นักท่องเที่ยวทั่วโลกปักหมุดหมายปลายทางภูเขาไฟฟูจิ! หลังประเมินอีก 2 ปีตัวเลขจะสูงเป็นประวัติการณ์ ญี่ปุ่นจึงตัดไฟตั้งแต่ต้นลมเพื่อแก้ปัญหาจราจรแออัด และรับมือบรรดานักปีนเขาที่อาจจะล้นเกินแผนรองรับในอนาคต ด้วยการสร้างรถไฟรางเบาเพิ่มมากขึ้น และนำโมเดลรถไฟเมือง ‘Zermatt’ ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาปรับใช้ เพื่อรักษาสถานที่ท่องเที่ยวให้คงเสน่ห์ของธรรมชาติที่สวยงาม ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดีด้วย
ญี่ปุ่นมีแผนสร้างรถไฟรางเบามากขึ้นบนเส้นทางภูเขาไฟฟูจิ ที่สถานีฟูจิซูบารุเป็นแห่งที่ 5 ด้วยระดับความสูง 2,300 เมตร (7,540 ฟุต) ให้เป็นศูนย์กลางจุดหมายปลายทางหลักสำหรับนักท่องเที่ยว นักปีนเขาที่รักธรรมชาติ ซึ่งช่วงก่อนโควิดมีจำนวนมากถึง 5 ล้านคนต่อปี พร้อมนำโมเดลเมืองเซอร์แมท (Zermatt) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเส้นทางภูเขาธรรมชาติอันสวยงามของยุโรป มาปรับใช้
เบื้องต้นโครงการรถไฟฟ้ารางเบาจะเปลี่ยนจุดหมายปลายทางให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ในระดับหรูหรามากขึ้น หรือสำหรับผู้มีกำลังจ่าย ซึ่งโมเดลนี้จะสามารถช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้อย่างดี โดยราคาตั๋วไป-กลับคาดว่าจะอยู่ที่ราวๆ 10,000 เยน (68 ดอลลาร์) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมยานพาหนะส่วนตัวในปัจจุบันที่ 2,100 เยน เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว
มาซาตาเกะ อิซุมิ เจ้าหน้าที่ของจังหวัดยามานาชิ ผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าว กล่าวว่า หากไม่มีแผนดังกล่าว ภูเขาไฟฟูจิอาจสูญเสียเสน่ห์อันสวยงามในอนาคต เนื่องจากนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะในช่วงฤดูปีนเขาหน้าร้อน รถยนต์และรถบัสหลายร้อยคัน รวมถึงนักปีนเขาหลายพันคน จะมารวมตัวกันที่สถานที่แห่งนี้ จึงทำให้ที่จอดรถและห้องน้ำไม่เพียงพอ หากไม่มีแผนอะไรเลยจะยิ่งส่งผลต่อสภาพแวดล้อมและชุมชน
ทั้งนี้ แผนดังกล่าวอยู่ท่ามกลางการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลก นับตั้งแต่ประเทศเปิดเมื่อปีที่แล้ว และหลังจากจีนยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางสำหรับพลเมือง ดังนั้น หากดูจากจำนวนนักท่องเที่ยวปัจจุบัน คาดว่าผู้มาเยือนญี่ปุ่นจะพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในอีก 2 ปี หรือปี 2568
อย่างไรก็ตาม การใช้รถไฟรางบางที่มีอยู่ในปัจจุบัน แม้เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถประเมินผลได้อย่างชัดเจนในเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเพียงการห้ามใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล และกำหนดให้ผู้มาท่องเที่ยวหันไปใช้รถไฟฟ้ารางเบาก่อนหน้านี้ ทำให้เห็นว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกโดยเฉลี่ยที่ปล่อยออกมาต่อผู้โดยสารต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับรถไฟที่มีน้ำหนัก 17 กรัม เทียบกับรถโดยสารหรือรถยนต์ที่อยู่ที่ 57 กรัม และ 130 กรัม ตามลำดับ
แน่นอนว่าแผนรถไฟฟ้ารางเบาของภูเขาไฟฟูจินั้นจะคล้ายคลึงกับการพัฒนาเมือง ‘Zermatt’ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่กำหนดให้นักท่องเที่ยวต้องเข้าถึงเมืองตากอากาศบนภูเขาด้วยรถไฟเท่านั้น
พอล ปีเตอร์ ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยในเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า การเดินทางด้วยรถไฟจะช่วยลดปัญหาที่จอดรถ ลดภาระ และมีประโยชน์ต่อความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิทัศน์มากกว่า อีกทั้งยังสามารถทำให้จุดหมายปลายทางมีความพิเศษมากขึ้น รวมไปถึงดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีกำลังจ่ายสูงมากขึ้น
นอกจากประชาชนและนักท่องเที่ยวจะสามารถจ่ายได้ในราคาที่เหมาะสมแล้ว ที่สำคัญคือ ญี่ปุ่นต้องการสร้างโมเดลธุรกิจนี้เพื่อกระตุ้นและสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วย
อ้างอิง: