ภาคเอกชนจังหวัดภูเก็ตเสนอนายกรัฐมนตรีขยายวีซ่าให้นักท่องเที่ยว และพิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมให้นักท่องเที่ยว 5 ประเทศกลุ่มเป้าหมายอย่าง จีน อินเดีย คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน และไต้หวัน พร้อมเสนอมาตรการสำหรับนักลงทุน ให้ขยายระยะ Retirement Visa จาก 1 ปี เป็น 3 ปี พร้อมเสนอให้ออกรูปแบบวีซ่าใหม่ที่ต้องการเดินทางเข้ามาระยะสั้น เพื่อดึงดูดบุคคลคุณภาพที่จะมาทำงานและเข้ามาใช้ชีวิตในประเทศไทย
รายงานข่าวระบุว่า หลังจาก เศรษฐา ทวีสิน ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กลุ่มภาคธุรกิจจังหวัดภูเก็ต นำโดยสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว หอการค้าจังหวัดภูเก็ต สมาคมการศึกษาเอกชน สภาอุตสาหกรรม สมาคมอสังหาริมทรัพย์ สมาคมโรงแรมภาคใต้ และสมาคมมัคคุเทศก์อันดามัน ยื่นหนังสือถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ขยายวีซ่านักท่องเที่ยวและนักลงทุน เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและการพำนักระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับมาตรการตรวจลงตราและเอกสารคนต่างด้าว
โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. มาตรการด้านวีซ่าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว
- ประเทศที่นักท่องเที่ยวที่ได้รับอนุญาตให้ขอ Visa on Arrival ที่จำเป็นต้องได้รับวีซ่าโดยขอเสนอให้ขยายระยะเวลาพำนักจาก 15 วัน เป็น 30 วัน เพื่อสามารถท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ในระยะเวลาเพิ่มขึ้น
- พิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrival และวีซ่าท่องเที่ยวที่ออกโดยสถานทูตหรือประเทศเป้าหมาย ได้แก่ จีน อินเดีย คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน และไต้หวัน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 – เดือนกันยายน 2567 โดยวันที่ 1-10 ตุลาคมของทุกปี เป็นช่วงวันหยุดยาวของประเทศจีน หากรัฐบาลสามารถดำเนินการมาตรการนี้ได้ภายในเดือนกันยายนนี้ จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนได้
- พิจารณาขยายระยะเวลานักท่องเที่ยวประเทศรัสเซียจากการทำข้อตกลง Bilateral Agreement จากเดิม 30 วัน เป็น 60 วัน เนื่องจากกลุ่มรัสเซียมาเที่ยวเป็นครอบครัวและมีแนวโน้มท่องเที่ยวนาน
- พิจารณาขยายระยะเวลาพำนักของนักท่องเที่ยวในรายชื่อประเทศที่ได้รับการยกเว้นการขอวีซ่าจากเดิม 30 วัน เป็น 60 วัน
- พิจารณาเพิ่มประเทศคีร์กีซสถานไปในกลุ่มประเทศที่ขอ Visa on Arrival เนื่องจากมีความต้องการบินเครื่องบินเช่าเหมาลำมายังประเทศไทย แต่กระบวนการพิจารณาวีซ่ายังคงต้องดำเนินการที่สถานทูตไทย
2. มาตรการด้านวีซ่าเพื่อกระตุ้นการพำนักระยะยาวและการลงทุน
สำหรับวีซ่าพำนักระยะยาว อาทิ ขยายระยะเวลา Retirement Visa จากเดิม 1 ปี เป็น 3 ปี และเพิ่มเงื่อนไขหากมีอายุเกิน 70 ปีขึ้นไป ให้เป็น 5 ปี และปรับลดเงื่อนไขของการขอ Long-Term Resident Visa (LTR) โดยปรับลดเงินลงทุนที่ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 350,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในสินทรัพย์ในประเทศไทยหรือพันธบัตรรัฐบาล รวมถึงการลดระยะเวลาในการพิจารณาของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้รวดเร็วมากขึ้น
รวมไปถึงขอให้พิจารณาออกรูปแบบวีซ่าใหม่ให้แก่ Digital Nomad ที่ต้องการเดินทางเข้ามาระยะสั้น เพื่อดึงดูดบุคคลคุณภาพที่มีหลักฐานการทำงานและเข้ามาใช้ชีวิตในประเทศไทย โดยสามารถเทียบการออกวีซ่าสำหรับกลุ่มประเทศใกล้เคียง เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
ส่วนวีซ่าสำหรับการทำงาน (Non-Immigrant B Visa) ขอให้พิจารณาลดเกณฑ์อัตราส่วน 4:1 ของจำนวนลูกจ้างคนไทยและต่างชาติ โดยพิจารณายกเว้นตำแหน่งที่ขาดแคลน ต้องใช้ทักษะด้านภาษาที่ขาดแคลนในประเทศไทยและขยายระยะเวลาการอนุญาต Work Permit เป็น 2 ปีต่อการยื่นขอ 1ครั้ง เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการ
3. มาตรการวีซ่าด้านการศึกษา (Non-ED)
พิจารณาวีซ่าประเภท Non-O ให้ผู้ปกครองของนักเรียนนักศึกษาที่กำลังศึกษาในโรงเรียนเอกชนในระบบทั้งประเภทสามัญและนานาชาติในประเทศไทย เพิ่มจากครอบครัวละ 1 คน เป็นครอบครัวละ 2 คน และขอให้พิจารณาวีซ่าประเภท Non-ED ให้กับนักเรียนเข้ามาศึกษาในด้านกีฬาหรือโรงเรียนเอกชนนอกระบบ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ รวมถึงหลักสูตรแพทย์แผนไทย สปา หรือโรงเรียนสอนกีฬากอล์ฟ จากปัจจุบันขอได้เพียงมวยไทย
4. มาตรการการเชื่อมโยงเส้นทางบินตรงจากต่างประเทศสู่ภูมิภาค
ประสานงานให้การบินไทยบินตรงจากประเทศเป้าหมาย โดยเสนอให้ช่วงไตรมาสที่ 1 และ 4 ของทุกปี ดังนี้ มอสโก ลอนดอน ปารีส และซูริก ส่วนช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของทุกปี คือเมืองริยาด ขณะที่เส้นทางบินตรงทั้งปี ได้แก่ ซิดนีย์ เซี่ยงไฮ้ นิวเดลี และมุมไบ
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยสร้างเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจ แต่ข้อจำกัดการขอวีซ่าในบางประเทศมีความซับซ้อนและเข้มงวด ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต่ำกว่าเป้าหมาย และส่งผลต่อเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก
ดังนั้นภาคเอกชนจังหวัดภูเก็ตจึงขอให้รัฐบาลพิจารณาเพื่อเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมาตรการข้างต้นไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณราชการ