เหมือนดังเช่นทุกปีที่จะต้องบอกกันว่า คืนนี้ฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกกลับมาอีกแล้ว! และนั่นหมายถึงการที่คอบอลเช่นเราๆ คงต้องกลับมานอนดึกและตื่นขึ้นมาด้วยอาการสะโหลสะเหล (AKA แฮงก์บอล) กันเหมือนเดิม
สำหรับปีนี้แม้จะไม่มี ‘บางทีม’ ที่ไม่ผ่านเข้ามาร่วมแข่งขันด้วย แต่รายการถ้วยชิงแชมป์สโมสรระดับสูงสุดของยุโรป ซึ่งถือเป็นสุดยอดรายการที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเบอร์หนึ่งในเรื่องของคุณภาพและความเข้มข้นในการแข่งขัน ก็ยังมีทีมดีๆ ที่ผ่านเข้ามาถึงรอบ 32 ทีมสุดท้ายมากมาย
ตั้งแต่แชมป์เก่าอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ 3 ทีมใหม่แต่หน้าเก่าอย่างอาร์เซนอล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และนิวคาสเซิล ไปจนถึงทีมดังอย่างบาร์เซโลนา, เรอัล มาดริด, บาเยิร์น มิวนิก, อินเตอร์ มิลาน, เอซี มิลาน, นาโปลี, ปารีส แซงต์ แชร์กแมง, ลาซิโอ, แอตเลติโก มาดริด, โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์, แอร์เบ ไลป์ซิก รวมถึงเอฟซี ปอร์โต
เรียกว่าพิมพ์กันเหนื่อย!
ทั้ง 32 ทีมถูกแบ่งกระจายไปตามกลุ่มต่างๆ ทั้ง 8 กลุ่มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็มีกลุ่ม ‘Group of Death’ ให้เป็นสีสันเหมือนเช่นเคยในกลุ่ม F ที่มีเปแอสเช, ดอร์ทมุนด์, เอซี มิลาน และนิวคาสเซิล ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ลงสนามในคืนนี้ด้วย
แต่เมื่อพูดถึงกลุ่มแล้วก็สะท้อนใจขึ้นมา
เพราะปีหน้าแชมเปียนส์ลีกจะไม่มีรอบแบ่งกลุ่มให้มาลุ้นระทึกตอนจับสลากกันอีกแล้ว…
ที่บอกว่าจะไม่มีอีกแล้วนั่นเป็นเพราะว่า ในฤดูกาลหน้าฟุตบอลแชมเปียนส์ลีกจะปรับโฉมตัวเองครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 31 ปี หรือนับตั้งแต่ที่เริ่มมีการเปลี่ยนชื่อรายการและรูปแบบการแข่งขันใหม่จากยูโรเปียนคัพมาเป็นแชมเปียนส์ลีกในฤดูกาล 1992/93
เพียงแต่ในจุดเริ่มต้นนั้นแชมเปียนส์ลีกไม่ได้มีจำนวนทีมเยอะแยะมากมายเหมือนในปัจจุบันนี้ และการแข่งขันในรอบแบ่งกลุ่มก็มีมาก่อนหน้าเล็กน้อย (อ้าว)
ดังนั้นมาลองทบทวนเรื่องราวกันแบบคร่าวๆ กันอีกสักครั้งดีกว่า 🙂
ประวัติ #UCL รอบแบ่งกลุ่ม แบบย่นย่อ
ความจริงการปรับรูปแบบการแข่งขันมาใช้แบบ ‘รอบแบ่งกลุ่ม’ (Group Stage) นั้นเริ่มครั้งแรกในการแข่งขันชื่อเดิมคือยูโรเปียนคัพ ฤดูกาล 1991/92 ซึ่งถือเป็นฤดูกาลที่ 37 ของรายการ โดยรูปแบบก็มีความคล้ายคลึงกับในปัจจุบันอยู่บ้าง
กล่าวคือ แต่ละทีมที่เป็นแชมป์ลีกในแต่ละประเทศจะได้เข้าร่วมการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งจะมีการแข่งขันแบบ ‘น็อกเอาต์’ ทั้งหมดสองรอบก่อน แข่งกันในแบบเหย้า-เยือน ดูผลต่างประตูได้-เสียกันว่าทีมไหนทำดีกว่าในสองนัด ก็ผ่านเข้ารอบต่อไป
จากรอบแรกจนมาถึงรอบ 2 ถ้าผ่านได้อีกถึงจะได้สิทธิ์ในการเล่นรอบแบ่งกลุ่ม ซึ่งมีแค่ 2 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ทีม รวมทั้งสิ้น 8 ทีมด้วยกัน
8 อรหันต์ในฤดูกาลนั้นประกอบไปด้วย
กลุ่ม A: ซามพ์โดเรีย, เรดสตาร์ เบลเกรด (แชมป์เก่า), อันเดอร์เลชต์, พานาธิไนกอส
กลุ่ม B: บาร์เซโลนา, สปาร์ตา ปราก, เบนฟิกา, ดินาโมเคียฟ
ส่วนระบบนั้นก็ง่ายมาก ทีมไหนที่เป็นแชมป์กลุ่มจะได้สิทธิ์ในการผ่านเข้าไปเล่นในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งปรากฏว่า ซามพ์โดเรีย (ยุคนั้นมี โรแบร์โต มันชินี, จานลูกา วิอัลลี (ผู้ล่วงลับ) และ อัตติลิโอ ลอมบาร์โด ซึ่งชุดนี้เคยมาเยือนเมืองไทยด้วย!) ได้เข้าไปชิงชนะเลิศกับบาร์เซโลนา
และเป็นบาร์ซาในยุค ‘กุนซือเทวดา’ โยฮัน ครอยฟ์ ที่นำทีมคว้าแชมป์ยูโรเปียนคัพสมัยแรกของสโมสรได้สำเร็จ
จากนั้นแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงชื่อเป็นยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ในฤดูกาล 1992/93 แต่รูปแบบการแข่งขันก็ยังคงยึดจากฤดูกาลก่อนเหมือนเดิม เพิ่มเติมแค่มีรอบคัดเลือกสำหรับชาติจากประเทศเล็กๆ ขึ้นมา และเมื่อถึงรอบแบ่งกลุ่มก็เอาแชมป์กลุ่มสองทีมไปชิงกันเอง
ในฤดูกาลนั้น โอลิมปิก มาร์กเซย์ ล้มเอซี มิลาน ได้ในรอบชิงชนะเลิศ เป็นทีมจากฝรั่งเศสทีมแรกที่ได้แชมป์รายการนี้ แต่หลังจากนั้นทีม ‘โอแอม’ ก็ถูกจับได้ว่าล้มบอลโดยประธานสโมสรแบร์กนา ตาปี ทำให้ถูกลงโทษปรับตกชั้น โดนริบแชมป์ลีกเอิง ในฤดูกาล 1992/93 และโดนตัดสิทธิ์ห้ามลงแข่งขันแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 1993/94 ด้วย
ส่วนหลังจากนั้น #UCL มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันเพิ่มเรื่อยๆ ตามยุคสมัยและจำนวนทีม ยกตัวอย่างเช่น ฤดูกาล 1994/95 มีการเพิ่มจำนวนเป็น 16 ทีม โดยแบ่งเป็น 8 ทีมวางที่ผ่านเข้ารอบโดยอัตโนมัติ กับ 8 ทีมที่เล่นรอบคัดเลือกมา ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการแข่งขันจนถึงปัจจุบัน
ก่อนจะมีการเพิ่มจำนวนเป็น 24 ทีมในฤดูกาล 1997/98 และเพิ่มทีมอีกครั้งเป็น 32 ทีมในฤดูกาล 1999/2000 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการลองใช้รอบแบ่งกลุ่มสองรอบจนถึงฤดูกาล 2002/03 จากนั้นมีการกลับมาใช้รอบแบ่งกลุ่มแค่รอบเดียว โดยแบ่งเป็น 8 กลุ่มหาทีมอันดับ 1 และ 2 ที่จะผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์ ส่วนทีมอันดับ 3 จะตกลงไปเล่นในยูฟ่าคัพ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นรายการยูฟ่ายูโรปาลีกจวบจนถึงปัจจุบัน)
Swiss Model ของใหม่มาปีหน้า
ทีนี้นับตั้งแต่ฤดูกาลหน้า 2024/25 เป็นต้นไป แชมเปียนส์ลีกจะไม่มีการแบ่งกลุ่มกันแบบนี้อีกแล้ว
นั่นเป็นเพราะรอบแบ่งกลุ่มที่เคยมีจะจัดเป็นการแข่งขันรูปแบบใหม่ในระบบที่เรียกว่า ‘Swiss Model’ ซึ่งจะมีจำนวนทีมทั้งหมด 36 ทีม (ใช่แล้ว…เพิ่มมาอีก 4 ทีม!)
ความนัวนิดหน่อยอยู่ตรงที่ถึงแม้ทั้งหมดจะอยู่ในลีกเดียวกัน ตารางคะแนนเดียวกัน แต่ไม่ได้แข่งขันกันหมดแบบเหย้า-เยือน
ระบบ Swiss Model คือการที่แต่ละทีมจะได้โอกาสลงแข่งขันทั้งหมด 8 นัดด้วยกัน (เพิ่มจากรอบแบ่งกลุ่มปกติ 2 นัด) โดยจะได้เล่นในบ้าน 4 นัด และเล่นเกมเยือน 4 นัด แต่จะไม่มีการเจอทีมซ้ำกันเลย โดยจะมีเกณฑ์ในการคัดว่าทีมไหนจะได้เจอทีมไหน
เกณฑ์ที่ว่าคือ การแบ่งทีมออกเป็น 4 โถเหมือนเดิม โถละ 9 ทีม โดยใครจะอยู่โถไหนจะดูจากค่าสัมประสิทธิ์ผลงานในรายการสโมสรยุโรป 5 ปีหลังสุด จากนั้นจะมีการจับสลากว่าใครจะได้พบกับใครบ้างอีกครั้ง
ด้วยวิธีนี้ทำให้ทีมที่อยู่ในโถ 1 จะต้องเจอกับทีมในเกรดเดียวกันเอง 2 นัด (เหย้าทีม-เยือนทีม แต่จะไม่เจอกับทีมชาติเดียวกันเอง ยกเว้นชาตินั้นได้โควตามากกว่า 4 ทีม) ซึ่งหมายถึงเกม ‘บิ๊กแมตช์’ จะเยอะขึ้นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ระบบเดิมที่เป็นรอบแบ่งกลุ่มให้ไม่ได้
ทีนี้เมื่อแข่งขันกันครบแล้ว 8 อันดับแรกที่ทำผลงานได้ดีที่สุด มีคะแนนสูงที่สุด และประตูได้เสียดีที่สุด ก็จะได้ผ่านเข้าไปรอบน็อกเอาต์ที่จะเป็นระบบเดิมต่อไป แต่จะเพิ่มความตื่นเต้นด้วยการที่จะจับสลากแค่ครั้งเดียวในรอบ 16 ทีม ซึ่งผลงานในรอบแรกจะมีผลต่อความได้เปรียบ-เสียเปรียบด้วย นั่นหมายถึงต้องเน้นผลงานในรอบแรกให้ดี
ส่วนอันดับ 9-24 จะมาเพลย์ออฟกันเพื่อหาอีก 8 ทีมที่จะได้ผ่านไปเล่นรอบน็อกเอาต์ ใครชนะได้เข้ารอบ ส่วนใครแพ้คราวนี้ไม่มีการปลอบใจให้เล่นยูโรปาลีกแล้ว ถือว่าตกรอบเลย เช่นเดียวกับทีมที่จบในอันดับ 25-36 ก็ตกรอบเช่นกัน
เรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติวงการอีกครั้งที่ยังไม่ทันเริ่มก็ถูกวิพากษ์เยอะแล้วถึงการที่ยูฟ่ามองเห็นแค่เรื่องของผลประโยชน์จากการแข่งขัน โดยได้จากจำนวนเกมที่เพิ่มขึ้นจาก 125 นัดเป็น 189 นัดในแต่ละฤดูกาล ขณะที่ทีมต่างๆ อย่างน้อยการันตีเรื่องรายได้จากจำนวนเกมที่เพิ่มขึ้นในรอบแรก
แต่ในเรื่องของการแข่งขันที่บริสุทธิ์และยุติธรรม เรื่องความเหมาะสมของระบบ Swiss Model ซึ่งเดิมเป็นระบบที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาหมากรุกมาก่อน ว่าจะเข้ากันได้ดีกับเกมฟุตบอลหรือไม่นั้น ความรู้สึกของใครหลายคนในเบื้องต้นคือ ไม่น่าเวิร์กเท่าไรนัก
ดังนั้นนี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลดีๆ ที่เราควรจะยอมอดนอนเพื่อเสพ ‘รอบแบ่งกลุ่ม’ แชมเปียนส์ลีกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะการแข่งขันที่เปี่ยมมนตร์ขลังและเสน่ห์เหลือร้ายแบบนี้กำลังจะกลายเป็นอดีตในอีกไม่ช้า
อ้างอิง: