×

เลือกตั้ง 66 ENDGAME: 3 พรรคใหญ่ไร้หัว ‘ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย-ก้าวไกล’ เมื่อผู้นำคนใหม่ โจทย์ใหญ่คือประชาชน

โดย THE STANDARD TEAM
22.09.2023
  • LOADING...
หัวหน้าพรรค

การเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา การเมืองไทยปั่นป่วนไม่น้อยโดยเฉพาะตำแหน่ง ‘หัวหน้าพรรค’ ที่ต้องหลุดออกจากเก้าอี้ ที่ล้วนเป็นผลจากการเลือกตั้ง และเหตุผลทางการเมืองที่เคยประกาศคำมั่นสัญญาไว้กับประชาชน

 

ณ วัน-เวลานี้ มีพรรคการเมืองไทยถึง 3 พรรคที่ไร้หัว (หน้าพรรค) นำทาง ทั้งประชาธิปัตย์ เพื่อไทย และก้าวไกล

 

ประชาธิปัตย์ ผู้นำ One Democrat

 

เริ่มต้นที่พรรคประชาธิปัตย์ นับตั้งแต่ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ประชาธิปัตย์ได้ผู้แทนฯ เข้าไปนั่งในสภาอันทรงเกียรติเพียง 25 ที่นั่งเท่านั้น นับเป็นสถิติที่ไม่น่าพอใจนักหาก นับเนื่องช่วงเวลาการเมือง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

 

ในเวลาต่อมา จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคคนที่ 8 ผ่านทางไลน์ทันทีหลังทราบผลการเลือกตั้ง จนถึงขณะนี้ล่วงเลยเข้าเดือนที่ 4 ที่พรรคประชาธิปัตย์ยังไร้หัวหน้าพรรคคนใหม่อยู่

 

ประชาธิปัตย์ผ่านการประชุมใหญ่ฯ เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่มาแล้วถึง 2 ครั้ง และการประชุมก็ล่มทั้ง 2 ครั้ง

 

เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย เดชอิศม์ ขาวทอง สส. สงขลา และรองหัวหน้าพรรค ที่ดูแลการเลือกตั้งภาคใต้ ซึ่งกุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ไว้ ได้แถลงประณามหลังการประชุมล่มครั้งที่ 2 ว่า ‘เป็นพฤติกรรมที่เลวร้าย’ โดยไม่ได้เกิดตามธรรมชาติ แต่เกิดจากพฤติกรรมของคนบางกลุ่มในพรรคที่ทำให้ต้องล่มการประชุม

 

สำหรับสาเหตุที่ประชาธิปัตย์ยังไม่ได้หัวหน้าพรรคคนใหม่นั้น เนื่องจากข้อบังคับของพรรค มีเกณฑ์คำนวณคะแนนเสียงในการเลือกตั้งสมาชิกเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคให้องค์ประชุมของ สส. ปัจจุบันให้ถือเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 และสัดส่วนองค์ประชุมอื่นร้อยละ 30 

 

บุคคลที่ถูกวางตัวเพื่อเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 คือ นราพัฒน์ แก้วทอง อดีตรองเลขาธิการพรรค และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้รับผิดชอบภาคเหนือ เป็นอดีต สส. พิจิตร ลูกชาย ไพฑูรย์ แก้วทอง นักการเมืองบ้านใหญ่ อดีตรัฐมนตรีหลายรัฐบาล และอดีต สส. หลายสมัย

 

อย่างไรก็ตาม ภารกิจหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่นั้นไม่ง่ายนัก โดยต้องเร่งกอบกู้ประชาธิปัตย์ออกจากยุคที่ถูกเรียกว่า ‘มืดมน’ รวมถึงเรียกวิกฤตศรัทธาจากประชาชนกลับคืนมาให้ได้ ตั้งแต่ปี 2544 ประชาธิปัตย์พรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดยังไม่ได้ลิ้มรสชัยชนะการเลือกตั้งสักครั้ง 

 

โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ที่เดิมเคยเป็นพื้นที่ของประชาธิปัตย์อย่างเหนียวแน่นตลอดกาล แต่การเลือกตั้งรอบนี้ได้ที่นั่งในสภาเพียง 17 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 60 ที่นั่ง รวมถึงได้คะแนนเสียงจากประชาชนทั่วประเทศเพียง 920,000 เสียง ต่ำกว่า 1 ล้านเสียงเป็นครั้งแรก 

 

นราพัฒน์เคยให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า ทุกคนต้องเคารพมติพรรค และเดินไปข้างหน้าด้วยกัน ต้องเป็น ‘One Democrat’ ตนเองเข้ามาบริหารจัดการ ปรับเหลี่ยมโครงสร้างของพรรคประชาธิปัตย์ นำความเห็นของผู้อาวุโสมาผนวกกับความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ และยุทธวิธีใหม่เข้าด้วยกัน เพื่อเป็นประชาธิปัตย์หนึ่งเดียวให้ได้ 

 

เพื่อไทย ผู้นำฟื้นศรัทธา กอบกู้ชัยชนะกลับคืน

 

พรรคเพื่อไทยคว้าอันดับ 2 จากผลการเลือกตั้ง รองจากพรรคก้าวไกล ในทางคณิตศาสตร์ทางการเมือง แม้จะสามารถรวมเสียงตั้งรัฐบาล และผลักดัน เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้สำเร็จ แต่กว่าจะเดินมาถึงเป้าหมายนั้น เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบนัก

 

พรรคเพื่อไทยต้องเผชิญกับคำครหามาโดยตลอดว่า มีดีลลับจับมือกับพรรค 2 ลุง (พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ) เพื่อตั้งรัฐบาล รวมถึงนำพ่อ (ทักษิณ​ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) กลับบ้าน 

 

ขณะเดียวกัน ‘คำตอบ’ ที่ได้จากแกนนำพรรคก็ไม่ชัดเจน มิหนำซ้ำคำตอบเหล่านั้น กลับทำให้ต้องเสียคะแนนเสียงจากประชาชนที่รอคำตอบจากเรื่องนี้ด้วย

 

หนึ่งในคนที่ออกมาแสดงท่าที ยืนยันด้วยคำพูด และน้ำเสียงอย่างชัดเจนบนเวทีดีเบตที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 จนกลายเป็นคำพูดมัดตัว คือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย 

 

“ในฐานะหัวหน้าพรรคไม่จับมือกับพลังประชารัฐ ไม่จับมือ ไม่มีดีลกับลุงป้อม (พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ) ถ้าจับมือ ผมลาออกจากหัวหน้าพรรค…” นพ.ชลน่านกล่าว

 

ตลอดระยะเวลา 3 เดือนหลังการเลือกตั้ง ขณะที่ก้าวไกลเดินเกมในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหาเสียงจาก สส. และ สว. เพื่อไทยถูกวิจารณ์มาโดยตลอดว่า มีดีลลับกับขั้วรัฐบาลเดิม (พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ) ทั้งการไปพบทักษิณ อดีตนายกฯ ที่ฮ่องกง

 

รวมไปถึงการปรากฏภาพการชมฟุตบอลของ เศรษฐา ทวีสิน และ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวพรรคภูมิใจไทย ซึ่งอยู่ในเฟรมเดียวกัน ท่ามกลางฝูงชนนับหมื่นเต็มความจุสนามคิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม รังเหย้าของทีมเลสเตอร์ ซิตี้ ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

 

แม้ต้องเผชิญกับคำครหาต่างๆ พรรคเพื่อไทยก็ทำหน้าที่ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในการโหวตการประชุมร่วมกันของรัฐสภา 13 กรกฎาคม การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยครั้งแรก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่สามารถผ่านด่าน สว. ไปได้

 

จากนั้น เข้าสู่การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 พรรคเพื่อไทยยืนยันที่จะส่งชื่อพิธาชิงนายกฯ รอบที่ 2 แต่ถูกเสียงส่วนใหญ่ของ 2 สภาตีความว่าการเสนอชื่อพิธาซ้ำ เป็น ‘ญัตติต้องห้าม’ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ทำให้ไม่อาจเสนอชื่อเป็นรอบที่ 2 ได้ ท้ายที่สุดก้าวไกลไม่สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ พร้อมส่งต่อให้เพื่อไทย เป็นแกนนำหาเสียงตั้งรัฐบาลจาก สส. จากขั้วรัฐบาลเดิม และ สว.

 

หลังรับไม้ต่อจากก้าวไกล เพื่อไทยก็เดินเกมหาเสียง เปิดบ้านเจรจาตั้งรัฐบาลพรรคขั้วรัฐบาลเดิม ทั้งภูมิใจไทย, พลังประชารัฐ, รวมไทยสร้างชาติ, ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนากล้า ทุกพรรคมีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันคือ ไม่สนับสนุนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็น 1 ในนโยบายที่ก้าวไกลได้หาเสียงไว้

 

หลังจากนั้นไม่นาน พรรคเพื่อไทยก็สะบัดมือจากพรรคก้าวไกล พร้อมตั้งโต๊ะแถลงข่าวประกาศจับมือกับพรรคภูมิใจไทยตั้งรัฐบาล พร้อมตอบคำถามสื่อมวลชนถึงกรณีแคมเปญหาเสียง ‘ไล่หนู ตีงูเห่า’ ซึ่งมีความขัดแย้งกับพรรคภูมิใจไทย

 

“มันเป็นภาพของการรณรงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงเลือกตั้ง…เราไม่เคยประกาศว่าเราเป็นศัตรูกับใคร เราเป็นคู่แข่งกันจริง เทคนิคการหาเสียง วิธีการหาเสียง…” นพ.ชลน่านตอบคำถามกรณีแคมเปญหาเสียง ‘ไล่หนู ตีงูเห่า’ 

 

ยิ่งไปกว่านั้น ในรัฐบาลสลายขั้วของเพื่อไทยนั้น มีพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติร่วมรัฐบาลอยู่ด้วย กลายเป็นการตอกย้ำให้เพื่อไทยถูกกล่าวหาจากประชาชนที่ใช้ถ้อยคำรุนแรงว่า เป็นพรรคการเมืองที่ผิดคำพูดกับประชาชน ตระบัดสัตย์ และโกหก

 

หนึ่งสัปดาห์ถัดมา หลังพรรคเพื่อไทยบรรลุภารกิจตั้งรัฐบาล และสามารถส่ง เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างเป็นทางการได้สำเร็จ นพ.ชลน่าน ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค โดยให้เหตุผลว่า เพื่อทำตามที่ปราศรัยไว้กับประชาชน

 

พรรคเพื่อไทยกำหนดวันที่ 16 ตุลาคม เป็นวันประชุมวิสามัญใหญ่ เลือกหัวหน้า และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยมีการจับสัญญาณว่าผู้นำคนใหม่ของพรรคเพื่อไทย อาจมีชื่อ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย หรือไม่ หลัง สส. ส่วนใหญ่ก็ส่งเสียงเชียร์ให้ขึ้นมารับหน้าที่นี้  

 

สำหรับภารกิจของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่นั้น แม้จะได้เป็นรัฐบาล แต่หากมองไปถึงการเลือกตั้งในอีก 4 ปีข้างหน้า เป็นระยะเวลาไม่นานนัก สิ่งแรกที่ต้องเร่งทำคือ การฟื้นฟูความนิยมจากศรัทธา ซึ่งเป็นต้นทุนที่เสียไปจากการประกาศคำมั่นสัญญาที่ไม่ตรงกับภาคปฏิบัติในคราวนี้ รวมถึงการพิสูจน์ตัวเองจากการทำงานหนักในฐานะรัฐบาลของประชาชน

 

ก้าวไกล ผู้นำใหม่ กับภารกิจพาพรรคไปต่อ

 

พรรคก้าวไกล แม้ชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 กวาดที่นั่งผู้แทนราษฎร 151 ที่นั่ง ได้คะแนน 14 ล้านเสียง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรค รวม 312 เสียง แต่ก็ไม่สามารถฝ่าด่าน สว. รวมถึงพา พิธา เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลได้ 

 

ระยะเวลาผ่านไปไม่ถึงสัปดาห์ (19 กรกฎาคม) พิธายังถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเป็นอื่น จากกรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องกรณี ‘ถือหุ้นสื่อไอทีวี’ อย่างเป็นเอกฉันท์ ด้วยมติ 7 ต่อ 2 เสียง 

 

แม้พิธาจะถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ยังสามารถเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ต่อได้ แต่ขณะเดียวกันที่ประชุมร่วมรัฐสภาโต้แย้งว่า เป็นการขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่ห้ามไม่ให้เสนอญัตติซ้ำในการลงคะแนน 

 

พรรคก้าวไกลที่มีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคือ พิธา เพียงชื่อเดียว ได้ส่งต่อการจัดรัฐบาลให้กับพรรคอันดับ 2 คือ พรรคเพื่อไทย ขณะที่ในช่วงแรกยังคงมีท่าทีจะเป็นพรรครัฐบาลร่วมกัน 

 

แต่ด้วยเงื่อนไขการโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาร่วมเกิน 375 เสียง ทว่าหากยังมีพรรคก้าวไกลเป็นหนึ่งในพรรคร่วม สว. มีท่าทีที่จะไม่สนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รวมถึงพรรคการเมืองอื่นๆ ก็จะไม่สนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จด้วย

 

พรรคเพื่อไทยจึงต้องปล่อยมือจากก้าวไกล โดยหันไปจับมือกับพรรคการเมืองที่เหลือ ซึ่งประกอบด้วย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ จนสามารถผลักดัน เศรษฐา ทวีสิน ฝ่าด่าน สว. ขึ้นสู่เก้านายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้สำเร็จ 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อก้าวไกลไม่ได้ร่วมรัฐบาล และมีจำนวน สส. ถึง 151 ที่นั่ง จึงต้องสลับบทบาทกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีเสียง สส. มากที่สุด 

 

ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ในมาตรา 106 ระบุว่า ‘ภายหลังที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้ง สส. ผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร…’ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล  

 

หลังรัฐนาวาภายใต้การนำโดย เศรษฐา ทวีสิน เริ่มต้นการบริหารราชการแผ่นดินอย่างเป็นทางการ 

 

ในเวลาต่อมา พิธาประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยประกาศผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 15 กันยายน เพื่อเปิดทางให้พรรคได้เลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ที่เป็น สส. เข้าไปทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้าน 

 

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลมีกำหนดที่จะจัดการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ในวันเสาร์ที่ 23 กันยายนนี้ โดยมีปฏิกิริยาบางส่วนที่ส่งออกมาจากพรรคถึงคุณสมบัติผู้นำพรรคคนใหม่ ที่อาจเป็น ‘ชื่อ’ ของคนที่ปรากฏอยู่ตามโผ และอยู่กันมาตั้งแต่ยุคพรรคอนาคตใหม่ และยังเป็นบุคคลที่ทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในตลอด 4 ปีที่ผ่านมา 

 

ขณะที่สปอตไลต์ของสื่อจับไปที่ชื่อของ ชัยธวัช ตุลาธน รักษาการเลขาธิการพรรค ซึ่งมีดีเอ็นเอความเป็นอดีตอนาคตใหม่และก้าวไกล แต่จะใช่ ‘ชื่อ’ นี้หรือไม่ คาดว่าเราจะรู้พร้อมกันทั่วประเทศในวันเสาร์นี้ 

 

ไม่ว่าใครจะเป็นผู้นำพรรคสีส้มคนใหม่ ภารกิจในฐานะผู้นำพรรคนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากหัวหน้าพรรคคนก่อนอย่าง พิธา ที่ถูกมองว่าได้ตั้งมาตรฐานการเป็นผู้นำไว้สูง ขณะเดียวกันยังดึงดูดกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้ง New Voters บนสมรภูมิออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเปลี่ยนความนิยมบนโซเชียล เป็นคะแนนเสียงจริงได้สำเร็จ

 

การเปลี่ยน ‘ผู้นำ’ กลางศึก ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน ที่ยังต้องทำงานอีกหลายปีของก้าวไกล ในวาระหลังเลือกตั้งรอบใหม่ ไม่ใช่แค่มาตรฐานที่ต้องเทียบเคียงความนิยมจากพิธา แต่หมายถึงการนำทัพใหม่ ที่อาจต้องเจอกับเกมการเมือง เช่น การยุบพรรค หรือการวางเกมไปสู่การทำงานเพื่อไปสู่การเลือกตั้งในอีก 4 ปีข้างหน้าด้วย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X