เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวจากโควิด หนึ่งในตลาดที่กำลังร้อนระอุขึ้นทุกวันคือ ตลาดเบียร์ มูลค่า 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งหากไม่นับเบียร์น้องใหม่จาก เสถียร เศรษฐสิทธิ์ เจ้าพ่อโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงที่ใกล้จะคลอดอย่างเป็นทางการแล้ว ด้านผู้เล่นเดิมอย่าง ช้าง ก็เร่งขยับตัวเช่นกัน
ข้อมูลจากนีลเส็นไอคิว (ประเทศไทย) พบว่าตลาดเบียร์พรีเมียมมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 10% มีมูลค่ารวมมากกว่า 20,000 ล้านบาท และมีการเติบโตเกือบ 40% โดยปัจจุบันเบียร์ช้างมีผลิตภัณฑ์ในตลาดเบียร์พรีเมียมอยู่ 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ช้าง โคลด์ บรูว์, ช้าง เอสเปรสโซ่ และช้าง อันพาสเจอไรซ์
ช้าง อันพาสเจอไรซ์ เป็นสินค้าน้องใหม่ที่เพิ่มเปิดตัวได้ราว 10 เดือน โดยมาพร้อมกับกลยุทธ์ที่แตกต่างผ่านการวางขายเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายก่อน เพราะมีการเติบโตในแง่ของส่วนแบ่งการตลาดและยอดขายมากที่สุด และเป็นจังหวัดที่เบียร์ช้างเป็นเจ้าตลาด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘ไทยเบฟ’ เปิดศึกชิงเบอร์ 1 ตลาดเบียร์ ส่ง ‘ช้าง อันพาสเจอไรซ์’ ขายในเชียงใหม่-เชียงรายเป็นแห่งแรก เขย่าตลาดเบียร์พรีเมียมครั้งแรกในไทย
- เบียร์พรีเมียมแมสพุ่ง เพราะคนไทยหันมาดื่มวันธรรมดาโดยไม่ต้องรอเทศกาล ‘ไทยเบฟ’ สบโอกาส ทุ่มพันล้านส่ง ‘ช้าง โคลด์ บรูว์’ บุกช่องทางโชห่วย
- จากการผูกขาดสู่อิสรภาพทางการตลาด ‘ปิติ ภิรมย์ภักดี’ ทายาทเบียร์สิงห์เดินหน้าหนุน ‘สุราก้าวหน้า’ รับมีผลกระทบแต่มีแผนรองรับแล้ว
ทรงวิทย์ ศรีธรรม ผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย บริษัท ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ระบุว่า ช้าง อันพาสเจอไรซ์ สามารถตอบโจทย์เมกะเทรนด์ของผู้บริโภคที่มองหาสินค้าที่คุ้มค่าและประสบการณ์ความแปลกใหม่ ทำให้เป็นเบียร์พรีเมียมที่มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ผลวิจัยการตลาดของอิปซอสส์ ประเทศไทย (Ipsos Thailand) พบว่า 85% เห็นว่าช้าง อันพาสเจอไรซ์ ช่วยเสริมแกร่งภาพลักษณ์ความพรีเมียมให้กับแบรนด์ช้าง”
ผลตอบรับที่ดีทำให้ช้างตั้งเป้าเพิ่มยอดขายแบบก้าวกระโดด 500% สำหรับ ช้าง อันพาสเจอไรซ์ ภายในปี 2567 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาถึงโอกาสและความเป็นไปได้ในการขยายพื้นที่จำหน่าย โดยควบคุมคุณภาพตลอดทุกกระบวนการตั้งแต่การผลิต
เพราะแม้ ช้าง อันพาสเจอไรซ์ จะบอกว่าสร้างความแตกต่างจากการผลิตแบบที่ไม่ผ่านความร้อนหลังบรรจุขวด ตลอดจนการขนส่งด้วยระบบโคลด์เชน (Cold Chain) ของเบียร์เพื่อคงความสดใหม่ ก็กลายเป็นความท้าทายด้วยเช่นกัน
ด้วยข้อจำกัดด้านการขนส่งภายในระยะเวลา 4-6 ชั่วโมง และการรักษาอุณหภูมิให้ไม่เกิน 4 องศาฯ รวมทั้งการเก็บรักษาก่อนเสิร์ฟให้ผู้บริโภค เพื่อคงความสดใหม่และรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ หากทำได้ไม่ดีก็จะทำให้คุณภาพเสียไปทันที จึงต้องวางแผนการผลิตและการขนส่งอย่างรัดกุม