วันนี้ (9 ตุลาคม) พล.ร.ต. วีรุดม ม่วงจีน โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 3 (ศปก.ทรภ.3) ร่วมกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 (ศรชล.ภาค 3) จับกุมเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซียที่เข้ามาทำประมงในน่านน้ำไทย
โดยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 เวลา 08.30 น. ศปก.ทรภ.3 ได้รับแจ้งข่าวจากแหล่งข่าวในพื้นที่ พบเห็นเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย จำนวน 3 ลำ เข้ามาทำการประมงบริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทย ระยะ 46 ไมล์ทะเล ทางทิศตะวันตกของแหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต จึงได้สั่งการให้เครื่องบินลาดตระเวนแบบดอร์เนียร์ (DO-228) จาก ทรภ.3 ขึ้นบินลาดตระเวนตรวจสอบข้อมูลตามที่ได้รับแจ้ง
สำหรับ ศรชล.ภาค 3 ได้แจ้งให้ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดภูเก็ตแจ้งไปยังศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (ศูนย์ PIPO) ภูเก็ต แจ้งเรือประมงไทยที่ทำการประมงในพื้นที่เฝ้าสังเกตการณ์และติดตามพฤติกรรมของกลุ่มเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซียทั้ง 3 ลำ ซึ่งผลการบินสำรวจได้ตรวจพบเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย จำนวน 1 ลำ ระยะ 55.6 ไมล์ทะเล จากแหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทย
ศรชล.ภาค 3 จึงได้สั่งการให้เรือหลวงแกลงออกเรือเพื่อเข้าตรวจสอบและจับกุมเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซียในบริเวณดังกล่าว จนกระทั่งช่วงเช้าของวันที่ 8 ตุลาคม 2566 เมื่อเรือหลวงแกลงได้ตรวจพบเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย จำนวน 3 ลำ ลักลอบทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทย ประกอบด้วย
– เรือ KM.RAHMAT JAYA พร้อมลูกเรือรวมไต๋เรือ จำนวน 12 คน
– เรือ KM.IKHLASBARU พร้อมลูกเรือรวมไต๋เรือ จำนวน 16 คน
– เรือ KAMBIASTAR พร้อมลูกเรือรวมไต๋เรือ จำนวน 12 คน
จากนั้น เรือหลวงแกลงจึงได้ควบคุมเรือประมงอินโดนีเซียทั้ง 3 ลำ พร้อมลูกเรือ จำนวนรวม 40 นาย เดินทางไปยังท่าเรือรัษฎา ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เพื่อเตรียมส่งมอบให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรฉลอง ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป โดยเรือหลวงแกลงได้นำเรือเทียบเข้าท่าเรือรัษฎาเมื่อเวลาประมาณ 08.30 ของวันที่ 9 ตุลาคม 2566 โดย ศรชล.ภาค 3 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถานีตำรวจภูธรฉลอง ตำรวจน้ำ ประมงจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางมารับตัวผู้กระทำผิดเพื่อเตรียมดำเนินคดีทางกฎหมาย
ทั้งนี้ ศรชล.ภาค 3 จะประสานการดำเนินการทางกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ฉลอง อย่างใกล้ชิด ซึ่งอำนาจหน้าที่ของ ศรชล. เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิการประมงไทยในเขตประมงไทย พ.ศ. 2482 ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเรือ โดยผู้บังคับการเรือหรือผู้ควบคุมเรือสามารถจับกุมได้ในฐานความผิดเป็นผู้ควบคุมเรือใช้เรือสัญชาติต่างประเทศทำการประมงในเขตประมงไทย และฐานทำการประมงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาต
พล.ร.ต. วีรุดมกล่าวว่า สำหรับการจับกุมหรือประมงทั้ง 3 ลำในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือ โดย ทรภ.3, ศรชล. และเครือข่ายเรือประมงไทย โดยการปฏิบัติการสืบเนื่องจากการเข้ามาลักลอบทำการประมงของเรือต่างชาติในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทย
ทั้งนี้การจับกุมเรือประมงต่างชาติที่มีพฤติกรรมเข้ามาทำการประมงบริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทยด้านฝั่งทะเลอันดามันที่ผ่านมานั้นได้มีการจับกุมมาแล้วหลายครั้ง โดยฝ่ายไทยเคยประสานฝ่ายอินโดนีเซียแจ้งเตือนเรือประมงของประเทศอินโดนีเซีย มิให้รุกล้ำเข้ามาทำการประมงในเขตน่านน้ำของประเทศไทยแล้ว อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติของฝ่ายไทยครั้งนี้เป็นการดำเนินการภายใต้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ และไม่มีการใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด