สื่อญี่ปุ่นเกาะติด 5 ประเด็นน่ารู้ เชิงเศรษฐกิจที่กำลังท้าทาย ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย ชี้ข้อแรกที่ประชาชนตั้งความหวังกับผู้นำคนใหม่ คือนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามสัญญา
สำนักข่าว Nikkei รายงานว่า หลังจาก เศรษฐา ทวีสิน มหาเศรษฐีด้านอสังหาริมทรัพย์วัย 61 ปี ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย คนที่ 30 อย่างเป็นทางการ และได้กล่าวในสุนทรพจน์ว่า 4 ปีต่อจากนี้จะเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง
ดังนั้น สิ่งที่เขาจะต้องเผชิญหลังจากนี้คือความท้าทายทุกมิติ ตั้งแต่ปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของไทยไปจนถึงเสถียรภาพการเมืองภายในประเทศ
โดยสรุป 5 ข้อ ดังนี้
1. การจัดตั้งรัฐบาลและจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง
หลังจากเศรษฐาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี การจัดตั้งรัฐบาลก็ยังอยู่ระหว่างหารือและจัดสรรรายชื่อรัฐมนตรี ประเด็นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความท้าทายในการเจรจาระหว่างพรรคเพื่อไทยและพันธมิตร โดยหากดูจากโผ พรรคเพื่อไทยช่วงชิงเก้าอี้รัฐมนตรีถึง 8 ตำแหน่ง แต่รายละเอียดว่าฝ่ายไหนจะช่วงชิงกระทรวงใดยังไม่มีสรุป
2. จับตานโยบายเศรษฐกิจสำคัญของรัฐบาล
แน่นอนว่านโยบายสำคัญของเศรษฐาที่ดึงดูดความสนใจจากประชาชนเรื่องแรกหลังจากที่เขาได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี คือนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท สำหรับผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ นำไปใช้จับจ่ายในร้านค้าเล็กๆ ในรัศมี 4 กิโลเมตร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และกระตุ้นการใช้จ่ายภาคเอกชน
ขณะเดียวกัน หนึ่งในสิ่งที่นักธุรกิจกังวลคือการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ที่มากกว่า 2 เท่าจากปัจจุบันที่ 300 บาท นโยบายนี้จะเป็นภาระต่อต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมหลัก รวมถึงอาจลดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยและในเวทีการค้าโลก
3. ความท้าทายรัฐบาลใหม่
ความท้าทายสำคัญที่รอรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไขคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา โดยเฉพาะการชะลอตัวของจีน ซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์และการส่งออกของไทยลดลง
นอกจากนี้ทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชนต่างรอรัฐบาลใหม่เข้ามาดูแลเกี่ยวกับต้นทุนพลังงานโดยเฉพาะราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูงซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ เนื่องจากภาคพลังงานเป็นต้นทุนค่าครองชีพ อุตสาหกรรม ตั้งแต่ไฟฟ้า ภาคการผลิต ผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงโลจิสติกส์
รวมถึงการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองภายในก็เป็นประเด็นท้าทายที่พรรคเพื่อไทยและแนวร่วมจำนวน 11 พรรคต้องเจรจาร่วมกับ 2 พรรคสนับสนุนทหาร ซึ่งก่อนหน้านี้ขัดแย้งกับพรรคเพื่อไทย ดังนั้นการสร้างสมดุลระหว่างฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยและฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะเป็นเรื่องท้าทายสำหรับรัฐบาลใหม่
4. การเปลี่ยนแปลงผู้นำย่อมสำคัญต่อนานาประเทศ
ตลอดช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม การเลือกตั้งของไทยเป็นที่จับตามองของนานาชาติ สำหรับประเทศไทยและเพื่อนบ้านมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น เป็นพันธมิตรในอาเซียนมานานหลายปีในทุกด้าน ตั้งแต่การค้าและการลงทุนไปจนถึงด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น สมาชิกอาเซียนและชาติพันธมิตรอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังจับตาดูว่าการเข้ามาของรัฐบาลใหม่ของไทยจะมีนโยบายอะไรเกิดขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อความร่วมมือและการเจรจาด้านการค้าและการลงทุนในปัจจุบันอย่างไร
โดยมี 2 ประเด็นสำคัญที่ชวนจับตาคือ นโยบายการทูตของไทยต่อเมียนมา และการเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชาเพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนแหล่งก๊าซธรรมชาติ
5. ภาคธุรกิจคาดหวังอะไร
สำหรับเสียงสะท้อนต่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากภาคธุรกิจนั้นต่างได้รับการตอบรับอย่างดี หลังจากรอคอยมานาน เนื่องจากมีประเด็นทางเศรษฐกิจหลายข้อที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่จำเป็นต้องแก้ไขทันที เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมา
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าภาคธุรกิจมีความยินดีอย่างมาก ที่ในที่สุดประเทศไทยก็ได้ผู้นำคนใหม่ เชื่อว่าเศรษฐามีความเชี่ยวชาญและมีความรู้ในประเด็นทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยประเทศแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ดี
“เราหวังว่ารัฐบาลใหม่จะเร่งแก้ไขปัญหาสำคัญๆ เช่น การส่งออกที่ลดลง ต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น วิกฤตสภาพคล่องของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และหนี้ครัวเรือนโดยเร็ว”
อ้างอิง: