×

เศรษฐกิจจีนเหมือนระเบิดเวลา? การเติบโตชะลอตัว อสังหาวิกฤต รัฐบาลจะปลดชนวนอย่างไร?

31.08.2023
  • LOADING...
เศรษฐกิจจีน

ช่วงระยะเวลากว่าครึ่งปีที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงเวลาที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ข่าวร้าย’ สำหรับเศรษฐกิจจีน หลังประสบปัญหาทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง อัตราว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ และการลงทุนจากต่างประเทศและการส่งออกที่ตกต่ำ ค่าเงินอ่อน อีกทั้งยังมีวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ หลังบริษัทผู้พัฒนาอสังหารายใหญ่ของประเทศทั้ง Country Garden และ Evergrande ประสบปัญหาหนี้สินขั้นรุนแรง

 

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อธิบายสถานการณ์ของจีนที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกว่า เป็นเหมือน ‘ระเบิดเวลา’ ซึ่งคาดการณ์ว่าภาวะความลำบากนี้จะขยายใหญ่มากยิ่งขึ้นอีก

 

อย่างไรก็ตาม สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ปกป้องเศรษฐกิจของประเทศว่า ยังมีความแข็งแกร่งและศักยภาพอย่างมหาศาล

 

แล้วคำตอบของใครที่ถูกต้อง? แน่นอนว่าเศรษฐกิจอาจยังไม่ระเบิดในเร็วๆ นี้ แต่ภาวะที่เกิดขึ้นถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่ฝังรากลึก และรัฐบาลจีนต้องเร่งแก้ไข

 

วิกฤตอสังหากับชาวจีนที่ยากจนลง

 

ศูนย์กลางปัญหาเศรษฐกิจของจีนคือตลาดในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยช่วงที่ผ่านมาอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 ของความมั่งคั่งทั้งหมดของจีน

 

เป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ภาคอสังหาจีนเฟื่องฟู ในขณะที่ผู้พัฒนาเผชิญกับกระแสการแปรรูปธุรกิจของรัฐเป็นเอกชน 

 

กระทั่งในปี 2020 วิกฤตได้เกิดขึ้น หลังการแพร่ระบาดของโควิดไปทั่วโลก ประกอบกับความต้องการมีบ้านของประชาชนลดลง ซึ่งไม่ใช่องค์ประกอบที่ดีสำหรับการขยายตัวของภาคอสังหา ที่ดำเนินต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง

 

ในขณะที่รัฐบาลจีนกังวลว่าจะเกิดการล่มสลายของภาคอสังหาเหมือนกับสหรัฐฯ ในปี 2008 จึงจำกัดจำนวนเงินที่ผู้พัฒนาอสังหาสามารถกู้ยืมได้ ส่งผลให้ผู้พัฒนาหลายรายกลายเป็นมีหนี้สะสมหลายพันล้านที่ไม่สามารถชำระคืนได้

 

ความต้องการบ้านและมูลค่าอสังหาที่ลดลง ยิ่งกระทบกับชาวจีนที่ซื้อบ้านไปก่อนหน้านี้และเพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดที่ยืดเยื้อกว่า 3 ปี โดยหลายรายยากจนลงและผิดหวังกับความเชื่อที่ว่า ‘การมีบ้านคือการออมหรือการลงทุน’

 

“ในประเทศจีน อสังหาริมทรัพย์คือการออมเงินของคุณอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วงที่ผ่านมามันดูดีกว่าการนำเงินของคุณไปลงทุนในตลาดหุ้นที่บ้าคลั่ง หรือบัญชีธนาคารที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ” อลิเซีย การ์เซีย-เอร์เรโร หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอเชียของบริษัทบริหารความมั่งคั่ง Natixis กล่าว

 

สิ่งที่เกิดขึ้นหมายความว่า การใช้จ่ายในจีนไม่เพิ่มขึ้นหลังผ่านพ้นยุคการแพร่ระบาดของโควิด หลายคนกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และราคาอสังหาที่ตกต่ำ จนทำให้ไม่กล้าใช้เงินและเลือกเก็บเงินสดที่มีไว้

 

“มีความคิดที่ว่า ชาวจีนจะใช้จ่ายอย่างบ้าคลั่งหลังจากไม่มีโควิด พวกเขาจะเดินทางไปปารีส หอไอเฟล แต่จริงๆ แล้วพวกเขารู้ว่าเงินออมของพวกเขาถูกกดไว้โดยราคาบ้านที่ตกต่ำ ดังนั้นพวกเขาจึงตัดสินใจที่จะเก็บเงินสดที่มีไว้” การ์เซีย-เอร์เรโร กล่าว

 

สถานการณ์นี้ไม่เพียงแต่ทำให้ครอบครัวชาวจีนรู้สึกว่ายากจนลงเท่านั้น แต่ยังทำให้ปัญหาหนี้ที่รัฐบาลจีนต้องเผชิญอยู่ย่ำแย่ลงอีกด้วย

 

