กลายเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจ หลัง ศุภวุฒิ สายเชื้อ กูรูด้านเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ซึ่งเป็นอดีตที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ออกมาส่งสัญญาณเตือนว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท อาจไปกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะขาดดุลแฝด เพราะรัฐบาลจะต้องทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มมากขึ้นเพื่อนำเงินไปใช้ทำนโยบาย
ขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้สูงที่นโยบายนี้อาจทำให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น เพราะการบริโภคของคนไทยในปัจจุบันมีสัดส่วนของการนำเข้าถึง 50% ของ GDP เมื่อมีการใส่เงินเข้าไปในระบบปริมาณมาก เงินอาจไหลออกไปครึ่งหนึ่ง ทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น แล้วจะนำไปสู่การขาดดุลแฝด เหมือนในยุควิกฤตต้มยำกุ้งที่ไทยขาดดุลงบประมาณและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดพร้อมกัน
หลายคนที่เห็นข่าวดังกล่าวอาจตั้งคำถามว่า แล้วการขาดดุลแฝดคืออะไร? น่ากังวลแค่ไหน? และเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดังกล่าวขึ้นจริงหรือไม่? THE STANDARD WEALTH ได้พูดคุยกับ นริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ttb analytics ในประเด็นดังกล่าว และขอให้ช่วยไขข้อสงสัยต่างๆ ให้กับคนที่อาจไม่ได้มีพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์
ภาวะขาดดุลแฝดคืออะไร?
ภาวะขาดดุลแฝดในทางเศรษฐศาสตร์เราเรียกว่า Twin Deficits เป็นอาการที่เกิดการขาดดุล 2 อย่างขึ้นพร้อมกัน ขาดดุลตัวแรกคือขาดดุลการคลัง หมายความว่ารายได้ทางการคลังของภาครัฐมีน้อยกว่ารายจ่าย ทำให้ต้องใช้งบประมาณขาดดุล
ส่วนการขาดดุลตัวที่ 2 คือขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งหมายถึงการขาดดุลการค้าและขาดดุลบริการพร้อมๆ กัน ถ้าสองสิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กันจะถือเป็นสภาวะที่เรียกว่าการขาดดุลแฝด
อธิบายแบบให้เข้าใจง่ายขึ้นอีก การขาดดุลการคลังคือ รัฐมีรายจ่ายที่ต้องนำไปใช้กับนโยบายต่างๆ ของประเทศสูง แต่รายได้ที่มาจากภาษีต่างๆ จัดเก็บได้น้อยกว่า
ส่วนการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดคือ การที่คนไทยนำเข้าสินค้าหรือออกไปเที่ยวต่างประเทศเยอะกว่าส่งออกสินค้าและต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย พูดง่ายๆ คือของที่เราผลิตในประเทศทั้งสินค้าและบริการนั้นไม่พอ ทำให้ต้องนำเข้ามาใช้ เป็นเหมือนการยืมทรัพยากรของต่างประเทศเข้ามารองรับการบริโภคและกิจกรรมต่างๆ ในประเทศ
พูดง่ายๆ ถ้าโลกนี้มีแค่ประเทศไทยกับโลก ถ้าเราขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็เหมือนกับเราให้ต่างชาติออมและส่งสินค้าที่เกิดจากการออมมาให้เราบริโภค เรากู้เขาอยู่
‘ขาดดุลแฝด’ สะท้อนอะไร และน่ากังวลหรือไม่
การขาดดุลแฝดถือเป็นตัวบ่งชี้สถานะของประเทศว่ามีไม่พอที่จะบริโภค ต้องเอาของจากต่างประเทศเข้ามา โดยต่างชาติเหมือนให้ของเรายืมมาใช้ ด้วยเงินออม เงินลงทุนของเขา ซึ่งผลข้างเคียงโดยตรงที่สุดของการขาดดุลแฝดคือค่าเงิน อาการแรกที่ออกก่อนเลยสำหรับประเทศที่ขาดดุลแฝดคือ ค่าเงินจะอ่อนเพราะเงินทุนไหลออก
การขาดดุลแฝดเป็นสิ่งที่นักลงทุนระหว่างประเทศมอง และให้น้ำหนักในการประเมินเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจมหภาคของประเทศนั้นๆ การขาดดุลเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งอาจไม่น่ากังวลมาก แต่ถ้าขาดดุลพร้อมกัน 2 ตัวและต่อเนื่องยาวนาน นักลงทุนระดับโลกหรือในประเทศเองจะเริ่มสงสัยเรื่องเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคของเรา เขาจะปักธงแดงว่าต้องระมัดระวังที่จะลงทุนในประเทศนั้นๆ
ตัวอย่างที่เห็นได้ในช่วงที่ผ่านมาคือ ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งไทยมีปัญหาขาดดุลแฝดหนัก หรือในช่วงที่มีวิกฤตเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (EM) เช่น อาร์เจนตินา และเม็กซิโก ในปี 2000 ทุกประเทศจะมีอาการของการขาดดุลแฝดโผล่มาให้เห็นก่อนแทบทุกครั้ง เหมือนเป็นตัวบ่งชี้ว่าปัญหากำลังจะมาแล้วนะ
ไทยเสี่ยงขาดดุลแฝดหรือไม่?
อาการของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน ถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่เราอาจได้เห็นการขาดดุลแฝด ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาไทยขาดดุลการคลังมาอย่างต่อเนื่อง เพราะรายได้ภาครัฐไม่พอรายจ่าย ก่อนเกิดวิกฤตโควิดเราขาดดุลการคลังไม่เกิน 3% ของ GDP แต่ในช่วงวิกฤตโควิดที่รัฐต้องใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ตัวเลขการขาดดุลการคลังกระโดดขึ้นไปเป็น 5%
แต่อย่างที่บอกไปว่า การขาดดุลตัวเดียวไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร และไม่ได้น่ากังวลมาก เพราะหากเทียบกับเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และเวียดนาม ทุกประเทศก็ขาดดุลการคลังเหมือนกันหมด แต่ควรรับรู้ว่านี่เป็นอาการที่เรามีอยู่แล้ว
ส่วนความเสี่ยงที่น่ากลัวว่าจะทำให้เกิดการขาดดุลแฝดคือ ดุลบัญชีเดินสะพัด ปัจจุบันดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังเกินดุลอยู่นิดๆ แต่ก็มีโอกาสสูงที่ในช่วงที่เหลือของปีจะกลับมาขาดดุล หากการส่งออกติดลบเยอะและภาระการนำเข้าโดยเฉพาะน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งตอนนี้ราคาน้ำมันเริ่มกลับมาแพงอีกแล้ว
แต่ละวันไทยมีการนำเข้าน้ำมันโดยเฉลี่ย 1 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่ากลมๆ ราว 3,600 ล้านบาท ลองคิดดูว่าถ้าเราส่งออกสินค้าได้น้อยลง และการท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาชดเชยไม่พอ เพราะการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนแค่ราว 10% ของ GDP ขณะที่การส่งออกมีน้ำหนักถึง 60% ของ GDP ก็มีความเสี่ยงที่เราจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เท่ากับไทยจะเสี่ยงขาดดุลแฝด
ไทย vs. เพื่อนบ้าน
ถ้าเทียบเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และเวียดนาม ปัจจุบันประเทศเหล่านี้ขาดดุลการคลังอยู่แต่เขาไม่ได้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ส่งออกเขาหดเหมือนไทยแต่ไม่ได้นำเข้าเยอะ ดุลบัญชีเดินสะพัดจึงยังเป็นบวก ส่วนเพื่อนบ้านที่ขาดดุลแฝดอยู่ก็มีฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย
จะสังเกตได้ว่า ค่าเงินเปโซและรูเปียห์ของฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียในช่วงที่ผ่านมาลุ่มๆ ดอนๆ พอสมควร ส่วนค่าเงินบาทของไทยก็เริ่มออกอาการบ้าง จากที่เมื่อก่อนเคยเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์ ก็อ่อนค่าลงมา และโอกาสอ่อนไปถึง 36 บาทต่อดอลลาร์ก็มีมาก
ประเทศที่มีปัญหาขาดดุลแฝดแต่ยังอยู่ได้คือสหรัฐฯ เพราะเงินสกุลดอลลาร์มีสถานะเป็นทุนสำรองของโลก ส่วนยุโรปก็มีเงินสกุลยูโร แต่ของไทยถ้าเกิดปัญหามันคือเงินบาทเต็มๆ
ดังนั้น การทำนโยบายในระยะต่อไปเราต้องคำนึงถึงกรอบความยั่งยืนทางการคลังด้วย สิ่งที่เราไม่อยากเห็นคือการขาดดุลการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัดที่เยอะขึ้นพร้อมกัน เพราะต่างชาติและนักลงทุนจะอ่อนไหวกับการขาดดุลแบบนี้