Fitch Ratings เตือนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะถูกจำกัดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เตรียมหั่นประมาณการ GDP ลงเหลือใกล้ 3% จาก 3.7% มองนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผสมชุดใหม่อาจทำให้ระดับหนี้ของรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น ชี้ฐานะการคลังที่อ่อนแอลงเป็นปัจจัยที่อาจกดดันให้ Fitch หั่นอันดับเครดิตประเทศไทย
วันนี้ (5 กันยายน) James McCormack กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตประเทศของ Fitch Ratings กล่าวในงาน 2023 Fitch on Thailand: Global and Regional Economic & Bank Outlook ว่า ขณะนี้ฐานะการคลังของไทยอ่อนแอลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้อยู่ในระดับ BBB ด้วยกัน เนื่องจากระดับหนี้สาธารณะและการขาดดุลงบประมาณของไทยสูงกว่าค่ามัธยฐานของกลุ่ม BBB เล็กน้อย (ภาพที่ 1)
ภาพที่ 1
“สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่ออันดับเครดิต และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ Fitch ใช้พิจารณา แม้ทุกประเทศมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเนื่องจากการระบาดใหญ่ แต่การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะไทยนั้นมากกว่าประเทศอื่นๆ ในระดับ BBB เล็กน้อย” McCormack กล่าว
Fitch ยังอธิบายว่า แรงกดดันด้านการคลังของไทยที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นในการใช้จ่าย (ด้านการคลัง) ของรัฐบาลชุดใหม่ ขณะที่แรงกดดันด้านการคลังของประเทศอื่นๆ มีสาเหตุมาจากปัจจัยที่ต่างกัน โดยส่วนใหญ่แล้วการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ดังนั้น ปัจจุบันเราจะเห็นภาพทั่วโลกมีฐานะการคลังที่อ่อนแอ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ McCormack ตอบว่า “ต้องแยกคำมั่นสัญญาระหว่างแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งกับสิ่งที่รัฐบาลไทยจะส่งมอบให้ได้จริงๆ โดย Fitch คาดหวังว่าอาจเห็นการจ่ายเงินในจำนวนที่น้อยกว่า 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นราว 3% ของ GDP ไทย”
‘การคลัง’ เป็นปัจจัยที่อาจกดดันให้ Fitch หั่นอันดับเครดิตประเทศไทย
McCormack กล่าวอีกว่า ประเด็นทางการคลังเป็นปัจจัยที่ชัดเจนที่สุด ในแง่ของแรงกดดันที่ทำให้ Fitch ปรับลดอันดับเครดิต แต่ Fitch ยังไม่เห็นว่าปัจจัยนี้มีนัยสำคัญเพียงพอในขณะนี้ เนื่องจากไทยยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ เสถียรภาพทางการเมือง และภาคต่างประเทศ (External Sector) ที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว และดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Balance) หรือดุลบัญชีที่แสดงเงินที่ไหลเข้า-ออกประเทศที่เริ่มดีขึ้น
“ในอดีตประเทศไทยมีดุลการคลังที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แกร่งกว่าภูมิภาค แกร่งกว่ากลุ่มประเทศ BBB ด้วยกัน แต่ตอนนี้จุดแข็งทางการคลังของไทย ซึ่งสนับสนุนอันดับเครดิตมาหลายปีหายไปแล้ว”
อย่างไรก็ตาม McCormack ย้ำอีกครั้งว่า ฐานะการคลังของไทยยังไม่ได้เป็นจุดอ่อน แต่จะต้องจับตาดูว่าการปรับปรุงการขาดดุลทางการคลังของไทยจะดำเนินต่อไปหรือไม่ ท่ามกลางประมาณการที่ว่ารัฐบาลใหม่จะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในอนาคต
กระนั้น McCormack ยังค่อนข้างมั่นใจว่า กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยมีกรอบการดำเนินนโยบาย (Policy Framework) ที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง และสามารถบริหารจัดการหนี้สาธารณะได้ดีมาตลอดหลายปีนี้ แม้ในช่วงที่การเมืองมีความไม่แน่นอน
Fitch จ่อหั่นประมาณการ GDP ไทย
McCormack กล่าวอีกว่า ตามที่ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อาจปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP ไทยในปีนี้ลงภายในเดือนนี้หรือเดือนหน้า Fitch ก็คาดว่าจะดำเนินการเช่นเดียวกัน โดย GDP ของไทยในปีนี้น่าจะโตใกล้ 3% มากกว่าประมาณการเดิมของ Fitch ที่ 3.7% โดยหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ Fitch เตรียมปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้ลงมาจากผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
โดย Fitch คาดว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะเผชิญกับภาวะถดถอยในระดับที่ไม่รุนแรงนักในปีนี้ หลังอัตราการเติบโตของการจ้างงานเริ่มปรับตัวลดลง ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตโดยรวมของเศรษฐกิจที่เริ่มอ่อนตัวลง
ขณะที่ประเทศกลุ่มยุโรปน่าจะเติบโตได้น้อยกว่าศักยภาพ เนื่องจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายไปจนถึงปีหน้า สำหรับเศรษฐกิจจีนก็ยังชะลอตัวเช่นกัน แต่มาจากสาเหตุที่แตกต่างกันไป โดยการถดถอยอย่างรุนแรงในภาคอสังหาริมทรัพย์นั้นได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นไปยังภาคอุตสาหกรรมอื่น และยังทำให้รัฐบาลเริ่มใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามาตรการกระตุ้นเหล่านี้จะเพียงพอและสามารถทำให้เศรษฐกิจของจีนในปีนี้เติบโตได้ตามเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่ 5% หรือไม่
สำหรับประเทศไทยก็ไม่สามารถต้านทานต่อสภาวะของเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยได้ โดยสะท้อนจากยอดส่งออกสินค้าที่หดตัวลงตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2565 และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโรคระบาด
Fitch ยังเชื่อว่า แม้ว่ารัฐบาลชุดใหม่เป็นรัฐบาลผสมที่เกิดจากการจับขั้วหลายพรรคการเมือง แต่ก็น่าจะผลักดันนโยบายต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยมุมมองที่หลากหลายจากการเป็นรัฐบาลผสม จะทำให้กระบวนการพิจารณาอนุมัติงบประมาณปี 2567 มีความซับซ้อน และอาจทำให้เกิดความล่าช้าได้
อีกทั้งการพิจารณางบประมาณนี้ยังถูกจำกัดจากนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่จะปรับเพิ่มการใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคม ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตได้ในระยะสั้น แต่อาจสร้างแรงกดดันส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้น หากไม่สามารถรักษาระดับการเติบโตของ GDP ให้มีความต่อเนื่องได้