ที่ผ่านมาเป็นที่คาดการณ์กันว่า มากกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ภาครัฐ จำนวนหลายพันล้านดอลลาร์มาจากการขายที่ดินให้กับบรรดานักพัฒนา ซึ่งขณะนี้กำลังเผชิญภาวะวิกฤติ

 

โดยนักเศรษฐศาสตร์บางคนมองว่า วิกฤตในภาคอสังหานี้อาจต้องใช้เวลาอีก ‘หลายปี’ กว่าจะบรรเทาลง

 

โมเดลเศรษฐกิจที่มีข้อบกพร่อง

 

วิกฤตการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาในการทำงานของโมเดลเศรษฐกิจจีน

 

การเติบโตอย่างน่าประหลาดใจของจีนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ขับเคลื่อนด้วยการ ‘ก่อสร้าง’ ทุกอย่างตั้งแต่ถนน สะพาน ทางรถไฟ ไปจนถึงโรงงาน สนามบิน และบ้านเรือน รัฐบาลท้องถิ่นจีนมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการ

 

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางคนโต้แย้งว่า แนวทางนี้เริ่มไม่ช่วยให้เศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้น หากดูจากตัวเลขต่างๆ

 

ตัวอย่างหนึ่งที่ดูแปลกประหลาดและแสดงถึงการเสพติดการก่อสร้างของจีนพบได้ในมณฑลยูนนาน บริเวณพื้นที่ใกล้ชายแดนเมียนมา โดยในปีนี้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของยูนนานยืนยันว่า จะเดินหน้าแผนสร้างศูนย์กักกันโควิดแห่งใหม่มูลค่าหลายล้านดอลลาร์

 

โดยโครงการก่อสร้างศูนย์กักกันโควิดนี้มีขึ้นในขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นเผชิญความกดดันจากภาวะหนี้สินจำนวนมาก และมีรายงานถึงขั้นว่า มีการขายที่ดินเพื่อหาทุนมาสนับสนุนโครงการก่อสร้าง

 

อันโตนิโอ ฟาตาส ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยด้านธุรกิจ INSEAD ในสิงคโปร์ ชี้ว่า โมเดลขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเก่าของจีนนั้น ‘ไม่ได้ผล’ และต้องมีการ ‘ปฏิรูปโครงสร้างและหน่วยงานต่างๆ อย่างจริงจัง’

 

เขาชี้ว่า หากจีนต้องการให้ภาคการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และแข่งขันกับสหรัฐฯ หรือยุโรปได้ รัฐบาลจีนจะต้องผ่อนคลายกฎระเบียบลงอย่างมากก่อน โดยยอมมอบอำนาจที่มีจำนวนมากให้กับภาคเอกชน

 

แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นตรงกันข้าม รัฐบาลจีนพยายามเพิ่มความเข้มงวดในภาคการเงิน ข่มขวัญนายธนาคาร ‘ชาวตะวันตก’ และปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เช่น Alibaba

 

หนทางเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบในอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาว ซึ่งผู้ที่มีการศึกษาดีหลายล้านคนทั่วประเทศกำลังดิ้นรนเพื่อหางานที่ดีทำในเขตเมือง 

 

ในเดือนกรกฎาคมตัวเลขคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 16-25 ปีที่ว่างงานมีมากถึง 21.3% ทำให้ในเดือนสิงหาคมทางการจีนประกาศจะหยุดเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว

 

ขณะที่ศาสตราจารย์ฟาตาสชี้ว่า นี่เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่า ‘เศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ที่เข้มงวด’ กำลังดิ้นรนที่จะดึงดูดผู้คนจำนวนมากมาเป็นแรงงานของประเทศ

 

โดยระบบเศรษฐกิจแบบ Top-Down หรือจากบนลงล่าง จะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีความต้องการสร้างสะพานใหม่ แต่มันจะดูยุ่งยากขึ้นเมื่อสร้างสะพานแล้วและผู้คนยังหางานอยู่

 

รัฐบาลจีนจะแก้ไขปัญหาอย่างไร?

 

การเปลี่ยนแปลงทิศทางทางเศรษฐกิจของจีนนั้น จำเป็นต้องเปลี่ยนอุดมการณ์ทางการเมือง 

 

แต่หากพิจารณาจากแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) ที่ควบคุมชีวิตประชาชนอย่างเข้มงวด และการขึ้นครองอำนาจเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ของสีจิ้นผิง ดูเหมือนการเปลี่ยนอุดมการณ์ทางการเมืองนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ โดยบรรดาผู้นำจีนจะชี้ว่า “ไม่มีความจำเป็นแม้แต่น้อย”

 

อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งจีนกำลังตกเป็นเหยื่อความสำเร็จของตนเอง โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันถือว่าค่อนข้าง ‘ช้า’ เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขที่สูงอย่างน่าตกใจของปีที่แล้ว

 

ตั้งแต่ปี 1989 จีนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยประมาณ 9.0% ต่อปี แต่ในปี 2023 คาดการณ์ว่าตัวเลขดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 4.5% ซึ่งลดลงอย่างมาก แต่ก็ยังสูงกว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และประเทศในยุโรปส่วนใหญ่มาก

 

ในขณะที่เศรษฐกิจของชาติตะวันตกมีแนวโน้มที่จะขับเคลื่อนโดยการใช้จ่ายของประชาชน แต่รัฐบาลปักกิ่งกลับระมัดระวังโมเดลเศรษฐกิจที่สนับสนุนการบริโภคนิยม โดยมองว่าเป็นความสิ้นเปลืองและฟุ่มเฟือย 

 

การให้อำนาจแก่ผู้บริโภคในการซื้อโทรทัศน์ใหม่ สมัครสมาชิกบริการสตรีมมิง หรือไปเที่ยวพักผ่อน อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ก็แทบไม่ส่งผลอะไรนักต่อความมั่นคงของจีน หรือการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ 

 

โดยพื้นฐานแล้ว การที่ประธานาธิบดีสีต้องการให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อทำให้จีนสามารถแข่งขันได้ทั่วโลกและพึ่งพาชาติอื่นน้อยลง ซึ่งคาดว่าเหตุผลนี้เป็นเบื้องหลังที่ทำให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสีเขียว 

 

แนวคิดนี้อาจอธิบายได้ถึงการที่รัฐบาลจีนมีการดำเนินการที่ค่อนข้างจำกัด ในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่กำลังประสบปัญหา

 

ซึ่งจนถึงตอนนี้รัฐบาลจีนมีการดำเนินการเพียงบางอย่างเท่านั้น เพื่อบรรเทาวิกฤตอสังหาที่เกิดขึ้น เช่น การผ่อนคลายข้อจำกัดในการกู้ยืม หรือลดอัตราดอกเบี้ยลงเล็กน้อย แต่ยังไม่มีการอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเข้าไป 

 

ขณะที่นักลงทุนต่างชาติในจีนก็มีความกังวลและต้องการให้รัฐบาลดำเนินการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว แต่ดูเหมือนบรรดาผู้นำจีนจะมองสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นเกมระยะยาว

 

โดยพวกเขายังคงเชื่อมั่นว่า จีนยังคงมีศักยภาพมหาศาลในการเติบโต และเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่สำหรับตัวเลขจริงที่สะท้อนชีวิตประชาชน เช่น รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีนั้นยังคงอยู่ที่ประมาณ 12,850 ดอลลาร์ (4.4 แสนบาท) เท่านั้น และผู้คนเกือบ 40% ยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท

 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การไม่ผูกติดกับวงจรการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก็ทำให้จีนสามารถมีมุมมองในการรับมือต่อปัญหานี้ในระยะยาว

 

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากแย้งว่า ระบบการปกครองแบบเผด็จการนั้นไม่เข้ากันกับเศรษฐกิจแบบเปิด (Open Economy) ที่ยืดหยุ่นและจำเป็นสำหรับมาตรฐานการครองชีพแบบในประเทศที่มี ‘รายได้สูง’

 

โดยโมเดลเศรษฐกิจของจีนอาจเป็นอันตราย จากการจัดลำดับความสำคัญของอุดมการณ์มากกว่าธรรมาภิบาลที่มีประสิทธิผล หรือการควบคุมลัทธิปฏิบัตินิยม

 

สำหรับคนส่วนใหญ่ โมเดลเศรษฐกิจแบบจีนนั้นจะดีก็ต่อเมื่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมดี แต่เมื่อจีนหลุดพ้นจากวิกฤตโควิดที่ยืดเยื้อมา 3 ปี โดยที่ประชาชนจำนวนมากต้องดิ้นรนหางานทำและบ้านของพวกเขายังมีมูลค่าลดลง ผลลัพธ์ที่ได้จึงต่างออกไป

 

ย้อนกลับมาที่คำกล่าวของไบเดนที่มองว่าเศรษฐกิจจีนเหมือนกับ ‘ระเบิดเวลา’ ซึ่งบ่งบอกถึงความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยที่ร้ายยิ่งกว่านั้นคือการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นอันตรายบางอย่าง เพียงเพื่อรับมือกับปัญหาความวุ่นวายดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น โดยที่ผ่านมาจีนสามารถหลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ในอดีตมาได้หลายครั้ง แต่แน่นอนว่าสถานการณ์ในตอนนี้เป็นความท้าทายที่ไม่เหมือนกับวิกฤตที่ผ่านมา 

 

“พวกเขากังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่? แน่นอนว่าพวกเขาเห็นตัวเลขแล้ว พวกเขาเข้าใจหรือไม่ว่าจำเป็นต้องทำอะไร ผมไม่แน่ใจ ผมเดาว่าพวกเขาขาดบางอย่างที่เป็นรากฐานสำหรับอนาคตของจีน” ศาสตราจารย์ฟาตาสกล่าว

 

ภาพ: Yan Xin / VCG via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising