เงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลของรัฐบาลทั่วโลกพุ่งสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2022 ด้าน IMF ประเมินว่าการยกเลิกเงินอุดหนุนส่วนนี้จะช่วยป้องกันการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรโลกได้ 1.6 ล้านคนต่อปี เพิ่มรายได้ของรัฐบาลทั่วโลก 4.4 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงเป็นไปตามเป้าหมาย และยังจะเป็นการกระจายรายได้ของประชากรด้วย
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยว่า เงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลของรัฐบาลทั่วโลก ทั้งโดยตรงและโดยแอบแฝง เพิ่มขึ้นแตะที่ 7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 250 ล้านล้านบาท ในปี 2022 ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าวมีปัจจัยสำคัญมาจากรัฐบาลต่างๆ ได้ให้การสนับสนุนผู้บริโภคและภาคธุรกิจในช่วงที่ราคาพลังงานทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19
อ้างอิง: IMF
ทั้งนี้ การอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลสามารถแบ่งออกได้เป็นโดยตรง (Explicit Subsidies) เช่น การลดต้นทุนต่างๆ โดยตรง และโดยแอบแฝง (Implicit Subsidies) เช่น การคิดภาษีสิ่งแวดล้อมในอัตราที่ต่ำเกินไป เป็นต้น
ในบทความของ IMF ยังเปิดเผยอีกว่า เงินอุดหนุนน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติดังกล่าวมีต้นทุนเทียบเท่ากับ 7.1% ของ GDP โลก และมากกว่าเงินที่รัฐบาลใช้จ่ายด้านการศึกษา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 4.3% ของรายได้ และมากกว่าค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพประชาชนของรัฐบาลทั่วโลก
นอกจากนี้ IMF ยังพบว่าการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้ผู้บริโภคไม่ได้จ่ายต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้ว
โดยข้อค้นพบของ IMF มีขึ้นขณะที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) กล่าวเตือนว่า เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ นับเป็นการตอกย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการควบคุมการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
เปิดผลลัพธ์ หากรัฐบาลทั่วโลกเลิกอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล
IMF ระบุอีกว่า หากรัฐบาลยกเลิกการอุดหนุนเหล่านี้อาจทำให้ราคาพลังงานเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้จะทำให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจหันมาพิจารณาถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นผลลัพธ์ที่ได้คือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้อากาศสะอาดขึ้น ทำให้โรคปอดและโรคหัวใจน้อยลง และยังเป็นการสร้างพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ที่มากขึ้นสำหรับรัฐบาล
นอกจากนี้ IMF ยังประเมินว่าการยกเลิกเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล (ทั้งโดยชัดแจ้งและโดยนัย) จะช่วย
- ป้องกันการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรโลกได้ 1.6 ล้านคนต่อปี
- เพิ่มรายได้ของรัฐบาลทั่วโลก 4.4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือกว่า 157 ล้านล้านบาท
- ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงเป็นไปตามเป้าหมาย
- ช่วยกระจายรายได้ เนื่องจากการอุดหนุนเชื้อเพลิงเป็นประโยชน์ต่อครัวเรือนที่ร่ำรวยมากกว่าครัวเรือนที่ยากจน
IMF แนะอีกว่า แม้การยกเลิกเงินอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงอาจเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่รัฐบาลควรต้องออกแบบ สื่อสาร และดำเนินการปฏิรูปอย่างชัดเจนและรอบคอบ
โดยรายได้ส่วนหนึ่งที่เพิ่มขึ้นจากการลดการอุดหนุนควรนำไปใช้เพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้กับครัวเรือนที่เปราะบาง ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น นอกจากนี้ส่วนที่เหลือก็สามารถใช้สนับสนุนงบประมาณรายจ่ายที่สำคัญอื่นๆ เช่น การศึกษา การดูแลสุขภาพ และพลังงานสะอาด เป็นต้น
อ้างอิง: