บรรยากาศการลงทุนในเดือนที่ผ่านมาถือได้ว่าไม่เกินความคาดหมายนัก พัฒนาการทางการเมืองภายในประเทศยังเป็นแกนหลักในช่วงครึ่งแรกของเดือน หลังจากนั้นภาพความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลที่เปลี่ยนมาเป็นพรรคเพื่อไทยและนำไปสู่การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ทำให้ปัจจัยทางการเมืองเริ่มเบาบางลงไปในช่วงปลายเดือน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต่างประเทศเริ่มมีนัยสำคัญมากขึ้น เริ่มจากความวิตกกังวลที่มีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนที่อาจจะก่อให้เกิดภาวะการชะลอตัวครั้งใหม่ของเศรษฐกิจจีน และแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed รวมทั้งประเด็นของการลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศสหรัฐอเมริกาโดย Fitch Ratings
ขอเริ่มที่สหรัฐอเมริกาซึ่งโดน Fitch Ratings ปรับลดอันดับเครดิตของสหรัฐฯ จาก AAA เป็น AA+ ทำให้นักลงทุนมีความกังวลกับฐานะทางการคลังของสหรัฐฯ ในระยะยาว ขณะเดียวกันถ้อยแถลงของประธาน Fed อย่าง Jerome Powell ในงาน Jackson Hole Economic Symposium ที่ยังไม่ปิดโอกาสที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อหากจำเป็น แต่จะเป็นไปอย่างระมัดระวัง ซึ่งตีความได้ว่าดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ มาถึงหรือใกล้เคียงจุดสูงสุดมากแล้ว
มาทางฝั่งเอเชียกันบ้าง ตลาดเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ในภาคอสังหา และ Shadow Banking ของจีน หลัง Country Garden ขอผ่อนผันการชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ และ China Evergrande ยื่นเรื่องต่อศาลนิวยอร์กขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 15 ซึ่งเป็นกลไกจัดการคดีล้มละลายที่เกี่ยวข้องมากกว่าหนึ่งประเทศ
ขณะเดียวกัน บริษัท Zhongzhi Enterprise ซึ่งเป็น Private Wealth รายใหญ่สุดของจีนได้ผิดนัดการจ่ายผลตอบแทนบนผลิตภัณฑ์การเงินที่ลงทุนใน Zhongrong Trust แก่ลูกค้า เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดความกังวลต่อเศรษฐกิจจีนที่น่าจะชะลอตัวลงจนอาจกลายเป็น Hard Landing ได้
สำหรับปัจจัยในประเทศไทยของเรา ประเด็นการเมืองและการเปลี่ยนขั้วในการจัดตั้งรัฐบาลมาเป็นพรรคเพื่อไทยก่อให้เกิดการรวมตัวของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้สร้างความมั่นใจให้กับ สว. ที่มีต่อประเด็นเปราะบางในหลายประเด็นว่าจะไม่ถูกแตะต้องและเปลี่ยนแปลงโดยพรรคร่วมรัฐบาลชุดนี้ ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลน่าจะแล้วเสร็จได้ในเดือนกันยายน
ดังนั้นในแง่มุมของการลงทุน สัญญาณบวกเริ่มชัดเจนขึ้นขณะที่ความผันผวนเริ่มลดลง เนื่องจากพัฒนาการของปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนมีความชัดเจน เริ่มจากเรื่องการเมืองในประเทศที่พ้นภาวะเปราะบางมาได้ และอยู่ในช่วงจัดตั้งรัฐบาลซึ่งไม่น่าจะมีปัจจัยอะไรมาแทรก ตามมาด้วยนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกที่เริ่มใกล้จุดสูงสุดแล้ว ส่วนความกังวลที่มีต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ นั้น นักลงทุนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าน่าจะปรับขึ้นในครั้งถัดไปคือเดือนพฤศจิกายน ดังนั้นในส่วนของตลาดตราสารหนี้ก็น่าจะผันผวนน้อยลงในเดือนกันยายนนี้เช่นกัน
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน ฟากรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหา ได้แก่ ให้สิทธิในการวางเงินดาวน์ที่น้อยลงสำหรับการซื้อบ้านหลังแรก และดอกเบี้ยอัตราถูกพิเศษ แต่มาตรการเหล่านี้ไม่น่าจะเพียงพอต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ คาดว่าน่าจะมีมาตรการขนาดใหญ่กว่าตามมา แต่อาจจะไม่ใช่ในเร็วๆ นี้ ส่วนการลดภาษีแสตมป์การซื้อขายหุ้นเหลือ 0.05% จาก 0.1% อันนี้เป็นแค่การกระตุ้นการลงทุนในตลาดหุ้นจีน ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้นเท่านั้น
จากภาวะการลงทุนที่มีความผันผวนน้อยลง ทำให้นักลงทุนสามารถที่จะปรับสถานะความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุนในรายหลักทรัพย์ได้ โดยคัดเลือกบริษัทที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ อย่างไรก็ดี สำหรับนักลงทุนที่ยังรับความเสี่ยงได้ระดับปานกลางถึงสูง โดยภาพน้ำหนักรวมผมยังคงน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไว้ที่ 45% โดยแบ่งเป็นสหรัฐฯ และจีนรวมกันไม่เกิน 15% ญี่ปุ่นคงน้ำหนักไว้ที่ 10% ไทย 20% ตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% แบ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 20% เป็นตราสารหนี้ระยะกลางของเอกชนที่อยู่ในระดับ Investment Grade ประมาณ 10% ตลาดเงิน 10% ทอง น้ำมัน และรีท รวมกันประมาณ 15% โดยเน้นไปที่รีท