วันนี้ (9 ตุลาคม) สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตรวจความพร้อมของกองทัพอากาศในการเตรียมส่งอากาศยานไปรับคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในตะวันออกกลาง โดยกองทัพอากาศได้เตรียมเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130 และเครื่องบินลำเลียง A340 พร้อมด้วยกำลังพลชุดปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน (MERT) กองทัพอากาศ จำนวน 3 ชุดปฏิบัติการ ซึ่งจะปฏิบัติภารกิจร่วมกับเจ้าหน้าที่เวชศาสตร์การบิน โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วย โดยจัดชุดแพทย์-พยาบาลลำเลียงทางอากาศ และนักจิตวิทยาไว้ 3 ชุด ต่อ 1 เที่ยวบิน หากมีจำนวนไฟลต์บินเพิ่มก็สามารถจัดชุดได้เพิ่มเติมตามความต้องการ
สุทินแถลงภายหลังรับทราบรายงาน และเยี่ยมชมเครื่อง C-130 ว่า ในด้านการอพยพคนไทย กองทัพอากาศเป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องช่วยรัฐบาล โดยเตรียมเครื่องบินไว้ทั้ง Airbus และ C-130 และนอกเหนือจากเครื่องบินแล้วนักบินผู้ปฏิบัติงานก็พร้อม เรื่องของการดูแลคนไทยในระหว่างเดินทางก็พร้อมที่จะให้การเยียวยารักษาคนไทยในระหว่างเดินทางได้โดยไม่ต้องวิตกกังวล
“ตอนนี้เหลือเพียงว่าการจะอพยพคนไทยโดยทางปฏิบัติต้องได้รับอนุญาตจากประเทศอิสราเอล และดูแลอำนวยความสะดวกให้เรา เราถึงจะไปรับคนไทยได้ ตอนนี้ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เป็นห่วงเพียงว่าสถานการณ์ที่มันจะนอกเหนือจากที่เราควบคุมได้ ว่ามันจะรุนแรงขึ้นหรือจะลดลง ถ้ามันรุนแรงขึ้น ที่เราเป็นห่วงก็คือกลัวจำนวนคนไทย 30,000 กว่าคน ถ้าหากว่าคนไทยขอกลับหมด กองทัพอากาศซึ่งเป็นกำลังหลักอยู่แล้ว เกรงว่าจะไม่ทัน ก็อาจต้องขอความร่วมมือจากการบินไทยหรือสายการบินพลเรือนให้ช่วย หรือถ้าจำเป็นกระทรวงการต่างประเทศได้คุยกับทางอิสราเอลว่าอาจใช้เครื่องบินเช่าเหมาลำบินมาก่อน” สุทินกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีความปลอดภัยหรือไม่ สุทินยืนยันว่า ตัวเครื่องมีความปลอดภัย และมีแพทย์ดูแลคนป่วย แต่ปัจจัยภายนอกต้องประเมิน ยืนยันจากการประสานน่านฟ้าอิสราเอลยังไม่ปิด แต่ถ้าปิดก็มีประเทศอยู่ 3-4 ประเทศที่จะใช้เป็นทางผ่านไปบินได้
“การดูแลบนเครื่องปลอดภัย 100% แต่ถ้าเป็นเรื่องอื่น เรื่องสถานการณ์หรือการสู้รบ อันนั้นเป็นเรื่องที่ต้องประเมินร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและอิสราเอล แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็คงใช้วิธีอื่นการช่วยเหลือ เช่น อพยพคนงานไปในที่ปลอดภัยก่อน” สุทินกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการโจมตีในโลกออนไลน์ว่าเราช้า สุทินกล่าวว่า แม้วันนี้เราพร้อมบิน แต่เราต้องรออิสราเอล แต่ตนตรวจสอบแล้วว่าตอนนี้ก็ยังไม่มีประเทศไหนที่ไปอพยพพลเมืองของเขา อาจมีการประสาน แต่ว่ายังบินกลับไม่ได้ เรายืนยันว่าเตรียมพร้อมที่สุด แต่ขั้นตอนยังไม่เปิดให้เราทำ
ด้าน น.อ.หญิง สุวิสาส์ ศุขตระกูล รองผู้อำนวยการศูนย์ลำเลียงทางอากาศสายแพทย์ สถาบันเวชศาสตร์การบิน ระบุว่า ทีมงานมีประสบการณ์ผ่านภารกิจใหญ่ ตั้งแต่สมัยเกิดเหตุการณ์สึนามิในประเทศไทย และมีประสบการณ์ต่างแดนค่อนข้างมาก เช่น เหตุแผ่นดินไหวที่ตุรกี และการอพยพคนไทยที่ซูดาน ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในการลำเลียงผู้ป่วยจากประเทศอิสราเอลได้ จึงขอให้ทุกคนมั่นใจว่าทางกองทัพอากาศมีทีมที่มีประสบการณ์และมีความชำนาญในการดูแลคนไทยอย่างแน่นอน
น.อ.หญิง สุวิสาส์ยอมรับว่า อาจจะมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น กรณีที่มีผู้เจ็บป่วยหนักและไม่ทราบอาการล่วงหน้า อาจเป็นอุปสรรคในการลำเลียงผู้ป่วยได้ รวมถึงการเดินทางที่มีระยะเวลานาน 10-15 ชั่วโมง ซึ่งอาจจะต้องแวะพักเติมน้ำมัน
สำหรับเส้นทางในการบินรับคนไทยออกจากพื้นที่การสู้รบในตะวันออกกลาง เตรียมการไว้เบื้องต้น 4 เส้นทางคือ เส้นทางการบินไปยังซาอุดีอาระเบีย, จอร์แดน, กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ และไซปรัส โดยต้องรอการประสานงานจากกระทรวงการต่างประเทศต่อไป ทั้งนี้ เครื่องบิน C-130 สามารถลำเลียงคนไทยได้ประมาณ 77 คน ขณะที่เครื่องบิน A340 สามารถลำเลียงคนไทยได้ประมาณ 135 คน