ภาพของ แฮร์รี เคน กับ แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน ที่ยืนคู่กันในชุดเสื้อทีมชาติแปลกตา รวมถึงลูกฟุตบอลและรองเท้าในแบบโบราณ ช่วยเรียกความน่าสนใจได้มากพอสมควร
มันทำให้ทุกคนได้รู้ว่าเดี๋ยวคืนนี้จะมีเกมกระชับมิตรนัดพิเศษระหว่างสกอตแลนด์ และอังกฤษ ที่สนามแฮมป์เดนพาร์ก สังเวียนลูกหนังสุดคลาสสิกบนแผ่นดินไฮแลนด์
เมื่อพิจารณาจากเครื่องแต่งกายแล้วก็พอจะบอกทางอ้อมได้อยู่ว่า การพบกันนัดนี้ไม่ได้เป็นการพบกันธรรมดาๆ
นี่คือวาระการครบรอบ 150 ปีที่ทั้งสองทีมได้พบกัน ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการพบกันครั้งแรกของทั้งสองทีม
แต่ยังเป็น ‘เกมทีมชาติ’ นัดแรกของโลกด้วย
เกิดอะไรขึ้นเมื่อ 150 ปีที่แล้ว?
ตามพงศาวดารลูกหนังนั้น มีการบันทึกเรื่องราวของเกมฟุตบอลทีมชาตินัดแรกของโลกเอาไว้ดังต่อไปนี้
ในวันสุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน 1872 ผู้คนจำนวนมากมายหลายพันคนต่างมุ่งเดินทางไปที่สนามแฮมิลตัน เครสเซนต์ ซึ่งเป็นคริกเก็ตของทีมเวสต์ออฟสกอตแลนด์คริกเก็ตคลับ ในเมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์
แต่พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้เดินทางไปเพื่อชมการแข่งขันคริกเก็ต
พวกเขาไปดูเกม ‘ฟุต-บอล’ (Foot-ball ตามการเขียนในยุคนั้น)
เกมที่ใช้เท้าเตะลูกกลมๆ เล่นในช่วงเวลานั้นกำลังเริ่มได้รับความนิยม เพียงแต่ด้วยความที่ยังใหม่ ในแต่ละพื้นที่ก็มีกฎและเกณฑ์ที่แตกต่างกันไป
หนึ่งในกฎที่ไม่ได้มีการตราไว้คือเรื่องของการลงสนามเล่นให้กับทีมที่ไม่ใช่สโมสร แต่เป็นการแข่งขันในนามทีมชาติ
ในยุคนั้นไม่มีทีมชาติอย่างเป็นทางการอะไร แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการลงสนามปะทะกันระหว่างทีมที่อ้างตัวเองว่าเป็นทีมชาติ โดยเฉพาะสองชาติที่แม้จะถูกรวมเป็นแผ่นดินเดียว แต่เรื่องของสายเลือดระหว่างอังกฤษกับสกอตแลนด์มันเป็นคนละสี
บันทึกบอกเอาไว้ว่าในช่วงระหว่างปี 1870-1872 อังกฤษและสกอตแลนด์เคยพบกันเองมา 5 ครั้ง แต่ทั้งหมดเป็นการลงเล่นที่สนามดิโอวัลในลอนดอน และนักเตะที่ลงสนามก็ไม่ได้เป็นตัวทงตัวแทนจากทีมไหน ก็เป็นแค่วงศาคณาญาติที่ชวนกันมาแข่งขันกันสนุกๆ
ที่มันจี๊ดคือสกอตแลนด์ไม่เคยชนะในการดวลทั้ง 5 นัด แบ่งเป็นการเสมอ 2 และแพ้ 3
สายเลือด Braveheart แบบพวกเขาเสียเลือดไม่ว่าเสียหน้าไม่ได้ อีกทั้งใน 5 นัดที่ว่านั้นก็ไม่ได้มีนักเตะจากสกอตแลนด์เดินทางลงมาแข่งขันด้วยเสียหน่อย จะยอมให้บอกว่าสกอตแลนด์เสียท่าให้ทุกนัดมันก็ออกจะเป็นการไม่แฟร์สักเท่าไร
ชาร์ลส์ อัลค็อก เลขานุการสมาคมฟุตบอล (FA) ยอมรับในเรื่องนี้ และเห็นว่าควรจะมีการจัดการแข่งขันกันใหม่ จึงตัดสินใจส่งสารท้าดวล เป็นจดหมายเปิดผนึกไปถึงหนังสือพิมพ์ในกรุงเอดินบะระและกลาสโกว์ ขอท้าดวลกับทีมที่เป็นของคนสกอตแลนด์จริงๆ ดูสักหน่อย โดยจะหาสนามแข่งทางชายแดนทางตอนเหนือของอังกฤษให้
สารนั้นทำเอาชาว ‘Scotchmen’ (ตามคำเรียกของอัลค็อก) เลือดร้อนขึ้นทันที ติดที่สมัยนั้นสกอตแลนด์ยังไม่มีสมาคมฟุตบอลของตัวเอง
ทางออกคือการที่สโมสรควีนสปาร์ก (Queen’s Park F.C. – ก่อตั้งเมื่อ 152 ปีที่แล้ว และยังคงดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบัน) ตอบรับคำท้า เพียงแต่ให้มาแข่งกันที่สกอตแลนด์ แทนที่จะเป็นเมืองชายขอบของอังกฤษ
เพราะเรื่องของศักดิ์ศรีเป็นสิ่งที่ยอมให้ใครมาหมิ่นกันไม่ได้ กระแสการปะทะกันระหว่าง ‘อังกฤษ’ กับ ‘สกอตแลนด์’ เริ่มถูกโหมหนักมากขึ้นเรื่อยๆ
แน่ละใครๆ ก็อยากจะดูเกมนี้ อยากรู้ว่ามันจะเป็นอย่างไร สกอตแลนด์จะเอาชนะอังกฤษ พี่ใหญ่ผู้โอหังได้ไหม?
ความสนใจมากมายทำให้ผู้จัดการแข่งขันต้องเลือกหาสนามกีฬาที่พอจะรองรับผู้ชมที่สนใจอย่างมากมายได้ ซึ่งสุดท้ายพวกเขาเลือกสังเวียนการแข่งขันนัดประวัติศาสตร์นี้ที่สนามเวสต์ออฟสกอตแลนด์คริกเก็ตกราวด์ ในเมืองกลาสโกว์
สนามแห่งนี้ความจริงแล้วเป็นสนามคริกเก็ต เพียงแต่ในเวลานั้นไม่มีสนามใดจะสะดวกและพร้อมไปกว่านี้อีกแล้ว ก็เอามาปรับใช้เป็นสนามฟุตบอลไปก่อน
ที่สำคัญคือนอกจากจะเป็นเกมทีมชาตินัดแรกแล้ว เกมนี้ยังเป็นเกมฟุตบอลนัดแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถเก็บค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขันได้ เพราะอดีตกาลนานมาฟุตบอลเป็นกีฬาที่ทุกคนเชื่อว่าควรจะได้ดูกันฟรีๆ (ความจริงก็ไม่เฉพาะฟุตบอลแต่รวมถึงกีฬาทุกชนิด) แต่ด้วยความสนใจที่ล้นหลาม ทำให้ผู้จัดมองเห็นโอกาสจะหารายได้ และผู้คนก็พร้อมจ่ายด้วย
ใครใคร่อยากจะดูต้องจ่ายค่าตั๋วเข้าชมเกมคนละ 1 ชิลลิง (สกุลเงินเดิมของอังกฤษ)
โดยที่บนหน้าตั๋วเข้าชมการแข่งขันเขียนเอาไว้แบบนี้
INTERNATIONAL FOOT-BALL MATCH
SCOTLAND VERSUS ENGLAND
(ASSOCIATION RULES)
WEST OF SCOTLAND CRICKET GROUND
HAMILTON CRESCENT, PARTICK
SATURDAY, 30TH NOVEMBER, 1872 AT 2.00PM
แต่ถึงจะต้องจ่ายเงิน มีการประมาณกันว่ามีผู้ชมเข้ามาชมเกมในสนามมากถึง 4,000 คน! (บ้างก็ว่า 2,500 คน) ในจำนวนคนเหล่านั้นยังมีสุภาพสตรีมาชมเกมด้วยอย่างมากมาย เพราะในเกมนี้สุภาพสตรีเข้าชมฟรี!
และด้วยจำนวนคนที่มาอย่างมากมาย ทำให้เกมต้องเริ่มล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมที่จะ ‘คิกออฟ’ ในเวลา 14.00 น. ไปราว 20 นาที
มาถึงเกมในสนาม สกอตแลนด์ลงสนามในชุดสีน้ำเงิน ส่วนอังกฤษลงสนามในชุดสีขาวพร้อมตราสิงโต – ซึ่งก็เป็นชุดคล้ายกับที่ แฮร์รี เคน และ แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน จะนำทีมใส่ลงสนามในคืนนี้พอดี
แต่ในบ่ายวันนั้นทีมชาติอังกฤษนำมาโดย ชาร์ลส์ อัลค็อก (ที่ไม่สามารถลงสนามได้ เพราะเจ็บพอดี) ใช้ผู้เล่นที่รวบรวมจาก 9 สโมสรทั่วอังกฤษ ขณะที่ทีมชาติสกอตแลนด์ผู้เล่นเกือบทั้งหมดมาจากทีมเดียวคือควีนสปาร์ก มีผู้เล่นทีมอื่นมาผสมแค่นิดหน่อย
เรียกได้ว่าสองทีมต่างก็ประสบปัญหาในการขาดผู้เล่นตัวเก่งที่ไม่สามารถแข่งได้ในนาทีสุดท้าย เพราะเรื่องของการเดินทางและอื่นๆ ไม่ได้สะดวกสบายเหมือนในเวลาต่อมา
เกมครึ่งแรกนักเตะไฮแลนด์เป็นฝ่ายที่ทำได้ดีกว่าครับ เหตุผลหลักคือพวกเขามาจากทีมเดียวกันเกือบทั้งหมด แต่ในครึ่งหลังอังกฤษทำได้ดีขึ้นตามลำดับ และเกมนั้นก็สนุกไม่น้อยเลย แม้ว่าสภาพสนามจะเต็มไปด้วยโคลน เพราะฝนที่ตกลงมาอย่างหนักก่อนการแข่งขัน 3 วัน
ผู้ชมในสนามได้เห็นการเล่นแบบสู้ตายของนักเตะสกอตแลนด์ เช่นเดียวกับการได้เห็นทักษะที่แพรวพราวของผู้เล่นอังกฤษหลายคน โดยเฉพาะการเลี้ยงบอลที่น่าตื่นตาตื่นใจของ คัธเบิร์ต ออตตาเวย์ กัปตันทีม ‘สิงโตคำราม’ ในวันนั้น
ในเกม อังกฤษมีโอกาสยิงชนเสา 2 ครั้ง แต่สกอตแลนด์เกือบจะเป็นผู้ชนะในช่วงท้ายเกม เมื่อลูกยิงของ โรเบิร์ต เลกกี ถูกปัดข้ามเทป (สมัยนั้นประตูฟุตบอลยังไม่มีคาน และยังไม่มีตาข่ายด้วย) ออกไปนิดเดียว โดยที่ผู้ชมในสนามเฮกันใหญ่ เพราะเชื่อว่าลูกน่าจะเข้าไปแล้ว
เพียงแต่เมื่อไม่ได้ประตู สุดท้ายเกมก็จบลงด้วยการเสมอกันแบบบัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น ด้วยสกอร์ 0-0
ในทางเทคนิคแล้วเกมนัดนี้จะไม่น่านับเป็นเกมทีมชาตินัดแรกได้ เพราะเวลานั้นสกอตแลนด์ยังไม่มีสมาคมฟุตบอลเป็นของตัวเอง (สมาคมฟุตบอลสกอตแลนด์ได้รับการก่อตั้งหลังเกมนี้ผ่านไปแล้ว 4 เดือน)
แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เรายอมรับเกมนัดนี้เป็นเกมทีมชาตินัดแรกของโลก
สิ่งที่น่าเสียดายมีเพียงแค่ไม่มีช่างภาพบันทึกภาพของเกมประวัติศาสตร์นี้เอาไว้ เพราะช่างภาพไม่ได้มาตามนัดหมาย เนื่องจากตกลงเรื่องการขายภาพไม่ได้ (ปัดโธ่!)
แต่อย่างน้อยก็ยังโชคดีที่มีผู้บันทึกเรื่องราวของการแข่งขันที่เป็นต้นกำเนิดของเกมทีมชาติ (International Match) ก่อนที่จะนำไปสู่การกำเนิดรายการฟุตบอลระดับชาติในเวลาต่อมา
โดยที่ในอีกกว่า 150 ปีต่อมา แม้จะไม่ใช่วันที่ตรงเป๊ะ แต่ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ ที่อังกฤษและสกอตแลนด์จะได้มารำลึกความหลังไปด้วยกัน
เพราะถ้าไม่มีเธอก็คงไม่มีฉัน
เพราะถ้าไม่มีวันนั้น ก็คงไม่มีวันที่ฟุตบอลจะเป็น The Beautiful Game ของโลกเหมือนในวันนี้
*เนื้อหาบางส่วนมาจากงานเขียนเก่าในปี 2019: นัดแรกของทีมชาติอังกฤษ ต้นกำเนิด ‘เกมทีมชาติ’ ของโลก https://thestandard.co/national-football/