ความพ่ายแพ้ของทีมบาสเกตบอลสหรัฐอเมริกาต่อลิทัวเนีย เมื่อวันที่ 3 กันยายน ไม่ใช่หนแรกในประวัติศาสตร์ แต่เป็นครั้งที่ 3 แล้ว
เริ่มจากชิงแชมป์โลกปี 1998 และเอเธนส์ โอลิมปิก 2004 ทั้งสองรายการสหรัฐอเมริกาลงเอยด้วยเหรียญทองแดง
ถ้าคุณได้ดูเกมเมื่อวันที่ 3 กันยายน ก็คงจะเห็นกองเชียร์บางคนของลิทัวเนียสวมเสื้อสีมัดย้อมสดใส
มองผ่านตาก็คงไม่มีอะไร ทั้งที่ความจริงประวัติศาสตร์ของเสื้อสีมัดย้อมลิทัวเนียผูกพันกับวงร็อกดังของสหรัฐอเมริกาเมื่อยุค 80
เวลาพูดถึง โอลิมปิก บาร์เซโลน่า 1992 หลายคนจะต้องนึกถึงดรีมทีมของสหรัฐอเมริกา นึกถึง ไมเคิ่ล จอร์แดน, แมจิก จอห์นสัน และ แลร์รี่ เบิร์ด
สมัยนั้นคงไม่มีใครนึกถึงชาติใหม่ซึ่งเพิ่งปลดแอกจากสหภาพโซเวียต เป็นเพียงชาติยากจน จะกลายเป็นชาติที่ได้เหรียญในโอลิมปิก
ลิทัวเนียเคยเป็นชาติที่ภาคภูมิใจและประสบความสำเร็จกับบาสเกตบอล เคยคว้าแชมป์ยุโรปสองสมัยเมื่อปี 1937 กับ 1939
แฟรงค์ ลูบิ้น ตำนานผู้สร้างความนิยมให้กับวงการบาสลิทัวเนีย เคยลงแข่งให้ ยูซีแอลเอ และนำชาติครองแชมป์ยุโรปไม่กี่เดือนก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเริ่มขึ้น
ช่วงท้ายสงคราม รถถังรัสเซียบุกเข้าไปยังลิทัวเนียซึ่งเป็นชาติเล็กๆ มีประชากรเพียง 3 ล้านราย กลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต
บาสเกตบอลยังไม่ลดทอนความนิยม แต่ชาวลิทัวเนี่ยนกลับต้องแข่งในนาม สหภาพโซเวียต ไม่ใช่เพื่อชาติตัวเอง
พวกเขามีบทบาทสำคัญทำให้มอสโกคว้าเหรียญทองแดง เงิน และทอง ในทุกโอลิมปิกฤดูร้อน ระหว่างปี 1952-1988 (เว้นแต่ 1984 ซึ่งสหภาพโซเวียตนำชาติลูกสมุนบอยคอต)
ปี 1988 ที่กรุงโซล, ไม่กี่ปีก่อนหมดยุคสงครามเย็น สหภาพโซเวียตประกาศศักดาเล่นงานทีมชาติสหรัฐฯ ซึ่งยังต้องใช้แค่ผู้เล่นระดับมหาวิทยาลัย 82-76 ในรอบรองชนะเลิศ กรุยทางเข้าไปปราบยูโกสลาเวียครองเหรียญทอง
4 ใน 5 ตัวจริงของสหภาพโซเวียตชุดนั้นเป็นชาวลิทัวเนี่ยน ยิ่งไปกว่านั้นก็คือพวกเขามาจากเมืองคอนาสเหมือนกัน
ด้วยเหตุนี้เองรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงไม่พอใจ กดดันทางฟีบ้าว่าทำไมสหภาพโซเวียตจึงส่งผู้เล่นทุกคนลงแข่งโอลิมปิกได้ แต่พวกเขาทำไม่ได้
นี่จึงเป็นจุดกำเนิดของดรีมทีมในภายหลัง
2 ปีก่อนหน้า แอตแลนต้า ฮอว์คส กับ พอร์ตแลนด์ เทรล เบลเซอร์ส เคยพยายามดราฟต์ อาร์วีดาส ซาบอนิส เซ็นเตอร์ 7 ฟุต 3 ชาวลิทัวเนี่ยน แต่รัฐบาลที่อยู่ภายใต้ม่านเหล็กไม่ยอมให้เขาเดินทางมายังชาติคู่อริ
โกลเด้น สเตท วอร์ริเออร์ส ก็เคยดราฟต์ ซารูนาส มาร์ซิลูนิส ชู้ตติ้งการ์ดเพื่อนร่วมทีมซาบอนิสเข้าทีมตั้งแต่ปี 1987 รออยู่ถึง 2 ปี จึงได้ตัวเข้าทีมเมื่ออายุ 25 ปี กลายเป็นผู้เล่นสหภาพโซเวียตคนแรกในเอ็นบีเอ
ภายหลังซาบอนิสจึงได้อยู่กับ เทรล เบลเซอร์ส เมื่อปี 1995 แบบที่สภาพร่างกายผ่านจุดพีกมาพักใหญ่
(ทั้ง 2 คนคือกำลังสำคัญสมัยสหภาพโซเวียตปราบสหรัฐฯ ที่กรุงโซล)
11 มีนาคม 1990 ระบอบคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียตล่มสลาย
ลิทัวเนียได้เอกราชครั้งแรกในรอบ 50 ปี
พวกเขากลายเป็นชาติยากจน มาร์ซิลูนิส มีความคิดอยากทำทีมบาสเกตบอลชาติตัวเองขึ้นมา
ปัญหาคือพวกเขาไม่มีเงินทุนใดๆ หาคนบริจาคก็ยาก
ดอนนี่ เนลสัน ผู้ช่วยโค้ชวอร์ริเออร์สขณะนั้น เริ่มรู้จัก มาร์ซิลูนิส สมัยทำหน้าที่แมวมองปี 1987 แล้วแจ้งกับ ดอน เนลสัน ผู้เป็นพ่อว่า เจอผู้เล่นทักษะดีเข้าแล้ว
เขาพยายามระดมทุนช่วยเพื่อนทาง เบย์ แอเรีย
จอร์จ เชิร์ก นักข่าวกีฬาท้องถิ่น เขียนข่าวนี้ลงใน นสพ. ซาน ฟรานซิสโก โครนิเคิ่ล
เดนนิส แม็คนัลลี่ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์วงร็อก เกร้ตฟูล เด้ด อ่านเจอเข้าก็เอาไปให้สมาชิกในวงอ่านกัน
เจอร์รี่ การ์เซีย และ บ็อบ เวียร์ ผู้นำวง รู้สึกสงสารจับใจกับความพยายามดิ้นรนของ ลิทัวเนีย
เอกลักษณ์ของ เดอะ เด้ด ก็คือการเฉลิมฉลองเสรีภาพ
Caption: วง เกร้ตฟูล เด้ด ในการแสดงสดเมื่อปี 1980
มิกกี้ย์ ฮาร์ต มือกลองของ เกร้ตฟูล เด้ด บอกว่า “พวกเขาอยากได้ความช่วยเหลือ พวกเขาไม่มีเงิน พวกเขาเป็นทีมรองบ่อนของจริง และสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศพวกเขา เลวร้ายมาก”
เกร้ตฟูล เด้ด เคยดังสุดเมื่อปี 1987 หลังออกอัลบั้ม ทัช ออฟ เกรย์
ไม่เพียงบริจาคเงินก้อนโต แต่ยังส่งเสื้อยืดสีมัดย้อม พร้อมสกรีนรูปโครงกระดูกดั้งค์ บาสเกตบอลไปให้อีกต่างหาก
คนออกแบบชุดก็คือ เกร้ก สเปียร์ส ศิลปินนิวยอร์ก เขาเอาแรงบันดาลใจจากความเป็นวง เกร้ตฟูล เด้ด มาผสมกับสีเหลือง, เขียว และแดงธงชาติลิทัวเนีย
สเปียร์ส ยังเป็นอีกคนที่ปิดทองหลังพระ เพราะกำไรทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการขายเสื้อผ้าพวกนี้ หลังโอลิมปิกก็บริจาคให้กับลิทัวเนีย
ที่บาร์เซโลน่า ชาวลิทัวเนี่ยนได้ลงแข่งภายใต้ธงชาติตัวเองหนแรกรอบครึ่งศตวรรษ
พวกเขาปราบบราซิล รอบ 8 ทีม 114-96 ก่อนจะพ่าย ดรีมทีม 76-127 ในรอบรองชนะเลิศ
ศึกแห่งศักดิ์ศรีเกิดในเกมชิงทองแดง เมื่อลิทัวเนียลงสู้กับลูกสมุนเก่า 15 ชาติของ สหภาพโซเวียต ซึ่งรวมตัวมาแข่งในนามซีไอเอส
พวกเขาคว้าชัยชนะ 82-78
ตามธรรมเนียม ทีมบาสเกตบอลต้องสวมชุดวอร์มขึ้นโพเดี้ยมเวลารับเหรียญ
มาร์ซิลูนิส กลับคิดนอกกรอบ
เกร้ตฟูล เด้ด หนุนหลังพวกเขาในขณะที่ทุกคนมองข้าม
ทีมบาสเกตบอลลิทัวเนี่ยนได้ประกาศความเป็นอิสรภาพเมื่อยืนบนโพเดี้ยมรับเหรียญทองแดง ด้วยการสวมเสื้อและกางเกงสีมัดย้อมของ เกร้ต ฟูล เด้ด สร้างความฮือฮาไปทั่ว
ความนิยมของชุดดังกล่าวทำเอา โกลเด้น สเตท วอร์ริเออร์ส ยังเอามาทำเวอร์ชั่นของตัวเอง ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
เคยมีภาพยนตร์เรื่อง The Other Dream Team (2012) ซึ่งเป็นเรื่องราวของทีมบาสลิทัวเนีย ปี 1992 สร้างออกมาด้วย
ลิทัวเนียยังได้เหรียญทองแดงที่แอตแลนต้าในปี 1996 และอีกครั้งในปี 2000
ซาบอนิส แข่งในเอ็นบีเออยู่ 7 ฤดูกาล เข้าสู่ ฮอลล์ ออฟ เฟม บาสเกตบอล ปี 2011 และ มาร์ซิลูนิส ตามเข้าไปในปี 2014