ปฏิบัติการช่วยเหลือ มาร์ค ดิคกีย์ นักสำรวจถ้ำชาวอเมริกันมากประสบการณ์ ซึ่งติดอยู่ในถ้ำใต้ดินลึกนับพันเมตรทางตอนใต้ของตุรกี ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว แต่ทีมกู้ภัยจากนานาชาติยอมรับว่าเป็นภารกิจที่ยากและท้าทาย ต้องเตรียมการอย่างรอบคอบ และอาจใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์จึงจะนำผู้ประสบภัยออกจากถ้ำได้สำเร็จ
ปฏิบัติการช่วยชีวิตเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 15.28 น. ตามเวลาท้องถิ่น (19.28 น. ตามเวลาไทย) ในวันเสาร์ (9 กันยายน) จากการเปิดเผยของสหพันธ์สำรวจถ้ำตุรกี (Turkish Caving Federation) โดยเกิดขึ้นหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่ดิคกีย์เริ่มป่วย และส่งข้อความขอความช่วยเหลือในระหว่างภารกิจสำรวจถ้ำที่ลึกที่สุดแห่งหนึ่งของตุรกี
“การเคลื่อนย้ายดิคกีย์ด้วยเปลหามเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 15.28 น. ตามเวลาท้องถิ่น” สหพันธ์สำรวจถ้ำแห่งตุรกีประกาศผ่าน X หรือ Twitter เดิม
เกิดอะไรขึ้น?
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 กันยายน สมาคมกู้ภัยถ้ำยุโรป หรือ European Cave Rescue Association (ECRA) ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ว่า ดิคกีย์มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง จากนั้นก็ได้รับรายงานในวันรุ่งขึ้นว่า ดิคกีย์จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากภายนอก เนื่องจากอาการป่วยที่แย่ลง
มาร์ค ดิคกีย์ เป็นนักสำรวจถ้ำชาวอเมริกัน ผู้ฝึกสอน และหัวหน้าทีมตอบสนองเบื้องต้นของรัฐนิวเจอร์ซีย์ (New Jersey Initial Response Team) เขามีอาการเลือดออกและอาเจียนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตในช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว โดยสงสัยว่ามีเลือดออกในทางเดินอาหารระหว่างปฏิบัติภารกิจที่ความลึก 1,276 เมตร เพื่อสำรวจถ้ำหลุมยุบมอร์กา (Morca Sinkhole) ในหุบเขามอร์กา ใกล้กับเมืองอนามูร์ ทางตอนใต้ของตุรกี ตามรายงานของสหพันธ์สำรวจถ้ำตุรกี
แต่อาการของเขาดีขึ้นหลังจากได้รับของเหลวและเลือดจากทีมแพทย์ที่เข้าไปถึงตัวดิคกีย์ และหลังจากที่อาการป่วยของดิคกีย์เริ่มคงที่ ทีมกู้ภัยจึงเริ่มปฏิบัติการเคลื่อนย้ายเขาขึ้นสู่พื้นผิวเมื่อวันเสาร์ (9 กันยายน) หลังจากมีการติดตั้งเชือกใหม่และขยายทางเดินแคบๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางที่ยากลำบากข้างหน้า
ทำไมการช่วยเหลือเป็นเรื่องยาก
บูเลนต์ เกนซ์ หัวหน้าสหพันธ์สำรวจถ้ำตุรกี กล่าวกับ CNN เมื่อวันพฤหัสบดี (7 กันยายน) ว่า การช่วยเหลืออาจใช้เวลาหลายวันเนื่องจากถ้ำนั้นลึกและแคบ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่าอาจใช้เวลานานถึงสองสัปดาห์
ECRA ระบุว่า ภารกิจช่วยเหลือในระดับความลึกเช่นนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก และต้องอาศัยเจ้าหน้าที่กู้ภัยในถ้ำที่มีประสบการณ์สูงจำนวนมาก โดยทางสมาคมเปิดเผยว่า ทีมงานวางแผนแบ่งถ้ำออกเป็น 7 ส่วน และมอบหมายความรับผิดชอบให้กับทีมกู้ภัยของประเทศต่างๆ ที่ระดับความลึกแตกต่างกัน โดยทีมตุรกี, ฮังการี, โปแลนด์, อิตาลี, โครเอเชีย และบัลแกเรีย ต่างมีส่วนร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้
