×

กทม. เริ่มปรับปรุงทางเท้าด้วยพอรัสแอสฟัลต์แทนการปูอิฐบล็อกเพื่อขยายทางเดิน ปรับพื้นให้เสมอ และรดน้ำต้นไม้ได้

โดย THE STANDARD TEAM
08.09.2023
  • LOADING...
ทางเท้า กทม

วานนี้ (7 กันยายน) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่สำรวจทางเท้าเส้นทางซอยอินทามระ 14 ถึงแยกสะพานควาย เขตพญาไท เพื่อทดสอบการใช้พอรัสแอสฟัลต์ (Porous Asphalt) ปูบริเวณโคนต้นไม้ การปรับปรุงทางเท้าทั้งเส้นด้วย Universal Design และการปรับภูมิทัศน์นำสายสื่อสารลงดิน โดยมี วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, เอกวรัญญู​ อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร​, ธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.), นำชัย แสนสุภา นายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย และกลุ่ม BIG Trees ร่วมลงพื้นที่

 

ชัชชาติกล่าวว่า กทม. อยู่ระหว่างปรับปรุงทางเท้าใน 17 เส้นทาง โดยในปีนี้จะดำเนินการประมาณ 200 กิโลเมตร สิ่งที่สำคัญ คือต้นไม้บนทางเท้าต้องสามารถรดน้ำได้และหายใจได้ ซึ่งจากการไปดูงานที่เมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีการใช้ยางมะตอยพอรัสแอสฟัลต์ปูบนทางเท้าก่อนใช้กระเบื้องปูทับเพื่อให้น้ำสามารถซึมลงไปได้ และยังสามารถช่วยเมืองในกรณีระบายน้ำจากถนนได้ด้วย 

 

เนื่องจากพอรัสแอสฟัลต์เป็นแอสฟัลต์ประเภทที่มีรูพรุน มีคุณสมบัติเด่นในการระบายน้ำในแนวดิ่ง ทำให้รากต้นไม้สามารถระบายอากาศและรับการรดน้ำได้ดี และช่วยเพิ่มพื้นที่ทางเท้าได้บางส่วน ซึ่งก่อนจะเทต้องมีการปรับปรุงดินและใส่ปุ๋ยให้เรียบร้อย จากนั้นใส่ทรายใส่กรวด ก่อนดำเนินการราดยางมะตอย ทำให้น้ำลงไปที่รากต้นไม้ได้เต็มที่ 100%

 

ชัชชาติกล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบพอรัสแอสฟัลต์ที่ใช้เทบริเวณโคนต้นไม้เส้นทางซอยอินทามระ 14 ถึงแยกสะพานควาย ตามโครงการนำร่องการใช้พอรัสแอสฟัลต์ทดแทนการปูอิฐบล็อกเพื่อขยายพื้นที่ทางเท้า ซึ่งภาพรวมก็เรียบเสมอกับทางเดินเท้าดี และน้ำสามารถไหลผ่านได้ดี วิธีนี้เมื่อมีการซ่อมแซมปรับปรุงทางเท้าก็จะทำให้แก้ไขได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งการสร้างทางเท้าในรูปแบบนี้ได้มีการสร้างท่อสายสื่อสารใต้ดินไว้รองรับผู้ประกอบการสาธารณูปโภค และรองรับการขยายท่อประปาในอนาคตอีกด้วย ลดปัญหาการขุดก่อสร้างทางเท้าซ้ำซาก  

 

ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน โดยประชาชนตลอดเส้นทางชื่นชมว่าสามารถก่อสร้างได้รวดเร็ว นอกจากนี้ เพื่อให้ถนนในกรุงเทพฯ เดินได้สะดวกขึ้น แก้ปัญหาการจราจร และสามารถเชื่อมต่อกับการเดินทาง เช่น รถไฟฟ้า และระบบฟีดเดอร์ (Feeder) ในอนาคตจะปรับเปลี่ยนทางเดินเท้าให้เป็น Covered Walkway ซึ่งมีหลังคาคลุมตลอดเส้นทาง ซึ่งในขณะนี้มีการดำเนินการแล้วที่บริเวณโรงเรียนหอวัง 

 

ชัชชาติกล่าวตอนท้ายว่า สิ่งที่ต้องขอความร่วมมือคือเรื่องของหาบเร่แผงลอย ต้องไม่กลับมาขายบนทางเท้าที่ห้ามขาย รวมถึงรถจักรยานยนต์ห้ามขับขี่บนทางเท้า ซึ่งเส้นทางในวันนี้มีร้านซ่อมรถจักรยานยนต์จำนวนมาก ก็ได้ขอความร่วมมือให้ประชาสัมพันธ์บอกลูกค้าว่าอย่าขับขี่บนทางเท้าเพื่อนำรถขึ้นมาซ่อม แต่ให้ใช้วิธีจูงรถจักรยานยนต์ขึ้นมาซ่อมแทน เนื่องจากน้ำหนักของรถจักรยานยนต์ส่งผลต่อความเสียหายของกระเบื้องทางเท้า อีกทั้งเกิดอันตรายแก่ประชาชนคนเดินเท้า และยังผิดกฎหมายอีกด้วย

 

วิศณุกล่าวเสริมว่า ในอนาคตการก่อสร้างหรือซ่อมแซมทางเท้าในกรุงเทพฯ จะใช้รูปแบบดังกล่าวคือ รูปแบบที่ 1 เทคอนกรีตและเสริมตะแกรงเหล็กไวร์เมช 10 เซนติเมตร แล้วปูกระเบื้องทับ ส่วนรูปแบบที่ 2 การราดยางมะตอยทั้งหมดแล้วค่อยปูกระเบื้องทับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทการซ่อมแซมก่อสร้างทางเท้าแต่ละเส้นทาง ซึ่งต้องวิเคราะห์จากวิธีการที่ใช้งบประมาณให้ประหยัดที่สุด แต่ได้จำนวนระยะทางมากที่สุด 

 

นอกจากนี้ทางเท้าที่ปรับปรุงใหม่จะปรับปรุงเป็นแบบ Universal Design คือให้เหมาะกับคนทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงผู้พิการซึ่งสำนักการโยธา กทม. พยายามปรับปรุงมาตรฐานในการทำทางเท้าใหม่ให้เป็นตามมาตรฐานโลกในปัจจุบัน เพื่อนำมาปรับใช้ให้เป็นลักษณะนี้ทั้งกรุงเทพฯ ในอนาคต

 

ทั้งนี้ ประโยชน์ของการใช้ยางมะตอยพรุนพอรัสแอสฟัลต์ (Porous Asphalt) บริเวณโคนต้นไม้คือ 1. แก้ปัญหาทางเท้าแคบช่วงต้นไม้ 2. แก้ปัญหารากต้นไม้ดันกระเบื้องทางเท้า 3. แก้ปัญหาน้ำขังบนทางเท้าช่วงฝนตก โดยแนวทางพัฒนาการใช้งานต่อไปจะจัดทำพื้นที่ทดลองใช้งาน เช่น รอบต้นไม้บริเวณศาลาว่าการ กทม. และถนนต่างๆ พร้อมทั้งทำการฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่/ผู้รับเหมาเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติได้ถูกต้อง รวมถึงการจัดทำมาตรฐานการใช้งานยางมะตอยพรุน ระหว่างสำนักการโยธาและสำนักงานสวนสาธารณะ ร่วมกับผู้ผลิตยางมะตอยพรุน และองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย อีกด้วย

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X