SCB CIO เผย นักลงทุนผวาเลิกลงทุนหุ้นกู้ High Yield Bond หลังเจอปัญหาเบี้ยวหนี้ไปแล้วหลายราย พร้อมแนะนำให้หลีกเลี่ยงลงทุนหุ้นกู้ ‘ดอกเบี้ยสูง-เรตติ้งต่ำ’ ทั้งเอเชีย เศรษฐกิจชะลอเสี่ยงเบี้ยวหนี้
ศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยผ่านรายการ Morning Wealth ว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นเอกชนของไทยมีมูลค่าประมาณ 4.4 ล้านล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนราว 95% จัดอยู่ในกลุ่มระดับลงทุน (Investment Grade) และอีกสัดส่วนที่ประมาณ 5% เป็นกลุ่มหุ้นกู้ดอกเบี้ยสูง (High Yield Bond) หรือ Low Investment Grade หรือมีมูลค่ารวมเพียง 2.2 แสนล้านบาทเท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- หุ้นกู้ JKN ไม่รอด มีอีก 6 รุ่นถูก Cross Default รวม 2.76 พันล้านบาท ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ส่งหนังสือทวงหนี้
- รอดหวุดหวิด! Country Garden จ่ายดอกเบี้ย ‘หุ้นกู้สกุลดอลลาร์’ 2 ชุด ในวันสุดท้ายของระยะผ่อนผัน
- EXCLUSIVE: ถอดบทเรียนจาก 5 บริษัท ‘เบี้ยวหนี้หุ้นกู้’ ทำนักลงทุนขยาด High Yield Bond
ทั้งนี้ จากสัญญาณพบว่านักลงทุนยังไม่กังวลการลงทุนในหุ้นประเภท Investment Grade เพราะผู้ออกหุ้นยังสามารถจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยได้เป็นปกติอย่างสม่ำเสมอ และมีงบดุลที่แข็งแกร่ง ยกเว้นหุ้นกู้ประเภท High Yield Bond หรือ Low Investment Grade ที่นักลงทุนมีความกังวล หลังจากเริ่มเห็นปัญหาการทยอยผิดชำระหนี้เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ หากเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด พบว่ามีหุ้นที่มีปัญหามูลค่ารวมประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันมีหุ้นกู้ที่มีปัญหาเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6 เท่าตัว
โดยหุ้นส่วนใหญ่ที่มีปัญหามาจากกรณีของ บมจ.การบินไทย หรือ THAI ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ มูลค่าประมาณ 7 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการบินไทยเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากมีสัญญาณกลับมามีกำไรต่อเนื่อง และสามารถชำระคืนหนี้ได้ ส่งผลให้มีโอกาสที่จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ในปี 2567
“แม้ว่าสัดส่วนหุ้นกู้ที่มีปัญหาเพียง 1 แสนล้านบาทจะเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบหุ้นกู้ทั้งตลาดมูลค่า 4.4 ล้านล้านบาท แต่ทำให้ Sentiment ของหุ้นกู้ High Yield Bond หรือ Low Investment Grade คนมีความกังวล อย่างในปีนี้มี 6 บริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ไปแล้วเป็นเงินรวมประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท” ศรชัยกล่าว
ขณะที่จากช่วงต้นปี 2566 ถึงปัจจุบัน หรือช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ภาพรวมตลาดหุ้นกู้เอกชนมีการออกมาแล้วมูลค่ารวมประมาณ 6.17 แสนล้านบาท และช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะเห็นการเสนอขายหุ้นกู้ต่อเนื่อง ส่งผลให้ทั้งปีนี้น่าจะมีมูลค่าการออกหุ้นกู้รวมประมาณ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งสัดส่วนประมาณ 90% จะเป็นหุ้นกู้กลุ่ม Investment Grade ส่วนที่เหลือจะเป็น High Yield Bond หรือ Low Investment Grade ซึ่งมีความเสี่ยงที่ดีมานด์การลงทุนจะหายไป จากผลกระทบของความกังวลปัญหาที่เกิดขึ้น
แนะเลี่ยงลงทุน High Yield Bond ในเอเชีย
สำหรับการลงทุนตลาดหุ้นกู้ในต่างประเทศโดยเฉพาะในเอเชีย ซึ่งหุ้นกู้ High Yield Bond กระจุกตัวอยู่ในประเทศจีนค่อนข้างมากนั้น ประเมินว่าตลาดมีความกังวล เพราะหุ้นกู้ High Yield Bond ของจีนกระจุกตัวอยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของทั้งหมด จากอดีตที่เคยมีสัดส่วนสูงถึง 50%
ขณะที่ในปีนี้ Country Garden จะมีหนี้ที่ครบกำหนดชำระคืนรวมประมาณ 850 ล้านดอลลาร์ และในปี 2024 จะมีหนี้ครบกำหนดชำระอีกจำนวน 2 พันล้านดอลลาร์ จากนั้นในปี 2025 จะมีหนี้ครบกำหนดชำระอีกจำนวน 4 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนหนี้ที่มีจำนวนมาก ประกอบกับเป็นช่วงจังหวะที่เศรษฐกิจกำลังมีปัญหาการชะลอตัว ขณะที่ความต้องการที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มลดลง และยังเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยโลกที่อยู่ในระดับที่สูง ส่งผลกระทบให้ความสามารถในการชำระหนี้ดอลลาร์ลดลงด้วย
นอกจากนี้ จีนยังมีหนี้หุ้นกู้ High Yield Bond มูลค่ารวมราว 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่กำลังจะครบกำหนดชำระกระจุกตัวในช่วงปี 2024-2025 ในสัดส่วนที่สูง ดังนั้น ในระยะข้างหน้าจึงยังมีความท้าทายมากพอสมควรจากประเด็นปัญหาของหนี้ High Yield Bond ในจีน จึงมีคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกู้ High Yield Bond โดยเฉพาะในเอเชียและจีนไปก่อน
และหากดูอัตราผลตอบแทนของตลาด High Yield Bond จากต้นปี 2023 ถึงปัจจุบัน พบว่าให้ผลตอบแทนติดลบ 4-5% แต่หากเป็นหุ้นกู้ High Yield Bond ของจีนให้ผลตอบแทนติดลบมากถึง 15% สะท้อนถึงปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์จีนที่ยังน่ากังวลในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า สวนทางกับภาพรวมของหุ้นกู้ Investment Grade ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกทั้งหมด
เปิดเทคนิคลดความเสี่ยงเลือกซื้อหุ้นกู้
ศรชัยยังแนะนำวิธีการพิจารณาการลงทุนในหุ้นกู้เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้พิจารณาดังนี้
- เครดิตเรตติ้งของหุ้นกู้ เพื่อให้เห็นว่ามีความเสี่ยงในการจะผิดนัดชำระหนี้มีสูงหรือต่ำอย่างไร ซึ่งแนะนำให้ลงทุนในหุ้นกู้ที่มีเครดิตเรตติ้งสูงกว่า Investment Grade ไปอีก 1 ระดับ เพราะจากสถิติพบว่าจะมีความเสี่ยงในการชำระหนี้ที่ต่ำกว่าหุ้นกู้ High Yield Bond หรือ Low Investment Grade ค่อนข้างมาก
- ประเภทของหุ้นกู้ หากนักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้ต่ำควรเลือกลงทุนหุ้นกู้ที่มีหลักประกัน
- จรรยาบรรณหรือบรรษัทภิบาลของบริษัทผู้ออก เนื่องจากในระยะหลังเริ่มพบการทุจริตของผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) บางแห่ง
- ศึกษางบการเงินและงบกระแสเงินสดของบริษัท ซึ่งมีความสำคัญที่สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้
- ศึกษาหมายเหตุประกอบงบการเงิน (Notes to Financial Statement) ว่ามีประเด็นความน่าสงสัยหรือไม่ รวมถึงกรณีที่ผู้สอบบัญชีรับรองงบการเงินแบบมีเงื่อนไขควรหลีกเลี่ยงการลงทุน
แนะลงทุนตราสารหนี้ดอลลาร์ Investment Grade
ขณะเดียวกัน แนะนำให้นักลงทุนเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ความเสี่ยงต่ำที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ หรือหุ้นกู้ Investment Grade ซึ่งออกโดยบริษัทที่มีงบดุลที่แข็งแรง สามารถต้านทานภาวะกับภาวะเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวในอนาคตและภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงได้ อีกทั้ง ตลาดหุ้นกู้สหรัฐฯ มี Yield curve ที่สูงกว่าไทย จึงมองเป็นโอกาสในการเข้าลงทุน
ทั้งนี้ แนะนำลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี ยูเอส แอกกริเกท บอนด์ ฟันด์ (MUBOND-D) ที่เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ Investment Grade ระยะยาวของสหรัฐฯ ที่จะได้ประโยชน์จากแนวโน้มดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่มีโอกาสลดลงในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในต่างประเทศจะมีประเด็นความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งนักลงทุนต้องบริหารจัดการด้วยการทำการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนด้วย