ด้าน เรเจป ซัลซี จากหน่วยงานจัดการภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินของตุรกี (AFAD) ระบุว่า มีนักกู้ภัยเกือบ 200 คนอยู่ในพื้นที่เพื่อเตรียมนำดิคกีย์ออกจากถ้ำ รวมถึงมีผู้ปฏิบัติงานอีกหลายสิบคนที่กำลังทำงานอยู่ภายในถ้ำแห่งนี้
“บางส่วนของถ้ำแคบมาก ดังนั้นนี่จะเป็นปฏิบัติการที่ยากลำบาก” ซัลซีกล่าว พร้อมเสริมว่าจะใช้เปลหามเพื่อช่วยดิคกีย์ออกจากถ้ำ
สมาคม ECRA เผยเมื่อวันศุกร์ว่า แพทย์กำลังรักษาอาการของดิคกีย์ให้คงที่และไม่มีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มเติม เพื่อให้การขึ้นสู่พื้นผิวที่เป็นเรื่องยากลำบากนั้น เริ่มต้นขึ้นได้
ขณะที่สหพันธ์สำรวจถ้ำตุรกีเปิดเผยผ่าน X ว่า ดิคกีย์ถูกนำไปสังเกตอาการที่ค่ายฐานถ้ำ และมีแพทย์คนหนึ่งอยู่กับดิคกีย์ในถ้ำ ส่วนทีมกู้ภัยได้รับข้อความโต้ตอบจากพวกเขาผ่านสายสื่อสารที่ติดตั้งขึ้น
“อย่างที่คุณเห็นว่า ผมลุกขึ้นได้แล้ว ผมตื่นตัว ผมพูดคุยได้ แต่ภายในผมยังไม่หายดี ดังนั้นผมจะต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างมากเพื่อที่จะออกไปจากที่นี่” ดิคกีย์กล่าวผ่านทางวิดีโอที่แชร์โดยคณะกรรมการการสื่อสารของตุรกีเมื่อวันพุธที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา
“สิ่งนี้มักเกิดขึ้นในโลกของการสำรวจถ้ำ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่จะแสดงให้เห็นว่าประชาคมโลกสามารถทำงานร่วมกันได้ดีเพียงใด ผมจึงหวังว่าจะได้เห็นผู้คนมากมายจากหลายประเทศมารวมตัวกัน เราดูแลตัวเอง และมันพิเศษมากที่ได้รับการดูแล” ดิคกีย์กล่าว
เกรทเชน เบเกอร์ จาก National Cave Rescue Commission (NCRC) ซึ่งรู้จักและทำงานร่วมกับดิคกีย์มาหลายปี แสดงมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับการช่วยเหลือดิคกีย์ออกจากถ้ำได้อย่างปลอดภัย
เบเกอร์กล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับ CNN เมื่อวันพฤหัสบดีว่า “ทีมงานในพื้นที่ดีใจที่อาการของดิคกีย์ดีขึ้น ดูเหมือนว่าเขาจะไม่ต้องอยู่ในเปลตะกร้ากู้ภัยตลอดทางออกจากถ้ำ
“ยิ่งเขาสามารถช่วยตัวเองได้มากเท่าไร การช่วยเหลือเขาก็จะยิ่งดำเนินไปได้เร็วเท่านั้น” เธอกล่าว
อย่างไรก็ดี แม้อาการของดิคกีย์จะดีขึ้นแล้ว “เราคาดว่าจะต้องใช้เวลาหลายวันในการพาเขาออกจากถ้ำ” เธอกล่าว
สำหรับถ้ำมอร์กานั้นเป็นถ้ำที่ลึกที่สุดเป็นอันดับ 3 ในตุรกี และตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลของเทือกเขาทอรัส ภายในถ้ำทั้งเปียกและเย็น มีทางเดินแคบทั้งแนวตั้งและแนวนอน ปัจจุบันยังคงมีการสำรวจถ้ำแห่งนี้อยู่ ส่วนดิคกีย์อยู่ในกลุ่มที่ได้รับมอบหมายให้สำรวจส่วนใหม่ๆ ของถ้ำมอร์กา ก่อนที่เขาจะล้มป่วยในถ้ำ
ในอดีตเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน เจ้าหน้าที่กู้ภัยเคยช่วยชีวิตชายผู้หนึ่งซึ่งได้รับบาดเจ็บที่ระดับความลึกมากกว่า 1,000 เมตรในถ้ำรีสเซนดิง (Riesending) ในเยอรมนี ซึ่งภารกิจกู้ภัยครั้งนั้นใช้เวลานานกว่า 10 วัน
ภาพ: Mustafa Unal Uysal / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: