วันนี้ (28 สิงหาคม) วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการเตรียมข้อซักถามนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาว่า เมื่อพร้อมจะแจ้งวิป 3 ฝ่ายในการอภิปราย หากอภิปรายในวันที่ 8 กันยายนนี้ ก็คิดว่าคงพร้อม ส่วนจะอภิปรายกี่วันต้องดูจากการอภิปรายในอดีตและรับฟังวิปแต่ละฝ่าย ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่าต้องการเวลาเท่าไร รวมทั้งฝ่ายรัฐบาลก็ต้องใช้เวลาพอสมควรในการชี้แจง
สำหรับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน หลังพรรคก้าวไกลยืนยันว่าจะไม่ลาออกจากรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ตามปกติรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรระบุชัดว่า พรรคที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลและไม่มีตำแหน่งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร หัวหน้าพรรคที่มีจำนวน สส. มากที่สุดจะเป็นผู้นำฝ่ายค้าน โดยสภาจะทูลเกล้าฯ รายชื่อ แต่เมื่อพรรคก้าวไกลประสงค์จะดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ก็ต้องแจ้งเพื่อสละสิทธิ์ให้พรรคฝ่ายค้านลำดับรองลงไป เพราะจำเป็นต้องมีผู้นำฝ่ายค้านเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในสภา และคัดเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องมีผู้นำฝ่ายค้านในคณะกรรมการสรรหา รวมทั้งกรรมการจริยธรรมในสภาผู้แทนราษฎรด้วย
วันมูหะมัดนอร์ระบุว่า ไม่มีกรอบเวลาในการทูลเกล้าฯ ชื่อผู้นำฝ่ายค้าน ขึ้นอยู่กับความพร้อม แต่ขณะนี้มีรัฐบาลแล้วก็ต้องมีผู้นำฝ่ายค้าน เพราะมีภารกิจที่จะต้องดำเนินการ พร้อมย้ำว่าผู้ที่จะเป็นผู้นำฝ่ายค้านจะต้องเป็นหัวหน้าพรรคเท่านั้น และต้องเป็น สส. ในสภา แต่ถ้าหัวหน้าพรรคไม่ได้เป็น สส. ก็ต้องเปลี่ยน ซึ่งเชื่อว่าพรรคการเมืองจะจัดการเรื่องนี้ได้ เหมือนกรณีของพรรคเพื่อไทยที่มีการเปลี่ยนผู้นำพรรค ก็ต้องเปลี่ยนผู้นำฝ่ายค้าน
ส่วนเรื่องการจัดสรรตำแหน่งในกรรมาธิการสามัญของสภา ประธานสภากล่าวว่า ตนได้หารือกับ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ไว้บ้างแล้ว และคงต้องนัดคุยกันในสัปดาห์นี้ ซึ่งไม่ยาก เพราะทุกพรรคสามารถจัดสรรหากรรมาธิการตามสัดส่วน สส. แต่ที่ต้องคุยคือพรรคใดจะเป็นประธานกรรมาธิการตามสัดส่วน น่าจะใช้เวลา 2-3 วัน อยากให้แล้วเสร็จ เพื่อให้กรรมาธิการไปแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มีมากขึ้นทุกวัน ส่วนกรรมาธิการวิสามัญจะตั้งตามวาระที่เสนอตามปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น