วันนี้ (24 กันยายน) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติและกำหนดแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลว่า หลักการในเรื่องของการไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 เป็นเรื่องที่ทั้งตนและพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุน แต่ที่ต้องทักท้วงคือ หลักคิดในเรื่องของการที่รัฐบาลจะใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นแบบนั้น ขอให้คิดให้รอบคอบ
จุรินทร์กล่าวว่า เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากเกินไป จนบางยุคทำให้การตรวจสอบรัฐบาล โดยเฉพาะผู้นำรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี ทำได้ยากมาก จนทำให้ไม่สามารถตรวจสอบหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้เลย ถ้าตั้งรัฐบาลด้วยเสียงเกินกว่า 300 เสียงขึ้นไป หรือเกินกว่า 3 ใน 5
จุรินทร์ระบุว่า การจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ ฝ่ายค้านต้องมีเสียงเกินกว่า 200 เสียง หรือ 2 ใน 5 ขึ้นไปเท่านั้น ทำให้บางยุคไม่สามารถตรวจสอบนายกรัฐมนตรีได้เลยตลอดอายุรัฐบาล นำไปสู่การมีรัฐบาลกินรวบดังที่เคยประสบในบางยุค เพราะนายกรัฐมนตรีอาศัยช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบตั้งแต่ต้น อีกทั้งยังให้อำนาจฝ่ายบริหารเข้าไปมีบทบาทในการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระต่างๆ ใช้ช่องว่างของรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของฝ่ายบริหาร จนต้องแก้ไขในปี 2550 ในที่สุด
จุรินทร์กล่าวอีกว่า ถ้าใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 มาสวมในสถานการณ์ปัจจุบัน การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเศรษฐาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะรัฐบาลมีเสียงเกิน 3 ใน 5 นั่นคือมีถึง 314 เสียง ฝ่ายค้านมีไม่ถึง 200 เสียง ก็จะไม่สามารถยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้
“ถ้านายกรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินผิดพลาด ล้มเหลว และเกิดการทุจริตคอร์รัปชันขึ้นมาในอนาคต จะเท่ากับพาประเทศย้อนยุคกลับไปสู่ปัญหาเดิมที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตได้อีก จึงควรคิดกันให้รอบคอบ” จุรินทร์กล่าว
จุรินทร์ยังกล่าวอีกว่า ที่พูดนี้ไม่ได้แปลว่าจะตั้งธงอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแล้ว เพราะยังไม่ใช่เวลา รัฐบาลเพิ่งเริ่มต้น ตนเพียงแต่ต้องการทักท้วงไว้ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกติกาสำคัญของประเทศ และหากแก้แล้วต้องใช้ต่อไปในอนาคตจะได้ไม่พาประเทศย้อนยุคกลับไปสู่ปัญหาที่เคยเกิดในอดีตที่เราไม่อยากเห็นอีก