Ebury และ Societe Generale SA (SocGen) สองสถาบันการเงินระดับโลก ออกมาคาดการณ์ว่าเงินบาทกำลังจะพลิกกลับมาอยู่ในทิศทางแข็งค่า และมีโอกาสปิดสิ้นปีที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าขึ้นจากปัจจุบันถึง 5% แม้นับจากต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เงินบาทจะอ่อนค่าลงไปแล้วถึง 2.8% ทำสถิติเป็นสกุลเงินเอเชียที่ทำผลงานได้ย่ำแย่สุดในภูมิภาค
ปัจจัยหลักที่ทำให้นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนของสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่งเชื่อมั่นว่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่า คือเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มจะขยายตัวได้ดีขึ้นจากนโยบายกระตุ้นของรัฐบาลใหม่ของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งนับจากเข้าสู่ตำแหน่งได้เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วหลายประการ เช่น การลดค่าไฟฟ้าและน้ำมัน การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกรและธุรกิจขนาดเล็ก และการปลดล็อกวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจากจีนและคาซัคสถาน
“ปัจจัยเสี่ยงเฉพาะตัวของประเทศไทยหลายประการคลี่คลายลง โดยเฉพาะความไม่แน่นอนทางการเมือง เมื่อนำภาพดังกล่าวมาประกบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ที่จะส่งผลบวกต่อการบริโภคและการท่องเที่ยว รวมถึงเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงเล็กน้อย เงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้น” Vijay Kannan นักกลยุทธ์มหภาคของ SocGen ระบุ
ในรอบเดือนที่ผ่านมา เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผลตอบแทนพันธบัตรที่มีมูลค่าลดลงจากความกังวลของตลาดที่คาดว่ารัฐบาลไทยต้องกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นเพื่อนำมาใช้ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ
“ความกังวลต่อเสถียรภาพทางการคลังจะมีผลต่อเงินบาทในระยะสั้น แต่ในระยะปานกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้น และการกลับมาของนักท่องเที่ยวจะมีน้ำหนักมากกว่า” Saktiandi Supaat นักกลยุทธ์ของ Maybank กล่าว
ขณะที่ Kaseedit Choonnawat นักวิเคราะห์ของ Citigroup ประเมินว่า การกลับมาแข็งค่าของเงินบาทจะช่วยให้ภาพรวมของการลงทุนในหุ้นไทยปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่ในรอบเดือนที่ผ่านมา SET Index ของไทยติดลบไปถึง 3.2% ทำผลงานได้ย่ำแย่สุดในภูมิภาค โดยมีโอกาสที่หุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ เช่น CP ALL, ธนาคารกรุงเทพ และเซ็นทรัล รีเทล จะได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ
นอกจากนี้ หากคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 27 กันยายนนี้ ก็จะยิ่งหนุนให้เงินบาทยิ่งแข็งค่าขึ้น
อ้างอิง: