วันนี้ (11 ตุลาคม) ที่อาคารรัฐสภา ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) พร้อมด้วยนักรบเลือดสีน้ำเงินปกป้องราชบัลลังก์ นำโดย อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธาน ศปปส. เข้ายื่นหนังสือถึง วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมี เจษ อนุกูลโภคารัตน์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานประสานการเมืองและรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนรับยื่นหนังสือ
อานนท์กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ รังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย สส. ของพรรคก้าวไกล แถลงยื่นร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ต่อวันมูหะมัดนอร์
ศปปส. และกลุ่มนักรบเลือดสีน้ำเงินปกป้องราชบัลลังก์ ได้ฟังแถลงการณ์จากชัยธวัชแล้วรู้สึกคลางแคลงใจ สงสัยในรายละเอียดบางประการ อาทิ การนิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งหมายรวมถึงบุคคลซึ่งได้กระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง มาตรา 112 ด้วยหรือไม่
เนื่องจากในแถลงการณ์ดังกล่าวระบุเพียงว่า ไม่นิรโทษกรรมการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 นั่นย่อมให้เข้าใจได้ว่าบุคคลซึ่งได้กระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในมาตราอื่นๆ อาทิ การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะได้รับการนิรโทษกรรมตามร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับนี้ด้วยใช่หรือไม่
นิยามของคำว่า ‘ผู้กระทำความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง’ ของร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับนี้คืออะไร
พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับนี้ยังคลุมเครือระหว่าง ‘ผู้กระทำความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง’ และ ‘ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง มาตรา 112’ ซึ่งต้องแยกออกจากกันให้ชัดเจน
ดังนั้นในความคลุมเครือในเรื่องของ ‘ผู้กระทำความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง’ ที่พรรคก้าวไกลบรรจุในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับดังกล่าว อาจเหมารวมถึง ‘ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง มาตรา 112’ เข้าไปด้วย ซึ่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่ในลักษณะ 1 ความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด 1
ทั้งนี้ คดีความมั่นคงไม่ใช่คดีทางการเมือง ซึ่งในปัจจุบันมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากการจัดการชุมนุมในแต่ละครั้งตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ที่มักอ้างว่าเป็นการออกมาเรียกร้องทางการเมือง แต่ทุกครั้งที่ขึ้นปราศรัยส่วนใหญ่แล้วจะหมิ่น จาบจ้วง ก้าวล่วง โจมตี ใส่ร้าย กล่าวหาสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นที่มาของบรรดาผู้ชุมนุมที่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ แจ้งความดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ว่าจะเป็นแกนนำ และ/หรือผู้ชุมนุมที่ขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มเยาวชนปลดแอก, กลุ่มราษฎร, กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มทะลุฟ้า, กลุ่มทะลุวัง รวมไปถึง สส. หลายคนของพรรคก้าวไกล จึงเป็นข้อกังขา สงสัย และสันนิษฐานว่านี่หรือไม่ที่เป็นที่มาของการดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับดังกล่าว