วันนี้ (26 สิงหาคม) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีผลโพลของศูนย์สำรวจความคิดเห็นมหาวิทยาลัยศรีปทุมที่ทำร่วมกับดีโหวต เกี่ยวกับคะแนนนิยมหลังตั้งรัฐบาล-นายกฯ ซึ่งพบว่าหากมีการเลือกตั้งใหม่จะเลือกพรรคก้าวไกลถึง 62% และคะแนนของพรรคเพื่อไทยก็ไหลมาอยู่พรรคก้าวไกลนั้น
พิธาระบุว่า สำหรับตนเองความรู้สึกก็ยังรู้สึกคงเส้นคงวาเกี่ยวกับการอ่านโพล ทั้งก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง และสิ่งที่จะสะท้อนได้คงจะต้องอ้างอิงสื่อมวลชนที่แสดงให้เห็นว่า ประชาชนทุกรุ่นทุกวัยสนใจการเมืองเป็นพิเศษ ทั้งนี้ จึงต้องใช้ผลโพลเป็นกำลังที่จะเดินหน้าทำงานทางการเมืองต่อไป และปรับปรุงในสิ่งที่ยังทำได้ไม่ดีพอ
เมื่อถามถึงโผคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ค่อนข้างชัดเจนว่า อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย มองอย่างไรนั้น พิธาระบุว่า ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรี สิ่งที่สำคัญคือการกระจายอำนาจ เป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลผลักดันมาโดยตลอด และไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยก็หวังว่าจะเน้นทำงานในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการกระจายงบประมาณ บุคลากร ภารกิจ และโอกาสในการเก็บภาษี เพื่อให้การบริหารแผ่นดินเป็นไปด้วยความฉับไว เพราะก่อนหน้านี้มีบทเรียนมาหลายช่วง ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม และโควิด จึงคิดว่าเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยและคนที่จะมารับตำแหน่งนี้
ส่วนจะกระจายอำนาจได้จริงหรือไม่นั้น พิธามองว่า คงต้องให้เวลารัฐบาลในการทำงานก่อน เพราะตอนนี้ยังเป็นแค่โผ ครม. ไม่ทราบว่าใครเป็นรัฐมนตรีกันแน่ แต่เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ หากให้มีการกระจุกตัวของอำนาจอยู่แค่เมืองไม่กี่เมืองก็จะทำให้ประเทศไทยไปต่อไม่ได้
เมื่อถามว่า อยากให้พรรคเพื่อไทยตั้งโรดแมปในการทำงานให้กับประชาชนอย่างไร พิธาระบุว่า ในช่วงวิกฤติ ไม่ว่าพรรคอะไรก็คงต้องมีโรดแมปที่จะประกาศกับประชาชนอย่างชัดเจน เพื่อให้เห็นว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมและมีความคาดหวังได้อย่างไรบ้าง ซึ่งพรรคก้าวไกลในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการผลักดันกฎหมายสำคัญเข้าสู่สภา ซึ่งเป็นสิ่งที่สัญญากับประชาชนไว้ ส่วนเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายสุราก้าวหน้าและสมรสเท่าเทียมจะมีการผลักดันต่อไป แต่ถ้า ครม. บรรจุไม่ทัน 60 วันก็ต้องเริ่มต้นกันใหม่
ส่วน 3 เดือนแรกมองว่าพรรคเพื่อไทยควรแก้ไขปัญหาเรื่องไหนเป็นอันดับแรกนั้น พิธาระบุว่า ต้องทำตามที่ให้สัญญากับประชาชนเอาไว้ มีหลายอย่างที่รอรัฐบาลใหม่อยู่ เช่น วิกฤตที่ดินที่สะสมมานาน เรื่องหนี้สิน เรื่องการเพิ่มมูลค่าการเกษตร คล้ายกับกระดุม 5 เม็ดที่เคยอภิปรายไป โดยเฉพาะเรื่องสิทธิการทำกิน และการดูแลสถานะเกษตรกร