หมายเหตุ: บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์เรื่อง Monster
อันที่จริงทุกอย่างมันเริ่มในคืนที่เกิดเหตุเพลิงไหม้
ซาโอริ (ซากุระ อันโดะ) และ มินาโตะ (โซยะ คุโรคาวะ) สองแม่ลูกกำลังมองดูเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่บนบ้านของตัวเอง พลางให้กำลังใจนักดับเพลิงที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ก่อนที่ในเวลาต่อมาลูกชายวัยประถมปลายของเธอจะเริ่มมีพฤติกรรมที่แปลกไป อันเนื่องมาจากการถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจโดยครูประจำชั้น ซาโอริที่รับรู้ ‘ความจริง (?)’ จากปากของมินาโตะ จึงเดินทางไปที่โรงเรียนเพื่อทวงหาความรับผิดชอบ
ขณะเดียวกันในคืนที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ โฮริ (เออิตะ นากายามะ) ครูประจำชั้นของมินาโตะ ก็กำลังเดินเตร็ดเตร่อยู่แถวนั้นพร้อมกับแฟนสาวที่เขาหมายมั่นจะแต่งงานด้วยในอนาคต และในช่วงที่รถดับเพลิงกำลังไปยังสถานที่เกิดเหตุ ฟูชิมิ (ยูโกะ ทานากะ) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ก็กำลังยืนสูบบุหรี่อยู่ริมแม่น้ำ และได้พบกับ โยริ (ฮิอิรากิ ฮินาตะ) ที่วิ่งด้วยท่าทีเริงร่าผ่านเธอไป
3 มุมมองนี้คือเรื่องราวเหตุการณ์อันหนึ่งอันเดียวของ Monster ซึ่งถูกแบ่งสันปันส่วนผ่าน ‘ความจริง’ ของ 3 ตัวละคร โดยใช้เทคนิค Rashomon Effect เพื่อสร้างความซับซ้อนให้กับเรื่องราวที่ต้องการจะเล่า หรืออีกนัยคือ ทำให้มันดูกระจัดกระจายไร้รูปร่างจนกว่าผู้กำกับจะประเคนชุดข้อมูลเพื่อปอกลอกคนดูว่า แท้จริงแล้ว ‘สัตว์ประหลาด’ คืออะไรกันแน่?
Monster คือผลงานเรื่องล่าสุดของ โคเรเอดะ ฮิโรคาสุ และเป็นเรื่องที่ 2 ที่เขาไม่ได้เป็นคนเขียนบทเองนับตั้งแต่ Maborosi (1995) ที่เป็นภาพยนตร์เรื่องแรก ซึ่งหากนับแบบเร็วๆ ก็นานถึง 28 ปีแล้วที่โคเรเอดะไม่เคยให้ใครมาถ่ายทอดเรื่องราวในภาพยนตร์ของเขาเลย
และไม่มากไม่น้อย การไม่ได้เขียนบทเองก็ทำให้ภาพยนตร์เปิดประตูออกจากเซฟโซนของครอบครัวหรือมุมมองที่มีต่อเหตุการณ์ทางสังคมด้วยท่าทีที่สงบนิ่ง นำไปสู่ความสลับซับซ้อนที่ชักพาคนดูให้เขม็งเคร่งเครียดท่ามกลางท่าทีของเรื่องราวที่เรียบง่าย เชื่องช้า แต่สะท้อนถึงความจริงอันน่าเศร้าสลดของสังคมญี่ปุ่น
ภาพยนตร์เลือกฉายให้เห็นถึงมุมมองของแม่ที่เป็นห่วงลูกชายที่นับวันเริ่มมีพฤติกรรมแปลกประหลาด และทั้งหมดก็ชี้ไปยังโฮริ ผู้เป็นครูประจำชั้นของเขา ซึ่งทันทีที่ ‘ความจริง’ ถูกเล่าผ่านการดำเนินเรื่องของเธอ มันก็แทบจะจับครูหนุ่มบีบให้ตายคามือ จนนำไปสู่ฉากสุดขมขื่นอย่างการขอโทษขอโพย โค้งคำนับแทบเท้าของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
แต่เมื่อเรื่องดำเนินไปถึงมุมมองของครูที่มีต่อมินาโตะ ทุกอย่างกลับตาลปัตรและซับซ้อนมากกว่า ‘ความจริง’ ที่ถูกฉายออกมาก่อนหน้านี้ ที่สำคัญการเข้ามาของโยริ เพื่อนนักเรียนชายที่ถูกกลั่นแกล้งและแปลกแยกจากสังคมในห้องเรียน ก็ส่งผลต่อเรื่องราวอย่างใหญ่หลวง ก่อนจะฉายให้เห็นถึงเรื่องราวอีกด้านผ่านความสัมพันธ์ที่แท้จริงของมินาโตะและโยริที่แสนจะไร้เดียงสา ซึ่งชุดข้อมูลที่ถูกปกปิดจากการรับรู้ของตัวละครก็มีแต่คนดูเท่านั้นที่มีสิทธิ์รับรู้และไตร่ตรองมันอย่างรอบด้าน ก่อนที่จะเอามาประกอบรวมกัน
ส่วนที่น่าสนใจคือ มุมมองของแม่ที่สร้างความถมึงทึงในช่วงแรก และคนดูเองก็ไม่วายที่จะโมโห สงสัยใคร่รู้ ไปพร้อมกับตัวละครที่กำลังตามหาความยุติธรรมให้กับลูกของตัวเอง แต่การคลี่คลายที่ตามมากลับพาคนดูไปสู่จุดที่ชวนหดหู่ยิ่งกว่า ภาพลักษณ์ หน้าตา หรือมารยาททางสังคมของญี่ปุ่น
และในช่วงสุดท้ายที่เด็กทั้งสองพากันเดินออกจากสังคมที่ทำร้ายร่างกายและจิตใจของพวกเขาไปสู่ความเป็นธรรมชาติ ‘สัตว์ประหลาด’ ก็อาจตีความได้หลายแบบไม่ว่าจะเป็น ความดี-ความชั่ว, ผู้ลงมือกระทำ-เหยื่อ หรือแม้แต่ความแปลกแยกเป็นอื่นระหว่างสังคมของเด็ก-ผู้ใหญ่
ทั้งนี้ เมื่อประกอบมิติอันซ้ำซ้อนที่เกิดจากการเล่าเรื่องทั้งหมดเข้าด้วยกันก็อาจกล่าวได้ว่า ด้วยวัยวุฒิที่ตกตะกอนจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดเส้นทางอาชีพ โคเรเอดะได้พาคนดูไปสำรวจแง่มุมอันเปราะบางเหล่านี้ชนิดที่ภาพยนตร์ทั่วไปไม่เคยไปถึง
แต่ส่วนนี้ก็ต้องชื่นชม ยูจิ ซากาโมโตะ ที่เป็นคนเขียนบทด้วย เพราะหากดูภูมิหลังของเขาก็จะพบว่า นอกจากจะเป็นคนเขียนบทที่อยู่คู่กับวงการบันเทิงของญี่ปุ่นมานานหลายสิบปีแล้ว ผลงานที่สร้างชื่อให้กับเขามากที่สุดก็คือ การดัดแปลงมังงะยอดนิยมอย่าง Tokyo Love Story (1989-1990) ให้กลายมาเป็นละครโทรทัศน์ ซึ่งในยุคนั้นถือเป็นหนึ่งในละครโทรทัศน์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดและในปัจจุบันก็ยังคงเป็นที่พูดถึงอยู่เสมอ
ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมโคเรเอดะถึงอยากร่วมงานกับ ยูจิ ซากาโมโตะ และเชื่อว่าบทที่เขาเป็นคนเขียนจะต้องออกมาดีอย่างแน่นอน ซึ่งข้อพิสูจน์นั้นก็คงไม่มีอะไรชัดเจนไปกว่าการคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีล่าสุดมาครอง
นอกจากนี้การนำเสนอเรื่อง LGBTQIA+ ในภาพยนตร์ญี่ปุ่น ก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้พบเห็นกันได้บ่อยนัก แต่การที่มันปรากฏอยู่ในงานของโคเรเอดะก็กลายเป็นส่วนขยายมิติของเด็กในวัยที่กำลังค้นหาตัวเองได้อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังเป็นนิมิตหมายอันดีว่า ตัวเขาได้ก้าวข้ามกรอบเดิมๆ ที่สูงอยู่แล้วของตัวเองไปสู่จุดที่สูงกว่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเอาเข้าจริงมันก็ไม่ใช่ความลับอะไรมากมาย เพราะนอกจากภาพยนตร์จะคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว อีกหนึ่งรางวัลที่ภาพยนตร์ได้มาจากเวทีเดียวกันก็คือ รางวัล Queer Palm ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ
