จากกรณีที่มีรายงานว่า รัฐบาลอาจขยายกรอบวินัยการเงินการคลังตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ไปสู่ระดับ 45% ของวงเงินงบประมาณจากระดับ 32% ในปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันมาตลอดว่าจะไม่กู้เงิน เพื่อไม่ให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น
วันนี้ (26 กันยายน) รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH โดยมองว่า การขยายเพดานการใช้เงินของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือมาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ไปถึงระดับ 45% เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงมาก
พร้อมทั้งแสดงความกังวลว่า การขยายเพดานมาตรา 28 ดังกล่าว จะทำให้ไทยเสี่ยงถูกปรับลดอันดับเครดิตมากกว่าการกู้เงินโดยตรงเสียอีก เนื่องจากเป็นการเพิ่มความไม่โปร่งใสและสร้างความกังขาให้แก่สถาบันการจัดอันดับเครดิต ขณะที่ภาระทางการคลังก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
ทำไมรัฐบาลถึงเลือกใช้ ม.28 เป็นแหล่งเงิน?
รศ.ดร.อธิภัทร อธิบายว่า การเลือกใช้วิธีการนี้เป็นผลมาจากรัฐบาลพยายามหาเงินมาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ภายใต้เงื่อนไขคือ ทำอย่างไรไม่ให้ ‘หนี้สาธารณะ’ เพิ่มขึ้นเยอะเกินไป เนื่องจาก
- ตามแผนการคลังระยะปานกลางระบุว่า ในปีงบประมาณ 2567 หนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 63.37% ต่อ GDP
- ระดับหนี้สาธารณะก็ยังเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่บริษัทจัดอันดับเครดิตต่างๆ ใช้พิจารณาอันดับเครดิตประเทศด้วย
“เนื่องจากรัฐบาลไม่อยากให้นโยบายดังกล่าวกระทบกับระดับหนี้สาธารณะ จึงหันมาใช้มาตรการกึ่งการคลัง (Quasi-Fiscal) แทน ผ่านมาตรา 28 โดยขยายเพดานเป็น 45% ซึ่งอาจเรียกว่าสูงที่สุดตั้งแต่ไทยมีมาตรา 28 มาเลยก็ว่าได้
“โดยการดำเนินการเช่นนี้ตอบโจทย์รัฐบาลในแง่ที่ว่า หนี้สาธารณะอาจไม่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการเหล่านี้ยังเป็นภาระทางการคลังของประเทศอยู่ดี เนื่องจากรัฐบาลก็ยังต้องจ่ายหนี้คืนสถาบันการเงินของรัฐในอนาคต”
ใช้มาตรา 28 เสี่ยงถูกหั่นเครดิตมากกว่าการกู้โดยตรง
รศ.ดร.อธิภัทร ยังมองว่า การใช้มาตรา 28 เสี่ยงมากกว่าการกู้เงินโดยตรง เนื่องจากเป็นการเพิ่มความไม่โปร่งใสของการทำนโยบาย
“ตัวอย่างเช่น หากรัฐบาลกู้เงินตรงๆ แม้หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นชัดเจน แต่สาธารณชนก็จะเห็นที่มาที่ไปของเงิน รู้ว่าหนี้เพิ่มขึ้นแล้ว รัฐบาลจะมีภาระที่ต้องจ่ายคืนเงินต้นดอกเบี้ยอย่างไร
“อย่างไรก็ตาม การดำเนินการผ่านมาตรา 28 เท่ากับเป็นการเอาหนี้ไปหมกไว้ที่แบงก์รัฐต่างๆ แล้วค่อยทยอยใช้คืน ดังนั้นสาธารณชนก็จะไม่ทราบชัดเจนว่าแผนการใช้คืนเงินของรัฐบาลในอนาคตจะเป็นอย่างไร ต้นทุนที่ต้องจ่ายคืนเป็นเท่าไร ซึ่งผมมองว่าเป็นการสร้างคำถามต่อวินัยการคลังของรัฐมากกว่าการกู้เงินโดยตรงเสียอีก”
รศ.ดร.อธิภัทร กล่าวอีกว่า จากรายงานฉบับล่าสุดของ Moody’s ระบุชัดเจนว่า ความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะปฏิบัติตามแผนการคลังระยะปานกลางอ่อนแอลง (Weaker Commitment) ซึ่งสะท้อนถึงความอ่อนแอของ ‘วินัย’ การคลัง
“ดังนั้นหากถามว่า การที่รัฐบาลนำหนี้ไปหมกไว้ที่แบงก์รัฐ จะทำให้ไทยไม่ถูกดาวน์เกรดหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่เลยครับ และการทำแบบนี้จะทำให้เราดูแย่ลงไปอีก เนื่องจากเราไม่มีความโปร่งใสเพิ่มขึ้นมา ขณะที่ภาระการคลังก็เพิ่มขึ้นเหมือนเดิม”
รศ.ดร.อธิภัทร ยังเตือนด้วยว่า สิ่งที่ต้องให้ความกังวลมากกว่าการถูกดาวน์เกรดคือ การสร้างภาระการคลังขนาดใหญ่ คือการผูกมัดประเทศในระยะยาว ดังนั้นหากการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ไม่ได้ Jump Start เศรษฐกิจไปสู่ฐานรากอย่างที่ตั้งใจไว้ จะเท่ากับเป็นการเทเงินโดยเสียเปล่า
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตงบประมาณที่จะใช้ลงทุนกับการศึกษาหรือสวัสดิการต่างๆ ก็อาจถูกจำกัด เพราะมีเงื่อนไขภาระดอกเบี้ยแลัภาระเงินต้นที่รัฐบาลต้องจ่ายในอนาคต นอกจากนี้หากในท้ายที่สุดไทยถูกดาวน์เกรดลง ต้นทุนหรือภาระดอกเบี้ยก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น