ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics แนะผู้ประกอบการไทยเร่งเตรียมความพร้อมเผชิญมาตรการ CBAM ของยุโรปและสหรัฐฯ เพื่อรักษาตลาดส่งออกที่มูลค่ารวมกว่า 3.5 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.2% ของมูลค่าส่งออกรวม
เหลืออีกเพียงไม่กี่วันแล้วที่มาตรการส่งออกสินค้าไปตลาดยุโรป หรือ EU-CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 แม้ในช่วง 3 ปีแรกการบังคับใช้จะยังไม่เข้มข้น แต่หากดูสถานะความพร้อมของผู้ประกอบการไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐานคาร์บอนฟุตพรินต์ (CFP) ที่อยู่ในข่ายเกณฑ์ EU-CBAM พบว่ามีอยู่เพียง 71 รายจากผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองฉลาก CFP 306 ราย ซึ่งมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เข้าข่าย CBAM
ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบการและภาครัฐ ต้องเร่งเตรียมความพร้อมในการรับมือ และเป็นการปรับตัวให้พร้อมที่จะเผชิญกับมาตรการอื่นๆ ในทำนองเดียวกันที่จะตามมา โดยเฉพาะกฎหมาย US Clean Competition Act หรือ US-CBAM ที่คาดว่าจะเริ่มใช้ในปี 2567
มาตรการ CBAM จุดประกายให้ผู้ประกอบการทั่วโลกเตรียมพร้อมเพื่อปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว เริ่มในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ก่อน โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 31 ธันวาคม 2568 สินค้านำเข้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EU ได้แก่ ซีเมนต์, บริการไฟฟ้า, ปุ๋ย, เหล็กและเหล็กกล้า, อะลูมิเนียม และข้อเสนอเพิ่มเติมของรัฐสภายุโรปซึ่งครอบคลุมไฮโดรเจน รวมถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำที่ใช้วัตถุดิบในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ต้องอยู่ภายใต้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM)
อธิบายอย่างง่ายๆ คือ สินค้านำเข้าของผู้ประกอบการที่ส่งออกจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก EU ที่มีราคาสูงกว่า 150 ยูโร ในอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น จะต้องมีการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และจะพิจารณาบังคับใช้การคิดค่าธรรมเนียมคาร์บอน (CBAM Certificates) ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป
ในทำนองเดียวกัน กฎหมาย US Clean Competition Act หรืออาจเรียกว่าเป็น US-CBAM ซึ่งมีแนวโน้มจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2567 กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิล, ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม, ปิโตรเคมี, ปุ๋ย, ไฮโดรเจน, กรดอะดิพิก, ซีเมนต์, เหล็กและเหล็กกล้า, อะลูมิเนียม, กระจก, เยื่อกระดาษและกระดาษ และเอทานอล
ภายใต้กฎหมายดังกล่าว หากสินค้าใดปล่อยคาร์บอนเกินกว่าพื้นฐานที่กำหนดไว้จะต้องเสียภาษีคาร์บอน โดยในปี 2567 กำหนดราคาภาษีคาร์บอนไว้ที่ 55 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอน และภายในปี 2569 มีแนวโน้มขยายให้ครอบคลุมสินค้าสำเร็จรูปที่มีสินค้าดังกล่าวข้างต้นเป็นส่วนประกอบในการผลิต ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์สะท้อนดีกรีความพร้อมในการเผชิญมาตรการ CBAM ของผู้ส่งออกไทย
จากมาตรการ CBAM ที่กำลังมีผลบังคับใช้ ผู้ส่งออกสินค้าไปยัง EU รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ควรเตรียมความพร้อมด้านระบบวัดผลและรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตของสินค้าตามมาตรฐานที่กำหนด สำหรับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้องรายงานในปัจจุบัน EU ยังไม่ได้กำหนดมาตรฐานชัดเจนอย่างเป็นทางการว่ามีหลักการประเมินอย่างไร
แต่หากเทียบกับการดำเนินงานในด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของไทยแล้ว ในเบื้องต้นอาจเทียบเคียงกับหลักการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint: CFP) ของผลิตภัณฑ์ เนื่องจากเป็นการพิจารณาปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดปล่อยออกมาตลอดวัฏจักรชีวิต ที่เริ่มตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต จนไปสิ้นสุดที่การจัดการของเสียหลังหมดอายุ
ปัจจุบัน ณ วันที่ 15 กันยายน 2566 มีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรอง CFP จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) จำนวน 7,821 ผลิตภัณฑ์ จาก 1,219 บริษัท (ปี 2556 มีเพียง 326 ผลิตภัณฑ์ จาก 328 บริษัท) ในจำนวนนี้หากพิจารณาเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่สถานะอยู่ในสัญญา จะมีเพียง 3,348 ผลิตภัณฑ์ จาก 306 บริษัทเท่านั้น
เมื่อแยกเป็นรายอุตสาหกรรมพบว่า สินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้างและผลิตภัณฑ์โลหะได้รับการรับรองมากที่สุด (1,288 ผลิตภัณฑ์ จาก 47 บริษัท) รองลงมาคือกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (783 ผลิตภัณฑ์ จาก 89 บริษัท) และกลุ่มพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ (200 ผลิตภัณฑ์ จาก 19 บริษัท)
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเฉพาะสินค้าที่เข้าข่าย CBAM ที่ครอบคลุมเกณฑ์ของ EU และ US พบว่า ได้รับการรับรองฉลาก CFP 2,070 ผลิตภัณฑ์ จาก 131 บริษัท หรือคิดเป็น 43% ของจำนวนบริษัทที่ได้รับการรับรอง CFP ณ ปัจจุบัน อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบจำนวนบริษัทที่ขึ้นทะเบียน CFP กับจำนวนบริษัททั้งหมดในแต่ละอุตสาหกรรม พบว่ายังมีสัดส่วนน้อยมาก
อย่างเช่น เหล็กและเหล็กกล้า มีผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรอง CFP เพียง 1% จาก 1,716 บริษัท, ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 1.2%, วัสดุก่อสร้าง 1.4%, ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า 0.6%, อะลูมิเนียม 9%, แก้วและกระจก มีผู้ประกอบการเพียง 1 รายที่ได้รับการรับรอง CFP และสำหรับปิโตรเลียม 6% สะท้อนถึง ณ ปัจจุบัน ยังมีผู้ประกอบการอีกมากที่ควรเร่งเตรียมความพร้อมด้านการวัดและจัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ
ผลกระทบของมาตรการ EU-CBAM ต่อภาคส่งออกไทย ในเบื้องต้นอยู่ในวงจำกัด เหตุเพราะไม่ใช่สินค้าส่งออกหลักของไทย และ EU ไม่ใช่ตลาดหลักของสินค้าที่เข้าข่าย เนื่องจากไทยไม่ได้มีการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปเป็นสัดส่วนที่มากนักเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ โดยมูลค่าการส่งออกไป EU คิดเป็นเพียงราว 9% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย
อีกทั้งกลุ่มสินค้าหลักที่มาตรการ CBAM ครอบคลุม ได้แก่ เหล็กและอะลูมิเนียม มีจำนวนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องใน 2 กลุ่มอุตสาหกรรมนี้เกือบ 2,000 ราย แต่พบว่าเป็นบริษัทที่ได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพรินต์เพียง 25 รายเท่านั้น และส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ผู้ประกอบการรายเล็กหรือกลุ่ม SMEs ส่วนใหญ่ยังคงไม่มีความพร้อมรับมือกับมาตรการ CBAM
อย่างไรก็ดี ผลกระทบของมาตรการ US-CBAM ต่อภาคส่งออกไทยโดยเปรียบเทียบมีมากกว่า เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ด้วยสัดส่วนราว 16.5% และกลุ่มสินค้าเป้าหมายของมาตรการ US-CBAM มีมูลค่าส่งออกรวม 2,839 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 6% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ และ 1% ของมูลค่าส่งออกโดยรวมของไทย
โดยสินค้าที่ส่งออกมากในกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า 1,505 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วน 3% ของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ) ตามด้วยอะลูมิเนียม 667 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วน 1.4%) และเคมีภัณฑ์ 551 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วน 1.2%) ซึ่งเป็นผู้ได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพรินต์เพียง 67 รายเท่านั้น และในทำนองเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่
ดังนั้น ในเบื้องต้นภาพรวมสินค้าภายใต้มาตรการ EU-CBAM และ US-CBAM มีมูลค่าส่งออกรวมกัน 3,542 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.06 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1.2% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย
ttb analytics ระบุว่า เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ผู้ประกอบการไทยควรเร่งเตรียมพร้อมรับมือมาตรการ CBAM ทั้งมิติการรายงานการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คู่ขนานไปกับเร่งบุกตลาดอื่นๆ เพื่อรักษาฐานส่งออก รวมทั้งเป็นโอกาสของผู้ส่งออกไทยในการขยายตลาดเพิ่มเติม หากผู้ส่งออกจากประเทศอื่นไม่สามารถปรับตัวรองรับมาตรการได้ทัน