อย่างไรก็ดี Monster ยังเป็นอีกครั้งที่ยืนยันว่า โคเรเอดะ ฮิโรคาสุ เป็นผู้กำกับที่เก่งกาจในการกำกับนักแสดงเด็ก แต่ส่วนสำคัญก็ต้องยกความดีความชอบให้กับ โซยะ คุโรคาวะ ผู้รับบท มินาโตะ และ ฮิอิรากิ ฮินาตะ ผู้รับบท โยริ ที่ช่วยกันถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่ถูกปลดเปลื้องออกมาได้อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะการแบ่งแยกระหว่างความไร้เดียงสาของเด็กและความซับซ้อนของการเป็นมนุษย์ ซึ่งการแสดงของพวกเขาทั้งสองคนคือสิ่งที่แบกเส้นเรื่องหลักของภาพยนตร์ทั้งหมดเอาไว้
ไม่เพียงแค่นั้น ซากุระ อันโดะ ที่รับเป็นแม่ ก็เป็นนักแสดงที่หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี เนื่องจากก่อนหน้านี้เธอเคยรับบท โนบุโยะ ในภาพยนตร์เรื่อง Shoplifters (2018) ซึ่งเป็นผลงานของโคเรเอดะเช่นเดียวกัน และการกลับมาในครั้งนี้เธอก็ได้ใช้ฝีไม้ลายมือในการแสดงถ่ายทอดอารมณ์ผ่านแววตาที่คอยเป็นห่วงเป็นใยลูกชาย ขณะเดียวกันก็รู้สึกหวาดหวั่นกับสิ่งที่เขาเป็น จนทำให้คนดูมองเห็นถึงความกระอักกระอ่วนที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่าง ‘ความรัก’ ‘ความกลัว’ และ ‘ความกังวล’ ของตัวละคร
อีกคนที่เรียกได้ว่า ‘น้อย’ แต่ ‘มาก’ ก็คือ ยูโกะ ทานากะ ในบทผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ถึงแม้จะไม่ใช่ตัวละครที่มีบทบาทสำคัญอะไรนัก แต่เรื่องราวของเธอกลับมีเส้นเรื่องที่สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนทางอารมณ์ให้กับคนดูได้อย่างมหาศาล เมื่อโคเรเอดะเลือกปูตัวละครมาราวกับเป็น ‘เครื่องจักรที่ไร้ความรู้สึก’ ซึ่งเห็นดีเห็นงามเพียงแค่การรักษาชื่อเสียงของโรงเรียน
แต่ทว่า ‘ความจริง’ ที่ถูกบอกเล่าออกมาอีกด้านกลับพลิกบทบาทของเธอได้อย่างน่าฉงน เมื่อความเป็นเครื่องจักรถูกแปรเปลี่ยนกลายเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความรวดร้าวภายในแค่ฉากเพียงฉากเดียว นั่นจึงทำให้การพบกันระหว่างเธอกับมินาโตะกลายเป็นห้วงเวลาที่ปลอบประโลมความเจ็บปวดของกันและกันได้อย่างงดงาม ภายใต้สภาวะหวานอมขมกลืนที่สังคมหยิบยื่นให้กับพวกเขา
ไม่แน่บางที ยูโกะ ทานากะ อาจกลายเป็น ‘คุณย่า-คุณยาย’ คนใหม่ของโคเรเอดะ แทนที่ กิกิ คิริน นักแสดงอาวุโสผู้ล่วงลับที่ตัวเขานั้นผูกพันและมองเธอเป็นเหมือนแม่อีกคนหนึ่ง
