×

ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ปี 2024 มีอะไรบ้าง ไทยควรยืนตรงไหน ในยุคโลกหลายขั้วอำนาจ

05.10.2023
  • LOADING...
เศรษฐา ทวีสิน

โลกที่เคยมีเพียงขั้วอำนาจเดียวกุมกติกานั้นได้แตกดับลงแล้ว และกำลังเข้าสู่ระเบียบโลกใหม่ที่มีหลายขั้วมหาอำนาจมากยิ่งขึ้น 

 

แน่นอนว่าเมื่อผู้คุมเกม-ผู้วางกฎกติกานั้นไม่ได้มีแค่หนึ่งเดียวอีกต่อไป สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงมีความซับซ้อน เกิดเป็นการช่วงชิงอำนาจและความเป็นใหญ่ ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ที่กระจายตัวเป็นจุดวาบไฟขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก 

 

THE STANDARD พูดคุยกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) เพื่อทำความเข้าใจถึงระเบียบโลกที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมกับความเสี่ยงสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในปี 2024 รวมถึงคำถามสำคัญที่ชวนขบคิดว่า แล้วไทยจะต้องวางตัวอย่างไรในสมรภูมิอำนาจโลกที่พลิกผันไปจากอดีต เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติไว้ให้ได้มากที่สุด

ระเบียบโลกหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

 

รศ.ดร.ปิติ กล่าวว่า ระเบียบโลกที่เราจะเห็นต่อจากนี้ไปคือ Multilateralism หรือมีหลายขั้วมหาอำนาจมากยิ่งขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ขั้วอำนาจเชิงเดี่ยวอย่างที่สหรัฐอเมริกาเคยเป็นตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

 

“แน่นอนว่าการตั้งกติกากฎระเบียบนั้นมันง่ายที่สุดก็ต่อเมื่อมันออกมาจากคนคนเดียว แต่การที่ออกมาจากคนคนเดียวแบบที่สหรัฐฯ เคยทำเมื่อสมัย 20-30 ปีก่อนนั้นเป็นสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ โลกของเราไม่ควรจะมีแค่ประเทศประเทศเดียวที่วางกฎกติกาเป็นกรรมการ แถมยังเป็นผู้เล่นด้วยตัวเอง 

 

“อย่างไรก็ตาม แต่ละมหาอำนาจดันมีพลังอำนาจไม่เท่ากัน ฉะนั้น ระเบียบโลกหลังจากนี้ไปจะเป็น Imbalance Multipolarity ซึ่งสถานการณ์ก็จะซับซ้อนมากยิ่งขึ้น”

ในสายตาของ รศ.ดร.ปิติ ปี 2024 มีอะไรน่าจับตาเป็นพิเศษสำหรับภูมิรัฐศาสตร์โลก

 

รศ.ดร.ปิติ กล่าวว่า “ผมคิดว่าอีเวนต์ใหญ่ที่สุดก็คงจะเป็นความขัดแย้งระหว่าง 2 มหาอำนาจ” 

 

มหาอำนาจใหม่ซึ่งเป็นดาวรุ่งที่มาท้าทายมหาอำนาจเก่าอย่างสหรัฐฯ ชัดเจนว่าก็คือจีน ที่ตอนนี้กำลังทะยานขึ้นเป็นผู้กุมอนาคตทางการค้าและเทคโนโลยี ขณะที่สหรัฐฯ ที่อำนาจอยู่ในช่วงถดถอย ก็พยายามที่จะปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของจีน เพื่อที่จะรักษาสถานะการเป็นมหาอำนาจเชิงเดี่ยวที่จัดระเบียบโลกเอาไว้ให้ได้

 

“สถานการณ์เช่นนี้เห็นค่อนข้างเด่นชัดมาตั้งแต่ปี 2017 แต่สำหรับปีต่อๆ ไป สิ่งที่จะแตกต่างคือเราจะเห็นการดึงสมัครพรรคพวกเข้ามาเพื่อเสริมทัพให้แต่ละฝ่ายมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้โลกจะเผชิญสถานการณ์ ‘สามเส้า’ หรือ ‘สามขั้วมหาอำนาจ’ ซึ่งได้แก่ จีนกับพันธมิตรเก่าๆ อย่าง BRICS, Shanghai Cooperation Organisation ต่อมาคือสหรัฐฯ กับพันธมิตรเดิมอย่าง สหภาพยุโรป, อังกฤษ, ออสเตรเลีย, แคนาดา และนิวซีแลนด์

 

“ส่วนขั้วที่ 3 ซึ่งจะเห็นบทบาทโดดเด่นมากยิ่งขึ้น และเป็นกลุ่มที่ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างก็อยากจะดึงเข้ามาเป็นพวก ซึ่งก็คือกลุ่มประเทศในโลกมุสลิม ประเทศในแอฟริกา และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

 

“เพราะฉะนั้นเราก็จะได้เห็นความพยายามในการที่จะดึงกลุ่มประเทศนี้เข้ามาเป็นพรรคพวกของแต่ละฝ่าย และนั่นก็จะทำให้สมรภูมิของมหาอำนาจที่ขับเคี่ยวกันในมิติของภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น”

สถานการณ์อะไรมีความสุ่มเสี่ยงน่ากังวลมากที่สุด

 

รศ.ดร.ปิติกล่าวว่า “แน่นอนว่าคือสถานการณ์ที่หลายๆ คนมองว่ามันอาจกลายเป็น ‘สงครามตัวแทน’ เนื่องจากจีนกับสหรัฐฯ คงไม่มีการปะทะกันโดยตรง เพราะจะแย่ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เห็นได้จากการปะทะกันในสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยี ซึ่งก็เจ็บตัวไปด้วยกันทั้งคู่” 

 

แต่นอกเหนือจากสงครามตัวแทนที่คนทั้งโลกให้ความสนใจแล้ว ก็ยังมีอีก 8 พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่อาจเป็นจุดวาบไฟ (Hot Spot) ซึ่งเราควรจับตาเฝ้าระวังไม่แพ้กัน อันได้แก่

 

  1. ความขัดแย้งดั้งเดิมระหว่าง NATO และรัสเซีย: รศ.ดร.ปิติกล่าวว่า ต้องจับตาต่อไปว่าสถานการณ์ในยูเครนนั้นจะพลิกออกไปอย่างไร โดยมองว่าสถานการณ์ NATO และรัสเซียคือสงครามเย็นที่ยังไม่สิ้นสุด

 

  1. ตะวันออกกลาง: ดินแดนแห่งนี้ในอดีตเคยถูกแบ่งแยกแล้วปกครอง (Divide and Rule) หรือการทำให้แตกความสามัคคีเพื่อที่จะเข้าไปครอบงำได้ แต่มาวันนี้จีนพยายามสร้างพันธมิตรในตะวันออกกลางให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน และมาทำธุรกิจร่วมกัน ซึ่งตรงนี้จะกลายเป็นจุดเปราะบางที่ถือว่าเป็นทางแยกสำคัญของแผนที่โลก เพราะว่ายุโรป เอเชีย แอฟริกา เชื่อมกันอยู่ด้วยตะวันออกกลาง

 

  1. แอฟริกา: ตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรประมาณ 1,200 ล้านคน อีกทั้งยังมีทรัพยากรทางธรรมชาติมหาศาล ซึ่งแต่ก่อนเป็นดินแดนที่ถูกมองข้าม แต่วันนี้ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างก็พยายามที่จะดึงไปเป็นพันธมิตร

 

  1. เอเชียใต้: ที่น่าจับตาที่สุดคืออินเดีย จากแต่ก่อนเป็นประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement) มาวันนี้อินเดียผูกมิตรกับทุกฝ่ายกลายเป็นประเทศที่เน้นหลายแนวร่วม (Multi-Align Movement) โดยอินเดียเป็นเพื่อนได้กับทั้งสหรัฐฯ จีน รัสเซีย และยุโรป เพราะฉะนั้นเอเชียใต้จะเป็นตัวแปรสำคัญทางภูมิศาสตร์

 

  1. คาบสมุทรเกาหลี: ภูมิภาคนี้เป็นจุดที่มีความไม่แน่นอนสูงสุด เพราะสถานการณ์ของเกาหลีเหนือที่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องนั้น ทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมแค่คนเดียวนั่นก็คือ คิมจองอึน ซึ่งมีความไม่แน่นอนทั้งสภาวะจิตใจและวิธีคิดของผู้นำ

 

  1. ช่องแคบไต้หวัน: พื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่จีนและสหรัฐฯ ต่างพยายามช่วงชิงกัน และมีความเกี่ยวโยงพัวพันกับอีกหลายประเด็น เช่น เรื่องของเทคโนโลยี ความมั่นคงทางการทหาร และการดำเนินนโยบายความคลุมเครือเชิงยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ ดำเนินต่อไต้หวัน 

 

  1. ทะเลจีนใต้: เขตอิทธิพลของจีนและประเด็นพิพาทของอาเซียน อีกหนึ่งจุดวาบไฟที่ชาติมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ เข้ามาเพราะต้องการทรัพยากร ซึ่งเป็นจุดที่ใกล้ประเทศไทย และถ้าเกิดอะไรขึ้นเราอาจได้รับผลกระทบตามไปด้วย แม้จะไม่มีพื้นที่พิพาทเหมือนชาติอื่นๆ ก็ตาม

 

  1. Zomia: ดินแดนเทือกเขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ปัจจุบันกลายเป็นเส้นทางการค้า เป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรจำนวนมาก ซึ่งรัฐอยากเข้าไปครอบงำ ทว่า ความต้องการของรัฐนั้นขัดแย้งกับความต้องการของคนในพื้นที่ที่อยากมีอิสระ โดยเฉพาะในเขตที่ยังไม่มีรัฐชาติอย่างชัดเจน เช่นในกรณีของเมียนมา เป็นต้น

ไทยควรยืนตรงไหน ในยุคโลกหลายขั้วอำนาจ

 

รศ.ดร.ปิติ เสนอมุมมองที่น่าสนใจว่า โลกปัจจุบันเปรียบเหมือน ‘สามก๊กในศตวรรษที่ 21’ โดยมีตัวละครสำคัญคือสหรัฐฯ ซึ่งเปรียบเสมือนโจโฉที่มีอำนาจอยู่ในมือ และต้องพยายามรักษาอำนาจนั้นไว้ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ส่วนจีนเหมือนเล่าปี่ และประเทศเกิดใหม่เหมือนซุนกวน 

 

แต่แท้ที่จริงแล้ว คนที่กุมชัยชนะตัวจริงในสงครามสามก๊กกลับไม่ใช่ตัวเอกทั้งสาม แต่เป็นสุมาอี้

 

“สุมาอี้คือนักปราชญ์ เป็นนักยุทธศาสตร์ที่รู้จักเร้นกายหลบซ่อนตัวเอง รอคอยจังหวะผูกมิตร สร้างคนดีๆ วางยุทธศาสตร์ดีๆ เพื่อในที่สามารถเอาชนะได้ทั้งหมด” รศ.ดร.ปิติกล่าว “เพราะฉะนั้นคำถามก็คือว่า ประเทศไทยเราจะทำอย่างไรที่จะให้สามารถวางตัวได้ในลักษณะเดียวกับสุมาอี้ และใช้ประโยชน์จากสถานการณ์แบบนี้เพื่อให้ประเทศไทยเราพัฒนาต่อไปได้”

ยุทธศาสตร์และนโยบายต่างประเทศของไทยในรัฐบาลชุดนี้ เหมาะสมกับระเบียบโลกใหม่มากน้อยแค่ไหน 

 

เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Bloomberg ระหว่างการเยือนสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับทิศทางของประเทศไทยที่จะมุ่งหน้าไปต่อจากนี้ โดยหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจระหว่างการให้สัมภาษณ์ คือเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมหาอำนาจโลกที่เป็นคู่แข่งขันกันมานมนานอย่างสหรัฐฯ และจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ทั้งสองขั้วอำนาจเปิดฉากการขับเคี่ยวกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเศรษฐากล่าวว่า “นี่เป็นหนึ่งในเรื่องที่ผมกลัวมากที่สุด นั่นคือประเทศเล็กๆ ต้องถูกบีบให้เลือกข้าง”  

 

คำกล่าวของเศรษฐานั้นสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ระเบียบโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอันเกิดจากแรงกระแทกหนักๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี โรคระบาด ท่ามกลางการงัดข้อกันของชาติมหาอำนาจ ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายอันยิ่งใหญ่สำหรับรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งจะต้องอ่านเกมโลกให้ออก วางแผนยุทธศาสตร์ให้ทัน เพื่อสิ่งสำคัญที่สุดนั่นคือผลประโยชน์ของประเทศไทยและประชาชนทุกคน

 

THE STANDARD ถามความคิดเห็นของ รศ.ดร.ปิติ ว่าในมุมมองของอาจารย์นั้น คิดเห็นอย่างไรกับนโยบายต่างประเทศของไทยในรัฐบาลชุดนี้ 

 

รศ.ดร.ปิติกล่าวว่า “ผมคิดว่าตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะวิพากษ์วิจารณ์ แต่เราก็เห็นความตั้งใจดีของรัฐบาลที่พยายามจะสร้างนโยบายขึ้นมา และการตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาดูแลแล้วด้วย นอกจากนี้เศรษฐาเองหลังจากที่เสร็จสิ้นการประชุม UN ก็ไปเยือนประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาเลย ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ก็มีอีกหลายเรื่องที่ประเทศไทยเราควรทำมากกว่านี้ โดยเฉพาะในสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้”

 

รศ.ดร.ปิติเสนอแนะเพิ่มเติมว่า สิ่งแรกที่รัฐบาลควรทำให้ได้นั้นคือ สร้างองค์ความรู้ให้คนไทยตระหนักว่าการต่างประเทศเป็นเรื่องใกล้ตัว

 

“การต่างประเทศไม่ใช่การเชียร์มวยเลือกข้างเอาแค่สะใจ ฝ่ายแดง-ฝ่ายน้ำเงิน เพราะฉะนั้นอันนี้อาจยังเป็นจุดอ่อนที่เรายังไม่เห็นทีมรัฐบาลชุดนี้จะสามารถสร้างจิตสำนึกหรือทัศนคติแบบนี้ให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงการเข้าใจได้”

 

รศ.ดร.ปิติเล่าต่อไปว่า เพราะในความเป็นจริงแล้วการต่างประเทศเป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทยมาก เช่น สงครามยูเครนที่ทำให้เกิดปัญหาการส่งออกธัญพืชนั้นทำให้คนไทยกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแพงมากขึ้นในรอบหลายปี หรืออย่างฝุ่น PM2.5 ที่ทำร้ายสุขภาพของคนไทย ก็เป็นผลจากการที่เกษตรกรในประเทศเพื่อนบ้านเผาวัสดุการเกษตรจนสร้างปัญหาฝุ่นละออง หมอกควัน ข้ามชายแดน เป็นต้น 

 

“จริงๆ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องจากต่างประเทศทั้งสิ้น ซึ่งตรงนี้หากรัฐบาลทำได้ก็จะมีกองหนุนที่เป็นประชาชนตัวจริง”

 

และเมื่อประชาชนตระหนักถึงความสำคัญ ทุกคนก็จะเรียนรู้ว่าในบริบทของการต่างประเทศนั้น ‘ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูที่ถาวร’ และด้วยเหตุที่เชื่อมโยงกันนี้ รัฐบาลต้องมีการกำหนดเป้าหมายการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติอย่างชัดเจน 

เราต้องผลักดัน Soft Power แต่ควรเลิกใช้คำว่า Soft Power

 

นอกจากนี้ รศ.ดร.ปิติยังได้หยิบยกประเด็นที่น่าสนใจอย่างคำว่า Soft Power ซึ่งเป็นหนึ่งในวาระที่รัฐบาลผลักดันมาพูดคุยกับ THE STANDARD โดยกล่าวว่า “เราต้องผลักดัน Soft Power แต่ควรเลิกใช้คำว่า Soft Power”

 

เพราะในทางปฏิบัติไม่มีประเทศไหนหรือรัฐไหนบนโลกที่ต้องการตกอยู่ใต้อำนาจ ของชาติอื่น ไม่ว่าจะเป็น Hard Power (แสนยานุภาพ) หรือ Soft Power (กัลยานุภาพ) ก็ตาม

 

“สังเกตว่าประเทศที่ใช้ Soft Power ในการผลักดันวัฒนธรรมของตนเองนั้น ไม่มีใครที่พูดคำว่า Soft Power กันตรงๆ เช่น ญี่ปุ่นวางตำแหน่งแห่งที่ของตนในทาง Soft Power และเรียกการรณรงค์ของตนว่า Cool Japan ในขณะที่เกาหลีเรียกว่า Korean Wave ที่ใช้ตัวอักษร K นำหน้า เช่น K-Pop, K-Drama, K-Lifestyle ส่วนสหรัฐฯ ก็จะมีการสอดแทรกวัฒนธรรมอยู่ในหลายรูปแบบเช่น Hollywood หรือ MTV เป็นต้น”

 

ไทยมีจุดแข็งมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมอาหาร ประเพณีงานเทศกาล ประวัติศาสตร์ สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม กีฬา งานศิลปะ ภาพยนตร์ หรือเพลง ฯลฯ แต่เราต้องเลิกเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า Soft Power เพราะอย่างที่กล่าวไปตอนต้น 

 

“เพราะฉะนั้นความปรารถนาดีของเรามันจะไปสร้างความหวาดระแวงและสร้าง Trust Crisis แทน เพราะฉะนั้นต้องเลิกใช้คำว่า Soft Power แล้วไปใช้คำอื่นๆ เช่น Amazing Thailand หรือ Thailand Only หรือ Thainess ก็ได้ และต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าเราจะไปทางไหน ทำเรื่องเหล่านี้เพื่ออะไร และมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เพราะเราไม่สามารถตำน้ำพริกละลายแม่น้ำได้”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X