วันนี้ (19 กันยายน) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แถลงนโยบาย ‘พม. พอใจ : ให้ทุกวัยพึงใจใน พม.’ ซึ่งมีการถ่ายทอดสดไปยังหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในต่างจังหวัดให้ได้ร่วมรับฟังด้วย
โดยวราวุธกล่าวตอนหนึ่งว่า การขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หัวใจสำคัญในการทำงานมีอยู่ 3 ข้อ ได้แก่
- การทำงานตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ทำให้เงินภาษีของประชาชนเกิดประโยชน์ที่สุด โดยตนจะไม่ยอมรับกับการคอร์รัปชันและการทุจริตใดๆ ทั้งสิ้น
- สนับสนุนและแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการทำงานของเจ้าหน้าที่
- การทำงานต้องมีความแม่นยำ รวดเร็ว และสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ และคิดนอกกรอบ มาใช้ร่วมกัน
วราวุธกล่าวว่า จะต้องเปลี่ยนจากกระทรวงที่ถูกมองเป็นกระทรวงสังคมสงเคราะห์ กระทรวงเกรดต่ำ ให้เป็นกระทรวงที่ดึงศักยภาพคนทุกกลุ่มให้เป็นทรัพยากรบุคคล เป็นต้นทุนของสังคมไทย ดูแลให้กลุ่มเปราะบางและผู้สูงอายุสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งมีอยู่ 17 ข้อ โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ถึง 8 ข้อ
วราวุธกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ จะมีการปรับปรุงกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่
- พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ที่ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเด็กเล็กมากขึ้น
- พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว เพื่อลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทย
- พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้งในส่วนของการบริหารและการจัดการกองทุน ให้มีความเข้มแข็งและใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดนั้นต้องส่งเสริมให้เด็ก 0-6 ขวบกว่า 4 ล้านคน เข้าถึงสิทธินี้อย่างครอบคลุม
วราวุธกล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ต้องยกระดับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้โตมาอย่างมีคุณภาพ ส่วนกลุ่มเยาวชนก็ต้องเปิดพื้นที่ให้สามารถค้นหาตัวตนได้ด้วย ขณะเดียวกันก็สร้างกลไกครอบครัวอุปถัมภ์ให้กับเด็กกลุ่มเปราะบางได้ โดยเฉพาะเด็กที่หลุดจากระบบ ทั้งนี้ จะมีการจัดทำโครงการศิลปะบำบัดมาใช้นำร่องในกลุ่มเด็ก 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วย
วราวุธกล่าวทิ้งท้ายว่า ส่วนวัยทำงานจะให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงานด้วยการจัดโครงการบ้านตั้งตัว โดยให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ประสานเช่าตึกที่ไม่ได้ใช้งานในพื้นที่ต่างๆ มาปรับปรุงเป็นห้องเช่าราคาถูก และในส่วนของนิคมสร้างตนเองจะต้องพัฒนาศักยภาพของคนในนิคมฯ ให้สามารถยืนบนขาด้วยตนเอง ดึงลูกหลานกลับมาสู่ครอบครัวและชุมชน ขณะเดียวกันในกลุ่มผู้สูงวัยจะต้องเป็นผู้สูงอายุแบบมีเงิน รวมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ผู้บริบาลผู้สูงอายุในชุมชน