วิจัยกรุงศรีปรับลดประมาณการ GDP ไทยปีนี้เหลือ 2.8% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.3% หลังตัวเลขส่งออก การลงทุน และการใช้จ่ายภาครัฐอ่อนแอกว่าคาด
สำนักวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ วิจัยกรุงศรี ระบุว่า แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนกรกฎาคมจะเข้ามาในประเทศไทยถึง 2.5 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มกลับมาเปิดประเทศหลังจากการระบาดของโควิดคลี่คลายลง รวมถึงการท่องเที่ยวในประเทศได้ปัจจัยบวกจากช่วงวันหยุดยาว ช่วยหนุนการบริโภคในหมวดบริการและหมวดสินค้าไม่คงทน แต่มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 เนื่องจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง
โดยสำนักวิจัยประเมินว่า ในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวและมีโอกาสเติบโตเพิ่มเป็น 3.4% จาก 2.2% ในช่วงครึ่งแรกของปี จากแรงหนุนหลัก 3 ประการ ได้แก่
- ภาคท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปีซึ่งเป็นช่วงไฮซีซัน
- การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นปรับดีขึ้น เร่งกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ โดยล่าสุดรัฐบาลระบุว่าเตรียมการช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคและพลังงาน ตลอดจนโครงการพักหนี้เกษตรกร
- ผลจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว (เนื่องจากจีนมีมาตรการล็อกดาวน์ในไตรมาส 4/2565 กระทบต่ออุปสงค์และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก) ซึ่งอาจเป็นปัจจัยทางเทคนิคที่สนับสนุนให้อัตราการเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเร่งสูงขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่อ่อนแอ การจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้า รวมถึงผลกระทบจากภัยแล้งและต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น (ท่ามกลางหนี้ครัวเรือนที่สูง) อาจเป็นข้อจำกัดของการเติบโตทางเศรษฐกิจ
จากปัจจัยข้างต้นจึงปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวที่ 2.8% (เดิมคาด 3.3%) และคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ตลอดในช่วงที่เหลือของปี ผลจาก GDP ไตรมาส 2/2566 เติบโตเพียง 1.8%YoY (ต่ำกว่าที่วิจัยกรุงศรีคาดไว้ที่ +2.7%) ประกอบกับภาคส่งออกอ่อนแอกว่าคาด โดยปรับลดคาดการณ์ส่งออกเป็นหดตัว 1.5% (เดิมคาด +0.5%) เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญชะลอตัว และเศรษฐกิจจีนมีการฟื้นตัวช้า
สำนักวิจัยคาดว่าการส่งออกของไทยที่อ่อนแอจะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้น้อยกว่าที่เคยคาดไว้ นอกจากนี้การจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้ากระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐปรับลดลงจากคาดการณ์เดิม อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในภาพรวมจะยังได้แรงหนุนจากภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัว โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีซึ่งเป็นช่วงไฮซีซันของภาคท่องเที่ยว ผนวกกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ที่คาดว่าจะพยายามเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่บรรเทาลง ขณะที่เศรษฐกิจไทยแม้มีทิศทางฟื้นตัวแต่ยังเติบโตได้ต่ำกว่าระดับศักยภาพระยะยาว (Long Term Trend) ประกอบกับล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ลงจากที่คาดไว้ที่ 3.6% วิจัยกรุงศรีจึงยังคงมุมมองว่า กนง. อาจจะยุติวงจรการขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ในการประชุมเดือนกันยายน และคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 9 ปี ตลอดในช่วงที่เหลือของปี เพื่อสนับสนุนให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีความต่อเนื่อง