินเฟ้อไทยปีนี้และปีหน้ายังอยู่ที่ระดับ 1.6% และ 2.6%
ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 3/2566 ว่าสถานการณ์การสู้รบในอิสราเอลถือเป็นความกังวลที่ต้องจับตาว่าจะลุกลามเพียงใด และจะยืดเยื้อนานเหมือนกรณีของยูเครนหรือไม่ ซึ่งขณะนี้เป็นอะไรที่คาดเดาได้ยาก เพราะแถบตะวันออกกลางเป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งซับซ้อนมายาวนาน
โดยหนึ่งในประเด็นที่น่าห่วงคือหากราคาน้ำมันดีดตัวสูงขึ้นจริงและค้างยาว ผนวกกับการแข็งค่าของดอลลาร์ที่มักจะเกิดขึ้นในยามที่ตลาดมีความกลัวหรือกังวล เงินบาทจะอ่อนค่าลง ทำให้ต้นทุนการนำเข้าพลังงานสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งหากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดในช่วงที่ราคาพลังงานในประเทศไทยถูกกำหนดด้วยมาตรการอุดหนุนของภาครัฐ ภาระภาคการคลังของภาครัฐจะโปร่งขึ้น โดยในกรณีดังกล่าว ไทยอาจต้องทบทวนราคาภายในประเทศให้สอดรับกับราคาจริงที่เกิดขึ้นในโลก
อย่างไรก็ดี สุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. ประเมินว่า ผลกระทบของสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างมีนัยสำคัญ หากสถานการณ์ยังจำกัดวงอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ลุกลามบานปลาย โดย ธปท. ยังมีสมมติฐานว่าราคาน้ำมันดิบโลกจะอยู่ที่ระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาสที่ 4 และมีแนวโน้มจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีหน้า
สุรัชกล่าวว่า พลวัตของราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมามีแรงขับเคลื่อนมาจาก 2 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือความเสี่ยงจากสงคราม หรือ War Risk Premium ซึ่งมีผลไม่มาก ส่วนอีกหนึ่งปัจจัยที่มีน้ำหนักมากกว่าคือมุมมองของตลาดต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ยังมีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยต่อ ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันในช่วงก่อนหน้านี้ค่อนข้างปรับตัวลดลงมา
“นโยบายการเงินสหรัฐฯ คงมีความชัดเจนมากขึ้นในระยะข้างหน้า แต่ความเสี่ยงของภาวะสงครามยังเป็นอะไรที่ต้องติดตามว่าจะลากยาวหรือไม่ เพราะล่าสุดประธานาธิบดีของอิสราเอลส่งสัญญาณว่ามีโอกาสยาวได้เหมือนกัน แต่ตอนนี้ตลาดยังเชื่อว่าจะจำกัด ทำให้เรายังไม่เห็น Risk Premium ที่กระโดดสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ค่าเงินในกลุ่มประเทศ EM รวมถึงไทยก็เริ่มกลับมาแข็งบ้างแล้ว ทำให้ภาพรวมของเงินเฟ้อน่าจะยังเป็นไปตามที่เราคาดไว้” สุรัชกล่าว
ทั้งนี้ ประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของ ธปท. ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อไทยยังมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 1.6% ในปีนี้ และ 2.6% ในปี 2567 อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อประมาณ 0.5% และทำให้การเติบโตของ GDP หายไปราว 0.1%
ในวันเดียวกัน ธปท. ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 5/2566 โดยเนื้อหาในรายงานดังกล่าวมีการระบุถึงประเด็นที่สำคัญซึ่ง กนง. ได้มีการอภิปรายกันในการประชุมเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 อาทิ
- กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้อัตราการขยายตัวในปีนี้จะชะลอลงบ้างจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด แต่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเร่งสูงขึ้นจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวเต็มที่และครบครันมากขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของรายได้แรงงาน ภายใต้บริบทที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง และภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว
- กนง. เห็นควรให้ติดตามแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในบริบทปัจจุบันที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ นโยบายดังกล่าวอาจสร้างแรงกดดันด้านอุปสงค์เพิ่มเติมให้กับเงินเฟ้อ และประเมินว่าตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) ของโครงการประเภทเงินโอนหรือการแจกเงินให้ประชาชน มักต่ำกว่าการใช้จ่ายหรือการลงทุนภาครัฐโดยตรง จากผลการศึกษาในหลายประเทศ รวมทั้งไทย
พร้อมเห็นว่าหากการก่อหนี้ของภาครัฐเป็นไปเพื่อเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือการยกระดับทักษะแรงงาน อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สูงขึ้นจะช่วยเสริมความยั่งยืนของระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP
- กนง. ประเมินว่าตลาดการเงินผันผวนสูงขึ้น ส่วนหนึ่งจากปัจจัยในประเทศ โดยเฉพาะการที่นักลงทุนรอความชัดเจนของนโยบายภาครัฐที่อาจมีนัยต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านการคลังในอนาคต
- กนง. เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังควรดำเนินการต่อในครั้งนี้ เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยกลับไปอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในระดับที่เหมาะสมจะช่วยสนับสนุนให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว โดยป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ในระดับสูง
- กนง. จะพิจารณาการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่ง กนง. จะดำเนินนโยบายให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป (Outlook Dependent)