วานนี้ (6 กันยายน) ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่ 2 (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
ในที่ประชุมได้รายงานผลการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 90,570,138,630 บาท
ทั้งนี้ โครงการที่คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ขอสงวนความเห็นไว้เพื่อขอให้สภากรุงเทพมหานครวินิจฉัย ได้แก่ สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) เขตลาดกระบัง, กนกนุช กลิ่นสังข์ สก. เขตดอนเมือง, รัตติกาล แก้วเกิดมี สก. เขตสายไหม และ วิรัช คงคาเขตร สก. เขตบางกอกใหญ่ ขอสงวนความเห็นในประเด็นโครงการการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล 6 กลุ่มเขต
โดยขอให้ตัดเนื่องจากไม่คุ้มค่ากับงบประมาณในการปรับปรุง และให้ความเห็นว่า การเขียนโครงการต้องเขียนให้สอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. เรื่องเส้นเลือดฝอย การประมาณการเพื่อทำโครงการควรวิเคราะห์ให้สมเหตุสมผล ซึ่งคำขอรับงบประมาณทุกกลุ่มเขตไม่มีการให้รายละเอียดแต่อย่างใด การปรับปรุงห้องเรียนโดยการจัดซื้อเครื่องปรับอากาศอาจเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกวิธี ต้นทางการแก้ปัญหาคือ การปลูกฝังให้เด็กได้เรียนรู้การปลูกต้นไม้เพื่อกรองฝุ่น ควรปลูกฝังให้เด็กมีความรักและผูกพันกับต้นไม้ และอาจร่วมด้วยการงดกิจกรรมกลางแจ้ง รวมทั้งการหมั่นทำความสะอาด
ทั้งนี้ ความปลอดภัยของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ แต่การนำเด็กไปไว้ในห้องปรับอากาศตลอดเวลาเหมาะสมและปลอดภัยหรือไม่ รวมถึงงบประมาณค่าไฟที่จะต้องเพิ่มขึ้นมา อย่างไรก็ตาม หากกรุงเทพมหานครจะเสนอโครงการพร้อมรูปแบบการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในคราวเดียวกันจะเหมาะสมมากกว่า
ทั้งนี้ ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบกับผู้สงวนความเห็น ให้ตัดงบประมาณของสำนักการศึกษาโครงการดังกล่าวในวงเงิน 219,339,000 บาท
ด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวชี้แจงในที่ประชุมว่า เรื่องนี้อยู่ในนโยบายการจัดพื้นที่ปลอดฝุ่นให้กลุ่มเปราะบาง อายุ 1-6 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงอายุที่สมองจะสามารถพัฒนาได้ดีที่สุด หลายครั้งเราละเลยเด็กกลุ่มนี้ ประกอบกับการสอนให้เด็กเล็กใส่หน้ากากทำได้ยาก จึงเกิดแนวคิดทำเรื่องห้องเรียนปลอดฝุ่น หลายครั้งที่ได้ไปเยี่ยมโรงเรียนและเห็นว่าเด็กอยู่ในห้องเรียนที่ร้อน
“ห้องของเด็กที่เป็นอนาคตของชาติ การลงทุนงบประมาณกับเด็กถือเป็นเรื่องที่คุ้มค่า อนาคตต้องมีการติดโซลาร์เซลล์ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเด็กรวยหรือเด็กจนควรได้รับโอกาสในการเรียนในห้องเรียนปรับอากาศ” ชัชชาติกล่าว