×

Talk to Me ผีถ้วยแก้วฉบับอินเตอร์ กับภาพสะท้อนปัญหาครอบครัวและความหว่าเว้ของวัยรุ่น

03.09.2023
  • LOADING...
Talk to Me จับมือผี

หมายเหตุ: บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์เรื่อง Talk to Me

 

สำหรับคนที่มีเรื่องเล่าเป็นของตัวเอง การมีที่ทางและโอกาสอาจทำให้เรื่องเล่านั้นได้สำแดงฤทธิ์ในแบบที่พวกเขาเองก็คาดไม่ถึง เรื่องราวของ Danny Philippou และ Michael Philippou สองพี่น้องชาวออสเตรเลียเจ้าของช่อง YouTube ‘RackaRacka’ ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 6.7 ล้านคน อาจเป็นบทพิสูจน์ได้อย่างดี เมื่อเรื่องเล่าของพวกเขาดันไปถูกตาต้องใจกับค่ายภาพยนตร์ A24 จนได้มาพัฒนาเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในชื่อ Talk to Me จับมือผี 

 

Talk to Me ว่าด้วยเรื่องราวของ Mia (Sophie Wilde) เด็กสาววัยรุ่นคนหนึ่งที่มักจะเก็บงำปมบางอย่างเอาไว้ในใจ จนวันหนึ่งเธอกับกลุ่มเพื่อนได้เข้าร่วมการละเล่นสุดหลอน เมื่อรูปปั้นมือปริศนาที่โผล่มากลางงานปาร์ตี้สามารถทำให้พวกเขาสื่อสารกับวิญญาณได้ผ่านการจับมือ โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ ผู้เล่นจะต้องจุดเทียนแล้วยื่นมือไปจับ จากนั้นก็พูดว่า “Talk to me” เพื่อให้ผีปรากฏตัว และพูดว่า “I let you in” เพื่อให้วิญญาณเข้าสิงร่างของพวกเขา ซึ่งนี่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด 

 

 

ความแยบยลของเงื่อนไขการคุยกับผีแบบนี้ก็คือ เมื่อเงื่อนไขนี้หวนกลับมาเล่นซ้ำอีกครั้งในฉากสุดท้าย มันกลับกลายเป็นห้วงเวลาที่ทั้งกระอักกระอ่วน ขมขื่น เศร้าสร้อย หรือแม้แต่ชวนให้ดำดิ่งในความมืดมนอนธการ

 

ทั้งนี้ เงื่อนไขที่ว่าก็ดูละม้ายคล้ายคลึงกับการเล่น ‘ผีถ้วยแก้ว’ โดยเฉพาะการมีสื่อกลางที่เอาไว้ใช้พูดคุย การต้องจับสิ่งของบางอย่างเพื่อสื่อสาร ไปจนถึงวิธีการอัญเชิญวิญญาณ ซึ่งทั้งหมดนี้เมื่อคิดในมุมของคนไทยที่อยู่กับเรื่องราวความเชื่อแบบนี้อยู่แล้วเป็นทุนเดิม เราอาจมองได้ว่า นิยามของ Talk to Me นั้นคือ ‘ผีถ้วยแก้วฉบับอินเตอร์’ ก็คงจะผิดนัก 

 

แต่นี่เป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้นที่ส่งผลต่อภาพใหญ่ เมื่อผู้สร้างเลือกที่จะเล่าพื้นหลังของตัวละครให้สอดคล้องกับสาเหตุที่พวกเขาจับมือ จนออกมาเป็นการแบ่งแยกองค์ประกอบที่ช่วยเกื้อหนุนให้น้ำหนักของภาพยนตร์มีชั้นเชิงในการเล่ามากขึ้น ซึ่ง Talk to Me เป็นอีกครั้งที่ยืนยันว่า ภาพยนตร์สยองขวัญที่ดีไม่จำเป็นต้องพึ่งพาฉาก Jump Scare มากมาย หากมีไอเดียในการนำเสนอที่สดใหม่และน่าสนใจ 

 

 

ประเด็นหนึ่งที่สอดแทรกกลายเป็นเส้นเรื่องที่สำคัญคือ ‘ชีวิตของวัยรุ่น’ ที่นอกจากภาพลักษณ์ของตัวละครแล้ว แง่หนึ่งที่ภาพยนตร์เปรียบได้ชัดเจนคือ การเล่น ‘จับมือ’ นั้นเป็นเหมือนการเล่นกับ ‘ยาเสพติด’ เพราะอารมณ์ชั่ววูบที่มือมอบให้ได้เติมเต็มความสุขที่พวกเขาไม่อาจมีในชีวิตจริง 

 

และนั่นได้ต่อยอดมายังประเด็นที่สองคือ ‘ช่องว่างระหว่างวัย’ Mia เป็นเด็กสาวที่มีความสัมพันธ์ระหองระแหงกับพ่อ อันเนื่องมาจากการสูญเสียแม่ไปในอดีต และปมนี้ยังคงฝังลึกอยู่ในใจของเธอเสมอ จนมันได้นำไปสู่เป้าประสงค์ของการจับมือที่ไม่ได้นำมาแค่ความสุข แต่นำมาซึ่งการยอมรับในตัวตน 

 

ด้วยเหตุนี้สภาวะที่ตัวละครเผชิญจึงกลายเป็นอีกหนึ่ง ‘เงื่อนไข’ ที่ผลักดัน ‘เงื่อนไข’ อีกอันหนึ่งอย่างการพูดคุยให้มีมิติขึ้น เมื่อทุกตัวละครในเรื่องสามารถควบคุมการถูกวิญญาณเข้าสิงร่างได้ด้วยตัวเอง และในทางกลับกันมันก็ส่งผลต่อพวกเขาในแบบที่ต่างกันออกไป

 

หรือพูดอย่างรวบรัด Talk to Me ไม่ได้เป็นภาพยนตร์สยองขวัญเพียงด้านเดียว แต่เป็นภาพยนตร์ดราม่าที่ผู้สร้างตั้งใจทำออกมาด้วย และเมื่อทั้งสองส่วนนี้ได้ผสานรวมกัน มันยิ่งขับเคลื่อนให้พื้นหลังของตัวละครไปจนถึงการกระทำต่างๆ ดูมีน้ำหนักมากกว่าการเล่นลองดีทั่วไปของกลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการจะลองพิสูจน์ตน 

 

และทีละน้อย ผีเหล่านั้นก็ได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่เยียวยาจิตใจของตัวละครจากความเหินห่างในครอบครัว โดยเฉพาะ Mia ที่มักจะหลีกหนีจากความจริงด้วยการไม่พูดคุยกับพ่อ แต่ในขณะเดียวกันการได้มาพบกับแม่ที่เป็นผีผ่านการเล่นจับมือ ก็ทำให้เธอเริ่มขุดคุ้ยปมในอดีตอีกครั้ง 

 

มองในแง่หนึ่ง ภาพสะท้อนของผู้ปกครองทั้งสองโลกได้กลายเป็นตัวตัดสินชีวิตของ Mia หรืออย่างน้อยก็ชี้นำการกระทำไม่มากไม่น้อย และประเด็นนี้ได้กลายเป็นแง่มุมที่สะท้อนออกมาผ่านพื้นหลังของตัวละครตลอดทั้งเรื่อง

 

 

ส่วนที่ต้องปรบมือให้กับคนทำภาพยนตร์ดังๆ ก็ตรงที่ภาพยนตร์ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับปริศนาของมือ แต่สุดท้ายแล้ว มันกลับเป็นภาพยนตร์ที่ยืนยันกับตัวเองได้อย่างหนักแน่น หรืออีกนัยหนึ่งคือสะท้อนความเป็นตัวเองที่ใครยากจะเลียนแบบ รวมไปถึงกลวิธีการบอกเล่าที่เปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ อันได้แก่ กลไกทางด้านภาพ, การออกแบบเสียง, ดนตรีประกอบ, อารมณ์นักแสดง ไปจนถึงจังหวะจะโคนของภาพยนตร์ 

 

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลต้องยกความดีความชอบให้กับผู้กำกับ ในแง่ที่องค์ประกอบเหล่านั้นสามารถส่งเสริมและควบคุมอารมณ์ของผู้ชมให้มีความต่อเนื่องเมื่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

 

แต่ส่วนที่น่าทึ่งจริงๆ ก็คือ การวางตัวละครหลักอย่าง Mia ให้ออกมาแตกต่างจากขนบทั่วไป มือของเธอพร้อมเปื้อนเลือด ศีลธรรมของเธอพร้อมถูกทำลาย ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เกิดจากความเจ็บปวดในอดีตแทบทั้งสิ้น และมันได้กลายเป็นภาพสะท้อนที่พาตัวละครดำดิ่งเข้าสู่โลกของวิญญาณ เมื่อเธอเชื่อว่า การจับมือสามารถทำให้ความเศร้าโศกหายไป แต่ทว่าการแลกเปลี่ยนที่ตามมากลับส่งผลต่อชีวิตอย่างใหญ่หลวง จนนำมาสู่บทสรุปที่ทั้งทรงพลังและหดหู่ในเวลาเดียวกัน

 

 

ชื่อภาษาไทยของ Talk to Me อย่าง จับมือผี อาจไม่ได้ทำงานอะไรกับตัวภาพยนตร์มากมายนัก หากแต่เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษอย่างตรงตัว มันกลับสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมหาศาล 

 

นัยหนึ่งคือการกลืนกลายเข้ากับเนื้อเรื่องทั้งสองส่วนได้อย่างน่าอัศจรรย์ พาร์ตของลูกสาวที่มีปัญหาระหองระแหงกับผู้เป็นพ่อ และผีผู้เป็นแม่ที่ดูคลับคล้ายกับศาลาพักใจของเธอ ถูกเชื่อมสนิทกันอย่างแนบแน่น โดยมีศูนย์กลางอย่างชื่อเรื่องเป็นเสมือนกาวที่สมานทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน 

 

อีกด้านชื่อเรื่อง Talk to Me ไม่ได้ใช้แค่ในแง่ของการปะติดปะต่อเรื่องราวเพียงอย่างเดียว ไม่แน่ใจว่าผู้สร้างมีความตั้งใจอย่างไร แต่เมื่อดูจากบริบทของตัวละครเราอาจมองได้ว่า พลังของชื่อเรื่องไม่ได้มีหน้าที่แค่ ‘กำกับ’ หรือ ‘เชื่อมโยง’ แต่เป็นการสะท้อนความรู้สึกในใจของตัวละครออกมาด้วย เมื่อปมปัญหาเรื่องครอบครัวได้นำพาพวกเขาเข้าสู่โลกของวิญญาณ โลกที่ตัวตนของพวกเขาได้รับการยอมรับ

 

ไม่น่าเชื่อว่า Talk to Me จะเป็นผลงานเรื่องแรกของสองพี่น้อง Philippou เพราะมันดูเหมือนเป็นภาพยนตร์ที่ผู้สร้างบอกเล่าด้วยความคล่องแคล่วและรู้จังหวะต่างๆ ราวกับผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน แต่ในมุมกลับกัน มันก็เป็นภาพยนตร์ที่แฝงไปด้วยความรู้สึกสดใหม่ เงื่อนไข สภาพแวดล้อม หรือแม้กระทั่งความรู้สึกกระอักกระอ่วนที่ตัวละครจะต้องเผชิญ ข้อสำคัญคือ ถึงหลักใหญ่ใจความจะเป็นเรื่องของวิญญาณ แต่การพูดเรื่องความหว่าเว้ของวัยรุ่นให้เป็นเนื้อเดียวกันนั้น กลายเป็นภาพสะท้อนของสังคมที่ร่วมสมัยและหาได้ยากยิ่งในภาพยนตร์สยองขวัญยุคนี้

 

Talk to Me มีกำหนดเข้าฉาย 7 กันยายนนี้ ในโรงภาพยนตร์

 

รับชมตัวอย่าง Talk to Me จับมือผี ได้ที่:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X