×

TPAC – หุ้น Small Cap น่าจับตาทั้ง Growth Stock และ Valuation ที่ไม่แพงมาก

07.09.2023
  • LOADING...
TPAC

เกิดอะไรขึ้น:

บมจ.พลาสติค และหีบห่อไทย (TPAC) ประกาศกำไรสุทธิที่ 114 ล้านบาท ใน 2Q66 ซึ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ลำดับที่ 2 รองจาก 1Q66 โดยกำไรปรับตัวลดลง 17.7%QoQ แต่ปรับตัวสูงขึ้น 151%YoY โดยผลการดำเนินงานปรับตัวลดลง QoQ เนื่องจากการลดลงของผลการดำเนินงานจากต่างประเทศ (75% ของ EBIT รวม) 25.2%QoQ จากการปรับตัวลดลงของรายได้ที่ 7.8%QoQ และ Gross Margin ที่ลดลงเหลือ 11.8% ใน 2Q66 จาก 14.6% ใน 1Q66 เนื่องจากเป็นช่วง Low Season ของประเทศอินเดีย และฤดูฝนที่มาเร็วในฝั่งเหนือของประเทศอินเดีย ทำให้ปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์ Beverage ลดลง ส่งผลให้ปริมาณขายลดลง 7%QoQ

 

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานในประเทศ (25% ของ EBIT รวม) เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น QoQ จากการควบคุมต้นทุนที่ดีขึ้น และการปรับ Product Mix โดยเฉพาะ TPAC บางนา ที่มี EBITDA Margin กลับมาเป็นประมาณ 15% ใน 2Q66 จากติดลบใน 1Q66 ช่วยชดเชยผลกระทบผลการดำเนินงานที่ลดลงจากต่างประเทศได้ระดับหนึ่ง 

 

ใน 2H66 บริษัทคาดการณ์แนวโน้มผลการดำเนินงานจะเติบโตเพิ่มขึ้น HoH ผลจากการขยายกำลังการผลิตโรงงานใหม่ 2 โรงที่เสร็จเรียบร้อยแล้วที่ประเทศอินเดีย ส่วนการปรับปรุงโรงงาน Skypet ประเทศอินเดียตอนใต้ที่ได้เพิ่มพื้นที่ผลิตอีกกว่า 50% จะทำให้กำลังการผลิตในประเทศอินเดียโดยรวมเพิ่มขึ้น 20% ภายในสิ้นปีนี้ สอดรับกับผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เข้ามาในส่วนของผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงการผ่านพ้นช่วง Low Season ของอุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วง 2Q แล้ว 

 

นอกจากนี้คาดว่าโรงงานในประเทศไทยยังอยู่ในทิศทางที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (ปัจจุบัน 50% U-rate) ขณะที่ Gross Margin คาดว่าจะทรงตัวระดับสูงจากผลของ Economy of Scale ทั้งนี้บริษัทคาดว่า EBITDA Margin จะฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ที่อยู่ 14.9% มาอยู่ในช่วงระหว่าง 17-20% (INVX: 19.3%) ในปี 2566 (1H66 = 19.1%)

 

กระทบอย่างไร:

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น TPAC ปรับลดลง 14.04%MoM อยู่ที่ระดับ 15.30 บาท ขณะที่ SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 1.20%MoM สู่ระดับ 1,548.78 จุด 

 

แนวโน้มผลประกอบการปี 2566:

InnovestX Research มองว่า TPAC เป็นอีกหนึ่งหุ้น Small Cap น่าจับตาจากการที่เป็นทั้ง Growth Stock และ Valuation ที่ยังไม่แพงมาก โดยคาดการณ์ผลการดำเนินงานของ TPAC เติบโต 60%YoY ในปี 2566 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลักๆ มาจากการขยายการผลิตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย (47% ของรายได้รวม) ยังเป็น Key Growth Driver หลัก เนื่องจาก TPAC เป็นผู้ผลิต Rigid PET Packaging (ไม่รวมขวดน้ำกับน้ำอัดลม) ส่วนแบ่งตลาดอันดับต้นๆ ในอินเดีย และแนวโน้มตลาดยังเติบโตต่อเนื่อง 10.7% ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า จาก GDP Growth ที่สูงประมาณ 6-7% ต่อปี 

 

ขณะที่คาดการณ์การใช้พลาสติกของอินเดียจะเพิ่มขึ้น 5.5 เท่าภายในปี 2603 เมื่อเทียบกับปี 2562 ทั้งนี้ประเทศอินเดียมีจำนวนประชากรที่มากที่สุดในโลกที่ 1,425.7 ล้านคน ณ เดือนเมษายน ปี 2566 แซงหน้าจีนที่อยู่ 1,422.9 ล้านคน รวมถึงก็ยังอยู่ระหว่างพิจารณา M&A ใหม่ๆ โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย 

 

โดยยังมอง Upside จากต้นทุนพลังงานที่คิดเป็น 5-6% ของต้นทุนรวม ค่าไฟฟ้าที่ลดลงตามนโยบายภาครัฐ นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างพัฒนากระบวนการผลิตโดยใช้ระบบ Automation มากขึ้น ช่วยลดผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงได้ระดับหนึ่ง 

 

ปัจจุบัน TPAC ซื้อขายที่ระดับ P/E 2566F เพียง 9.9X ซึ่งต่ำค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม (เช่น PJW และ EPG ที่มี 2023 P/E ประมาณ 12.8X และ 18.7X ตามลำดับ) โดยให้ราคาเป้าหมายปี 2566 ที่ฐาน PER ที่ 12.8 เท่า หรือ -1.0 SD ของ P/E Mean ในรอบ 3 ปี ได้ราคาเป้าหมาย 20.0 บาทต่อหุ้น อย่างไรก็ตาม มองว่าราคาหุ้นมี Free Float และสภาพคล่องค่อนข้างน้อย จึงแนะนำทยอยสะสมสำหรับการเติบโตระยะยาว

 

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม คือ หากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรงมากขึ้นอาจจะกระทบต่อกำลังซื้อผลิตภัณฑ์ แต่เชื่อว่าผลกระทบจะจำกัด เนื่องจากบริษัทมุ่งเน้นผลิตสินค้าเกี่ยวเนื่องกับอาหาร ยา และเวชภัณฑ์ที่เป็นสิ่งของจำเป็นต่อการดำรงชีวิต อัตราหนี้สินต่อทุนที่สูงขึ้นหากมี M&A ใหม่ๆ และ Free Float ที่ต่ำ ~21% จึงมีสภาพคล่องในการซื้อขายที่น้อย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X