ส่วนที่ต้องปรบมือให้กับภาพยนตร์ดังๆ นอกจากความคมคายของบทและทีมนักแสดงแล้วก็คือ ดนตรีประกอบที่ออกแบบโดย ริวอิจิ ซากาโมโตะ ผู้ล่วงลับ ซึ่งก็อย่างที่หลายคนรู้กันดีว่า นี่คือภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่เขาเป็นคนทำดนตรีประกอบให้ การได้รับรู้ว่านี่เป็นผลงานชิ้นสุดท้าย จึงยิ่งทำให้เรื่องราวของภาพยนตร์ชวนเสียน้ำตามากยิ่งขึ้น เมื่อเราในฐานะคนดูตระหนักได้ว่า นี่คงเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้ฟังเสียงเปียโนที่บรรเลงโดยฝีมือของเขา
เสียงดนตรีที่ถูกประพันธ์ทำหน้าที่ประสานบรรยากาศพื้นหลังของภาพยนตร์ที่เป็นหมู่บ้านที่มีทะเลสาบและภูเขารายล้อมได้อย่างละมุนละไม ที่สำคัญคือ ดนตรีที่ว่าได้กลายเป็นพลังในการขับเคลื่อนเรื่องราวอย่างหนักหน่วง ราวกับต้องการจะบอกว่า หลังพายุพัดผ่าน ต้นหญ้าและท้องฟ้าที่สว่างไสวจนทิ่มแทงตา อาจเป็นทั้งความสุขและความเศร้าที่หลอกหลอนคนดูในเวลาเดียวกัน
แต่ก็นั่นแหละ เมื่อคิดย้อนกลับไปว่าสองบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง ริวอิจิ ซากาโมโตะ และ โคเรเอดะ ฮิโรคาสุ ต่างก็ไม่เคยร่วมงานกันมาก่อนจนมาถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องแรกและเรื่องสุดท้ายของพวกเขา ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมากที่กาลเวลาไม่เคยพาทั้งสองมาพบกันเลยจวบจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
Perfect Days (2023) – Wim Wenders
แต่ถึงจะหดหู่และงดงามเพียงใด สิ่งหนึ่งที่น่าตั้งคำถามจริงๆ หากเราเขยิบออกมาจากตัวภาพยนตร์ก็คือ การเข้าฉายในบ้านเรา ซึ่งถ้าว่ากันตามกิตติศัพท์ของโคเรเอดะแล้ว ภาพยนตร์ของเขา ‘สมควร’ มีที่ฉายมากกว่านี้ แต่ที่น่าเศร้าใจยิ่งกว่าก็ตรงที่มันเข้าฉายได้ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ จำนวนรอบกลับเหลือเพียงแค่ 1-2 รอบต่อวันแล้ว ไม่นับว่าเวลาที่ฉายนั้นก็ตรงกับช่วงที่คนส่วนใหญ่ไม่พร้อมที่จะเข้าโรงภาพยนตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าร้องไห้ยิ่งกว่าตอนจบของภาพยนตร์เสียอีก
สุดท้าย ข้อน่าสังเกตที่รอการพิสูจน์อย่างการที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นชื่อเรื่อง ‘ชาตินิยม’ เลือก Perfect Days (2023) ของ Wim Wenders เป็นตัวแทนเข้าชิงออสการ์ในนามของประเทศ แทนที่จะเลือก Monster ก็ยิ่งทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องที่น่าถกเถียงว่า เหตุใดประเทศที่มีความเป็นชาตินิยมสูงอย่างญี่ปุ่นถึงเลือกภาพยนตร์ที่กำกับโดยชาวต่างชาติแทนที่จะเป็นคนในชาติเดียวกัน (แม้ทุนส่วนใหญ่ของ Perfect Days จะมาจากประเทศญี่ปุ่นก็ตาม) ซึ่งคำตอบก็คงจะต้องรอไปพิสูจน์กันตอนที่ภาพยนตร์เข้าฉายช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้
Monster เข้าฉายแล้ววันนี้ ในโรงภาพยนตร์
รับชมตัวอย่าง Monster ได้ที่: